รีเซต

ตร.แจง กมธ.สิทธิฯส.ว.ยอมรับใช้แก๊สน้ำตาสลายชุมนุมที่ปทุมวัน ยันเป็นไปตามหลักสากล

ตร.แจง กมธ.สิทธิฯส.ว.ยอมรับใช้แก๊สน้ำตาสลายชุมนุมที่ปทุมวัน ยันเป็นไปตามหลักสากล
มติชน
9 พฤศจิกายน 2563 ( 12:32 )
92
ตร.แจง กมธ.สิทธิฯส.ว.ยอมรับใช้แก๊สน้ำตาสลายชุมนุมที่ปทุมวัน ยันเป็นไปตามหลักสากล

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง ในประเด็นกระบวนการและขั้นตอนการควบคุมฝูงชน การออกหมายเรียกและหมายจับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เข้าชี้แจง

 

โดยพ.ต.ต.อนันต์ จันทร์ศรี สารวัตรฝ่ายอำนวยการ 3 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ชี้แจงถึงมาตรการดูแลผู้ชุมนุมว่าปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)แผนรักษาความสงบชุมนุมสาธารณะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2563 และกฎหมายจราจรที่เกี่ยวข้อง

 

ด้านพล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย รองผบช.น. ชี้แจงถึงการดำเนินการออกหมายเรียกและหมายจับแกนนำผู้ชุมนุม ว่า เมื่อมีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย สืบเนื่องจากการชุมนุม ทาง บช.น.จะแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนขึ้นมาเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่จะแสวงหาได้ ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว คำปราศรัยของแกนนำ จากนั้นจะร่วมกันพิจารณา หากเข้าหลักเกณฑ์ความผิด จะยื่นคำร้องต่อศาลขอออกหมายจับ โดยให้ศาลพิจารณาจากพยานหลักฐานดังกล่าวว่าเพียงพอจะออกหมายจับ หรือให้ตำรวจออกหมายเรียกก่อน

 

 

ขณะที่ พ.ต.ท.ชวลิต หรุ่นศิริ รองผู้กำกับการ กองกำกับการควบคุมฝูงชน 2 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ชี้แจงถึงกรณีที่กมธ.ฯ ได้ซักถาม ถึงการใช้น้ำสลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยยอมรับว่าตำรวจฉีดน้ำแรงดันสูงที่มีส่วนผสมของสารเคมี 2 ชนิด คือ สารเคมีสีฟ้า หรือสารเมทิลไวโอเลตทูบี ชนิดเดียวกับยาม่วงป้ายปาก โดยมีเอกสารยืนยันความปลอดภัยของสารดังกล่าว ทั้งนี้ มีการใช้อัตราส่วนผสม น้ำ 97% สาร 3% ส่วนสารชนิดที่ 2 คือ แก๊สน้ำตา ใช้เพียงครั้งเดียวเพื่อยุติการชุมนุม โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุม เนื่องจากเป็นการผสมสารอย่างเจือจาง

 

พ.ต.ท.ชวลิต ชี้แจงต่อว่า ส่วนสาเหตุที่ใช้น้ำสลายการชุมนุม เนื่องจากผู้ชุมนุมเข้าใกล้สถานที่สำคัญ ระยะ 150 เมตร ซึ่งการฉีดน้ำแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงแรก ฉีดน้ำเปล่าไปด้านบนและกดต่ำลงพื้นถนน ก่อนประกาศว่าจะใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง เมื่อผู้ชุมนุมยังฝ่าฝืน เริ่มก่อความรุนแรง ในช่วงที่ 2 จึงใช้น้ำสีฟ้า เพื่อระบุตัวบุคคลผู้กระทำผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสุดท้ายเมื่อสถานการณ์ไม่ยุติจึงใช้แก๊สน้ำตา สลายการชุมนุม ทั้งนี้ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยใช้หลักสากล ตามกฎหมาย และเป็นไปตามสถานการณ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง