วัดใจส.ว.! ไฟเขียวแก้กม.ลูกฉบับสนช. วิษณุ มั่นใจเสร็จตามไทม์ไลน์ ก.ค.นี้
ข่าววันนี้ 21 ม.ค.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมครม. เลื่อนจากวันองคารที่ 25 ม.ค.มาเป็นวันจันทร์ที่ 24 ม.ค.ว่า คาดว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะส่งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เข้าที่ประชุม ครม.ในวันดังกล่าว และเมื่อส่งสภาแล้ว จะเป็นการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณา
โดยตนได้ประสานกับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว และนายชวน รับปากว่าจะรีบบรรจุวาระนี้ในการประชุมร่วมรัฐสภา เพราะจะมี 3 ร่าง คือร่างของรัฐบาล ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล และของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่จะพิจารณาในคราวเดียวกันทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งเนื้อหาของแต่ละฉบับก็ไม่ตรงกัน และสิ่งที่จะทำให้เรื่องนี้ล่าช้าคือ การนัดหมายประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งตนคิดว่าการพิจารณาวาระที่ 1 น่าจะพิจารณาวันเดียว
ผู้สื่อข่าวถามว่านายกฯได้ปรึกษาอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยกับนายกฯ และยังไม่ได้มาหารือเรื่องกฎหมายลูก ทั้งนี้ ตนจะรายงานให้ครม.รับทราบ
เมื่อถามว่าการประชุมครม.ในวันที่24 ม.ค. จะกลับมาเป็นแบบองค์ประชุมเต็มคณะ แสดงว่ารัฐบาลหมดความกังวลโควิด-19 แล้วหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่ไม่กังวล แต่เคยหารือเมื่อประชุมครั้งที่แล้วว่า การประชุมครม. ครั้งต่อไปน่าจะกลับมาสู่รูปแบบปกติได้ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ก็ถามอยู่หลายครั้ง ว่าเมื่อไรจะให้กลับมาประชุมที่ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 โดยนายกฯ บอกว่าเอาทีละขั้นตอน ให้กลับมาประชุมที่ตึกสันติไมตรีก่อน
เมื่อถามว่าไทม์ไลน์การออกกฎหมายลูก ตอนนี้ยังเป็นไปตามเดิมที่จะเสร็จสิ้นในช่วงเดือนก.ค.นี้ ตามที่เคยระบุไว้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า วางเวลาไว้เต็มที่แบบนั้น แต่ถ้าทำได้เร็วกว่านั้นได้เป็นเรื่องดี
เมื่อถามย้ำว่าในสถานการณ์ตอนนี้จำเป็นต้องเร่งทำกฎหมายให้เร็วขึ้นหรือไม่ นาวิษณุ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าใครจะยอมใครหรือไม่ ตนเคยบอกแล้วว่ากฎหมายลูก 2 ฉบับ มี 3 แบบ เนื้อหาไม่เหมือนกัน ที่สำคัญคือกกต. จะยอมให้ไปแก้ร่างกฎหมายของเขาหรือไม่ ถ้าไม่ยอมก็ต้องส่งกันไปมา และจะมีขั้นตอนอีกยาว นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนหลังจากทำร่างกฎหมายเสร็จแล้ว ต้องขึ้นทูลเกล้าฯจะกรอบเวลาอีก 90 วัน ซึ่งเราไม่สามารถไปคาดเดาตรงนี้ได้ จึงให้นับให้เต็ม 90 วัน คือไปถึงเดือนก.ค.
ทั้งนี้ เรื่องการพิจารณาดังกล่าวยังเกี่ยวไปถึงวุฒิสภา เพราะต้องมาร่วมลงมติในการประชุมร่วมรัฐสภา จึงมีสิ่งที่เป็นห่วงกันอยู่คือ กฎหมายลูกฉบับเก่า ที่เคยผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสนช.เวลานั้นมาเป็นส.ว. ตอนนี้ จึงอาจจะยังหวงของเดิม ไม่อยากให้ไปแก้ตรงนั้นก็ได้ แต่ต้องอยู่ที่มติของรัฐสภา