รีเซต

เทียบกองทุน SSF และ RMF ต่างกันอย่างไร ลดหย่อนภาษีเลือกแบบไหนคุ้มกว่า?

เทียบกองทุน SSF และ RMF ต่างกันอย่างไร ลดหย่อนภาษีเลือกแบบไหนคุ้มกว่า?
TNN ช่อง16
25 พฤศจิกายน 2564 ( 12:18 )
256

เข้าใกล้เดือนสุดท้ายของปี 2564 แล้ว หลายคนอาจจะยังกำลังมองค่าใช้จ่ายที่จะนำมาลดหย่อนภาษี ซึ่งหนึ่งในตัวเลือกที่นิยมก็คือ การซื้อกองทุน หรือการลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างๆ ได้แก่ กองทุน SSF และ RMF แต่อาจจะยังเลือกไม่ถูกว่าจะลงทุนกองทุนไหนดี  แล้วแต่ละกองทุนนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร กองทุนไหนเหมาะกับใคร เพราะทั้งสองกองทุนใช้วงเงินลดหย่อนภาษีเดียวกัน คือ รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท 

รู้จักกองทุน SSF  คืออะไร

กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว พิเศษกว่ากองทุนรวมทั่วไปตรงที่รัฐบาลอนุญาตให้สามารถนำจำนวนเงินที่ซื้อกองทุน SSF มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป โดยจะลดหย่อนแบบปีต่อปี ซื้อปีไหน ก็ลดหย่อนปีนั้น ในช่วงระยะเวลาปี 2563-2567 

โดยเงินในกองทุนนั้นจะนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม ฯลฯ ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่า LTF ที่กำหนดให้ลงทุนในหุ้นสามัญภายในประเทศไทย

ข้อแตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไปของ กองทุน SSF 

1. เงินลงทุนนำมาลดหย่อนภาษีได้

2. ไม่สามารถโอน จำนำ หรือนำหน่วยลงทุนไปเป็นหลักประกันได้

3. มีนโยบาย ทั้งจ่ายปันผลและไม่จ่ายปันผล

เงื่อนไขในการลงทุน กองทุน SSF  

  • ไม่มีจำนวนเงินขั้นต่ำในการซื้อ 
  • ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และต้องไม่เกิน 200,000 บาท 
  • เมื่อรวม RMF + SSF + PVD + กบข. + กอช. + ประกันบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ (นับแบบวันชนวัน)
  • ปีที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ได้เป็นระยะเวลา 5 ปี (ปี 2563 - 2567)

กองทุน SSF มีข้อแตกต่างจาก RMF อย่างไร?

1. SSF  ถือหน่วยลงทุน 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ  โดยที่ RMF ถือหน่วยจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และถือหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงจะขายได้

2. SSF ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ส่วน RMF  ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรือปีเว้นปี  ไม่ระงับการซื้อเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน

3. SSF  ลงทุนสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้  แต่ไม่เกิน 200,000 บาท  ส่วน RMF ลงทุนสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้  แต่ไม่เกิน 500,000 บาท  เมื่อรวมกับกองทุน SSF , PVD,  กบข., เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ,กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายของ รร.เอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ

เทียบกองทุน SSF และ RMF ต่างกันอย่างไร

เงื่อนไขการลงทุน 
กองทุน SSF
กองทุน RMF
วงเงินที่ได้รับสิทธิลดหย่อน ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี ไม่เกิน 200,000 บาท
ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท 
 ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท 
เงื่อนไขวงเงินลดหย่อนรวมกับ RMF,SSF,PVD,กบข.,ประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วไม่เกิน 500,000 บาท
ระยะเวลาถือครองถือไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันซื้อ 5 ปี นับจากวันซื้อ  อายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี ณ วันขาย
ปีที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ซื้อระหว่างปี 2563-2567 (หักภาษีได้ปีต่อปี)ลงทุนได้เรื่อยๆ ไม่มีกำหนดในการสิ้นสุดการลงทุน
จำนวนซื้อขั้นต่ำ/สูงสุดไม่มีขั้นต่ำ/ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ไม่มีขั้นต่ำ/เริ่มแล้วต้องซื้อต่อเนื่อง อย่างน้อยปีเว้นปี
หลักทรัพย์ที่ลงทุนลงทุนในหลักทรัพย์ ได้ทุกประเภท

ที่มา:scb,finnomena


กองทุน SSF มีอะไรที่คล้ายกับ กองทุน RMF บ้าง? 

1. ลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท

2. หากลงทุนครบตามเงื่อนไข จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

3. ไม่สามารถโอน จำนำ หรือนำหน่วยลงทุนไปเป็นหลักประกันได้

4. ใช้วงเงินลดหน่อยรวมเดียวกัน คือ ไม่เกิน 500,000 บาท  

กองทุน SSF เหมาะกับใคร?

เหมาะกับผู้เริ่มต้นวัยทำงานเพื่อเป็นแรงจูงใจในการออมเงินระยะยาว  โดยเงินที่ผู้ลงทุนจ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน SSF จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

รู้จักกองทุน RMF คืออะไร?

RMF ย่อมาจาก Retirement Mutual Fund หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้คนไทยเก็บออมระยะยาวเพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณอายุ คล้ายๆ กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ของเอกชน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ของข้าราชการ ซึ่งมีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภทเหมือนกองทุนรวมทั่วไป   ตั้งแต่กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ เน้นลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร  กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงปานกลาง ที่อาจผสมผสานระหว่างการลงทุนในตราสารหนี้ และตราสารทุน กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูง เน้นลงทุนในตราสารทุน

โดย RMF หลักเกณฑ์ใหม่นั้น มีการปรับสัดส่วนในการลดหย่อนภาษีเพิ่ม จากเดิมที่ 15% เป็นไม่เกิน 30% ของเงินได้ และไม่เกิน 500,000 บาท และนับรวมกองทุนอื่น ๆในวงเงินด้วย (เช่น กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) และยกเลิกกำหนดจำนวนขั้นตํ่าในการลงทุนจากเดิม 5,000 บาท เป็นเท่าไรก็ได้ โดยไม่ระงับการซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกันเช่นเดิม

กองทุน RMF มีข้อแตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไปอย่างไร?

1. เงินลงทุนนำมาลดหย่อนภาษีได้ หากมีการลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขที่ทางการกำหนด

2. หากลงทุนไม่ถึง 5 ปี กำไรที่ได้รับจากการลงทุน (capital gain) ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

3. ไม่สามารถโอน จำนำ หรือนำหน่วยลงทุนไปเป็นหลักประกันได้

4.ไม่มีการจ่ายเงินปันผล

เงื่อนไขในการลงทุน กองทุน RMF มีอะไรบ้าง?

  • ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ
  • ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และต้องไม่เกิน 500,000 บาท (รวม PVD,  กบข., เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ,กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายของ รร.เอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ, กองทุน SSF
  • ลงทุนต่อเนื่องทุกปี หรือปี เว้นปี  จนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  • ระยะเวลาการถือครอง ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก และถือจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์

สิทธิประโยชน์ทางภาษี RMF มีอะไรบ้าง

หากปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีถึง 2 ทาง คือ อย่างแรก เงินซื้อหน่วยลงทุนใน RMF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามที่จ่ายจริงสูงสุด 30% ของเงินได้ในแต่ละปี โดยเมื่อนับรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท  และ ต้องถือหน่วยลงทุนจนครบอายุ 55 ปีบริบูรณ์และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

และอย่างที่สอง คือ กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้  หากลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

ข้อควรระวังจากการลงทุน RMF

1.  ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า  1 ปีติดต่อกัน  ทั้งที่ยังคงมีเงินได้  หรือ

2. จำนวนเงินลงทุนไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้  หรือ

3. ขายคืนหน่วยลงทุนก่อนที่ผู้ลงทุนจะอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

โดยหากเป็นไปตามข้อหนึ่งข้อใด  ก็ถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน  ยกเว้น ว่า เป็นกรณีที่ผู้ลงทุนเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ  จะไม่ถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน

แต่หากเผลอทำผิดเงื่อนในการลงทุน RMF ผู้ลงทุนต้องทำอย่างไรดี?

  • กรณีที่ลงทุนไม่ถึง 5 ปี    ต้องคืนเงินภาษีทั้งหมดทุกปี  ที่ได้รับยกเว้นไป  และเมื่อขายคืนหน่วยลงทุน  ต้องนำกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain)  ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้  ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อผู้ลงทุนขายคืน  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ของกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนไว้ก่อน  และเมื่อผู้ลงทุนไปยื่นแบบเสียภาษีเงินได้  ก็จะคำนวณอีกครั้งว่าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกหรือไม่ อย่างไร
  • กรณีที่ลงทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และมีการผิดเงื่อนไข  จะต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นไปในช่วง  5 ปีย้อนหลัง

**การชำระภาษีตามข้อ 1 และ 2  ต้องชำระภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไข

กองทุน RMF เหมาะกับใคร?

1.   เหมาะสำหรับคนทุกที่ต้องการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ ซึ่งไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณมา

2. ลูกจ้าง พนักงานหรือข้าราชการ ที่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณอยู่แล้ว แต่ต้องการจะออมเพิ่มเติมให้มากขึ้น

3. ลูกจ้างหรือพนักงาน ที่นายจ้างและลูกจ้างยังไม่พร้อมใจที่จะจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถสะสมเงินลงทุนเพื่อวัยเกษียณได้


อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเลือกกองทุนไหน สิ่งสำคัญคือพิจารณาถึงเป้าหมายหรือความต้องการจริงๆของเราก่อน  ถ้าต้องการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ RMF ก็จะตอบโจทย์ แต่ถ้าเน้นที่การออมระยะยาว ประมาณ 10 ปี SSF ก็จะตอบโจทย์มากกว่า รวมถึงพิจารณาถึงอายุประกอบกับระยะเวลาในการลงทุนด้วย ตลอดจนความเสี่ยงและนโยบายการลงทุนของกองทุน หรือความยากง่ายในการหาข้อมูลในการลงทุน ทางที่ดีควรปรึกษากับผู้จัดการกองทุนกองทุนที่เราสนใจก่อนก็ได้  เพราะในเบื้องต้นจะมีแบบประเมินให้ได้ทดสอบเพื่อดูว่าเราเหมาะกับกองทุนแบบไหน ที่สำคัญคือพิจารณา ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบและละเอียดที่สุด เพราะการลงทุนมีความเสี่ยงทั้งนั้น....


ข้อมูล : www.scb.co.th/th/personal-banking, https://support.finnomena.com/

ภาพประกอบ : AFP 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง