รีเซต

'สธ.' ยันสถานการณ์โควิดไทยระดับเขียว ชง ศบค.ผ่อนคลาย ลุ้น! นั่งดริงก์ยาว ปลดล็อกบาง จว.

'สธ.' ยันสถานการณ์โควิดไทยระดับเขียว ชง ศบค.ผ่อนคลาย ลุ้น! นั่งดริงก์ยาว ปลดล็อกบาง จว.
มติชน
19 มกราคม 2565 ( 12:55 )
36
'สธ.' ยันสถานการณ์โควิดไทยระดับเขียว ชง ศบค.ผ่อนคลาย ลุ้น! นั่งดริงก์ยาว ปลดล็อกบาง จว.

เมื่อวันที่ 19 มกราคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่และสถานการณ์ภาพรวมเริ่มคงที่ ตามที่ได้เคยบอกไปว่าทิศทางการระบาดตาม 3 ฉากทัศน์เส้นสีเทา สีส้ม และสีเขียว ช่วงก่อนหน้านี้ได้ลงมาแตะที่สีส้ม แล้วตอนนี้เริ่มจะเข้าไปหาเส้นสีเขียวแล้ว เกิดขึ้นจากทุกคนร่วมมือกันดี ทำให้ควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งสอดคล้องกับที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้ให้นโยบายไว้ว่า จะต้องเริ่มผ่อนคลายให้ประชาชนดำเนินชีวิตได้ปกติ

ผู้สื่อข่าวถามว่าในพื้นที่ที่ไม่มีการระบาดแต่ถูกจำกัดไม่ให้ดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ขณะที่พื้นที่สีฟ้าที่เป็นจุดระบาด กลับผ่อนปรนให้ดื่มได้ถึงเวลา 21.00 น. จะมีการชงมาตรการดังกล่าวเพิ่มเติมอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า โดยวันพรุ่งนี้ (20 ม.ค.) จะมีการประชุม ศบค. ทาง สธ.ก็จะเสนอการปรับสีของพื้นที่ รวมถึงมาตรการต่างๆ ซึ่งจะมีการผ่อนคลายมากขึ้น ไปจนถึงมาตรการเข้าประเทศผ่านระบบ Test and go เพราะเราถือว่าคุมสถานการณ์ได้ค่อนข้างดี การติดเชื้อควบคุมได้ การเสียชีวิตในระดับต่ำ และการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ตามเป้า

เมื่อถึงกรณี ที่มีการเรียกให้ยกเลิกตรวจ ATK และสวมหน้ากากอนามัย นพ.โอภาส กล่าวว่า คำแนะนำจากทั่วโลกไปในแนวทางเดียวกันว่าให้คัดกรองด้วย ATK มากขึ้น สวมหน้ากากอนามัยให้มากขึ้น เป็นสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ทำอยู่แล้ว โดยเห็นชัดว่า 2 ปีที่ผ่านมา การสวมหน้ากากอนามัยช่วยลดตัวเลขผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ได้มาก ซึ่งไม่ต้องพิสูจน์หรือพูดอะไรซ้ำ ส่วนการตรวจ ATK เป็นมาตรการเฝ้าระวังในผู้ที่สงสัยอาการตนเอง หรือผู้ที่ต้องเจอคนหมู่มาก ดังนั้น มีเครื่องมือคัดกรองด้วยตัวเองง่ายๆ ก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์

“ย้ำว่าเราไม่เคยบังคับให้ตรวจ ATK แต่เป็นคำแนะนำเพื่อใช้คัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง โดยสถานประกอบการต่างๆ ก็มีมาตรการเพื่อสร้างความปลอดภัย สธ.ไม่เคยบังคับให้นักเรียนตรวจ ATK เป็นประจำ ยกเว้นในการสัมผัสกลุ่มเสี่ยง มีความเสี่ยงก็ต้องตรวจ ส่วนการตรวจด้วยน้ำลาย เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้” นพ.โอภาส กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง