รีเซต

ดันตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ กว่า 300 ตำรับ ใช้รักษาในสถานพยาบาล

ดันตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ กว่า 300 ตำรับ ใช้รักษาในสถานพยาบาล
TNN ช่อง16
7 พฤศจิกายน 2567 ( 14:40 )
19

นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วยเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าบริหารจัดการ รวบรวม ปริวรรต ถ่ายถอด สังคายนา ใช้ตำรับยาแผนไทยในอดีตมาใช้ในทางการแพทย์ การสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในส่วนตำราการแพทย์แผนไทยและตำรับยาแผนไทย ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 36 ฉบับ ประกอบด้วย ตำราการแพทย์แผนไทย จำนวน 850 รายการ 536 แผ่นศิลา ตำรับยาแผนไทย 54,979 ตำรับ และ นำเข้าระบบฐานข้อมูลภูมิปัญญาอิเล็กทรอนิกส์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร Herbal Medicinal Products Information System : HMPIS 38,776 ตำรับ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย อาทิ ตํารับยาแผนไทยในตําราการแพทย์แผนไทยที่จารึกบนศิลาจารึกในวัดทั่วประเทศ เอกสารโบราณในหอสมุดแห่งชาติ ตำรับ ตำราเฉพาะบุคคล ชุมชน   วงศ์ตระกูล ราชสกุล และ สถาบันการศึกษา ปัจจุบัน มีการคัดเลือกและกลั่นกรองตำรับยาแผนไทย จากตำราการแพทย์แผนไทยของชาติและตำรับยาแผนไทยของชาติ หมอพื้นบ้าน และบัญชียาหลักแห่งชาติ มีมติเห็นชอบตำรับยาแผนไทย 16 กลุ่มโรคอาการ 


กลุ่มโรคเด็ก  25 ตำรับ กลุ่มโรคลม 80 ตำรับ กลุ่มอายุวัฒนะ 2 ตำรับ กลุ่มโรคปาก คอ 19 ตำรับ กลุ่มริดสีดวง 15 ตำรับ กลุ่มกษัย กร่อน 28 ตำรับ กลุ่มโรคผิวหนัง แผล โรคเรื้อน 25 ตำรับ กลุ่มโรคทางเดินปัสสาวะ กามโรค 5 ตำรับ กลุ่มอาการท้องเสีย ท้องเดิน บิด ป่วง 9 ตำรับ กลุ่มโรคหอบ ไอ หืด 4 ตำรับ กลุ่มโรคสตรี 16 ตำรับ กลุ่มยาบำรุง 15 ตำรับ กลุ่มโรคฝี 18 ตำรับ กลุ่มไข้ 24 ตำรับ กลุ่มโรคท้องมาน 5 ตำรับ กลุ่มอื่นๆเช่น ยาถ่าย ยาหยอด ยาประคบ จำนวน 34 ตำรับ รวมทั้งสิ้น 324 ตำรับ     เป็นการนำองค์ความรู้ในตำราการแพทย์แผนไทยของชาติและตำรับยาแผนไทยของชาติไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยนำไปบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนของแพทย์แผนไทย เป็นฐานข้อมูลหลักฐานในการตรวจสอบอ้างอิง การขึ้นทะเบียน       ตำรับยาไทย กับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อให้โรงพยาบาลนำไปใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน และจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ


ทางด้าน ดร.นันทศักดิ์  โชติชนะเดชาวงศ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย กล่าวว่า สำหรับ หลักเกณฑ์พิจารณา เป็นรายการตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ประกอบด้วย 1. ตั้งสูตรตำรับ ตามองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย 2.จำนวนชนิดตัวยาในตำรับไม่มากชนิด 3.ใช้พืชสมุนไพรเป็นหลัก   4. หากมีสัตว์วัตถุไม่ควรใช้สัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และอนุสัญญาฯ CITES และห้ามเป็นส่วนที่ได้จากการ ฆ่าสัตว์ 5. หากมีธาตุวัตถุที่จัดเป็นยาอันตราย ไม่ควรเกินข้อกำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย     ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 6. เป็นสมุนไพรที่สามารถปลูกหรือจัดทำได้ในประเทศไทยเป็นหลัก 7.มีประสบการณ์การใช้อย่างกว้างขวาง มีหลักฐานอ้างอิง แสดงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย และ8. สามารถนำมาใช้เพื่อการบำบัดรักษาโรค โรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุข หรือโรคทางการแพทย์แผนไทย ทั้งนี้จะได้มีการทบทวนตำรับที่มีศักยภาพสอดคล้องกับปัญหาสาธารณสุขเพิ่มเติมเป็นระยะ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง