ทอท. ชี้แจงพาวเวอร์แบงค์ระเบิดบนเครื่องบิน สาเหตุไม่ได้มาตรฐาน
วันนี้ ( 26 ก.พ. 67 )นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. กล่าวว่า จากกรณีมีเหตุการณ์แบตเตอรี่สำรอง (พาวเวอร์แบงค์) ของผู้โดยสารระเบิดบนเครื่องบินนั้น ถือว่าผู้โดยสารไม่ได้มีความผิด เพราะได้นำพาวเวอร์แบงค์ขึ้นเครื่องบินตามสิทธิที่สามารถทำได้
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้เกิดการระเบิดอาจเพราะพาวเวอร์แบงค์เป็นยี่ห้อที่ไม่ได้มาตรฐาน และเป็นชนวนเหตุที่ทำให้เกิดการลุกไหม้ ดังนั้น หน่วยงานคงให้คำแนะนำผู้โดยสารให้ใช้พาวเวอร์แบงค์ที่มีการรับรองมาตรฐาน และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดี
ส่วนมาตรการการตรวจจะเข้มข้นขึ้นหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาระหว่างความสะดวกสบายของผู้โดยสารที่มาพร้อมกับทำมาตรการที่เข้มข้นขึ้น หากห้ามการนำพาวเวอร์แบงค์ขึ้นเครื่องบินไปด้วย ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกจะเป็นปัญหา ซึ่งตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่จะควบคุมเรื่องกฎระเบียบและพิจารณาความสะดวกสบายของผู้โดยสารเปรียบเทียบกับเรื่องความปลอดภัย
ทั้งนี้ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้คำแนะนำหลักการเลือกซื้อและใช้งานพาวเวอร์ ให้มั่นใจว่าปลอดภัย มาให้อ่านกัน หลังจากมีเคสเหตุการณ์ ‘พาวเวอร์แบงค์ระเบิด’ อยู่เรื่อย ๆ ดังต่อไปนี้
หลักการเลือกซื้อและใช้งานพาวเวอร์แบงค์
1. เลือกซื้อเลือกใช้พาวเวอร์แบงค์ เฉพาะที่ผลิตโดยผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน มีตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานการผลิต และผ่านการทดสอบความปลอดภัย
2. หลีกเลี่ยงพาวเวอร์แบงค์ ราคาถูก แต่ว่ามีความจุที่สูง เพราะมีโอกาสที่เป็นสินค้าที่มาตรฐานการผลิตต่ำ อาจจะถึงขั้นไม่มีระบบตัดไฟลัดวงจรที่ปลอดภัย
3. ขณะที่นำสมาร์ทโฟนมาเสียบพาวเวอร์แบงค์เพื่อชาร์จไฟ ไม่ควรเล่นหรือใช้งานระหว่างที่ชาร์จ เพราะอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดในการจ่ายกระแสไฟฟ้า จนอาจจะทำให้เกิดการลัดวงจรได้
4. เมื่อเสียบชาร์จไฟเพื่อเก็บกระแสไฟฟ้าไว้ในพาวเวอร์แบงค์ เมื่อชาร์จจนเต็มแล้วให้ถอดสายออก ไม่ควรเสียบชาร์จคาทิ้งไว้ เพราะอาจจะเกิดความร้อนและการลัดวงจรได้
5. ไม่ควรเสียบชาร์จไฟพาวเวอร์แบงค์ไว้ ในขณะที่ไม่มีใครอยู่บ้าน
6. ไม่ควรใช้พาวเวอร์แบงค์ที่หมดอายุการใช้งาน หรือเสียหาย หรือบวมเสื่อมสภาพ ไม่ควรใช้งานพาวเวอร์แบงค์ที่มีอายุเกิน 2 ปี ควรเปลี่ยนใหม่ อย่าฝืนใช้ต่อเมื่อหมดอายุแล้ว
7. ไม่ควรเก็บพาวเวอร์แบงค์ในที่มีความร้อน เช่น หลังทีวี, ตู้เย็น, ไมโครเวฟ หรือที่แสงแดดส่องถึง รวมทั้งไม่ควรทิ้งไว้ในรถยนต์ที่จอดตากแดด
สาเหตุที่พาวเวอร์แบงค์ หรือ พวกแบตเตอรีสำรอง เกิดระเบิดลุกไหม้ไฟได้ ไม่เหมือนกับพวกถ่านไฟฉาย ถ่านอัลคาไลน์ที่คุ้นเคยกันมานานนั้น ก็เพราะมันมักจะเป็นแบตเตอรี่พวกลิเธียมไอออน (lithuim ion) ที่มีน้ำหนักเบา และมีความหนาแน่นของความจุไฟฟ้าสูง แต่ก็ต้องระวังอันตรายอันอาจเกิดขึ้นได้ ถ้าลิเธียมสัมผัสกับอากาศที่มีก๊าซออกซิเจน และทําให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน เกิดความร้อนสูง และเกิดการระเบิดรุนแรงได้ โดยปรกติแบตเตอรี่แบบลิเธียมไออนจึงต้องมีเปลือกแบตเตอรี่และวัสดุห่อหุ้มเซลไฟฟ้าด้านใน ไม่ให้โมเลกุลของก๊าซออกซิเจนสัมผัสกับอะตอมของลิเธียม
แต่ถ้าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนนั้น มีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งในส่วนของวัสดุที่ใช้ห่อหุ้ม และในส่วนของวงจรไฟฟ้าสำหรับการจ่ายไฟและการชาร์จไฟ รวมไปถึงการเสื่อมประสิทธิภาพตามการเวลา หรือถูกกระแทกจนเกิดความเสียหาย หรือจัดเก็บในที่ๆ ไม่เหมาะสม เช่น มีความร้อนสูง ก็อาจจะนำมาสู่อุบัติเหตุ มีไฟฟ้าลัดวงจรในแบตเตอรี่ เกิดอุณหภูมิที่สูงขึ้น เกิดความเสียหายกับเปลือกหุ้มเซลแบตเตอรี่จนอากาศเข้าไปข้างในและเจอกับโลหะลิเธียม สุดท้าย ก็อาจระเบิดขึ้นได้
แบตบวม อาการสำคัญของแบตเสื่อม สังเกตอย่างไร หากแบตเริ่มมีอาการบวมเล็กน้อย นี่เป็นสัญญาณว่า แบตสำรองเริ่มเสื่อมแล้ว และที่สำคัญที่สุดอย่าปล่อยให้แบตเตอรี่บวมมาก เพราะหากปล่อยไว้ แบตเตอรี่ของเราอาจจะเกิดการระเบิด และทำให้อุปกรณ์อื่นๆเสียหาย หรือร้ายกว่านั้น อาจทำให้ผู้ใช้เกิดอาการบาดเจ็บได้
จะทิ้ง พาวเวอร์แบงค์ เก่าอย่างไร
-นำไปแช่น้ำทิ้งไว้ เพื่อทำการลดประจุไฟฟ้า โดยระยะเวลาที่แช่อยู่ในน้ำอาจเป็นระยะเวลา 5 ชั่วโมง
-ใส่ถุงขยะ พร้อมกับระบุประเภทของขยะ
-ทิ้งที่จุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์
ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไว้ ให้ไปรษณีย์ไทย
ปัจจุบัน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) มีบริการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผ่าน 2 ขั้นตอนง่ายๆ “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์” กับบุรุษไปรษณีย์ 1.เตรียม E-Waste ทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, สายชาร์จ, หูฟัง, พาวเวอร์แบงก์ และแบตเตอรี่มือถือ ให้พร้อม และนำใส่กล่อง พร้อมเขียนหน้ากล่อง “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์” 2.ฝากทิ้ง กับบุรุษไปรษณีย์ ที่มาส่งจดหมาย หรือพัสดุ ที่บ้านได้เลย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ภาพจาก: AFP