รีเซต

ความต้องการทองแท่งและจิวเวลรี่ หนุนทองคำ วิเคราะห์โดยฮั่วเซ่งเฮง

ความต้องการทองแท่งและจิวเวลรี่ หนุนทองคำ วิเคราะห์โดยฮั่วเซ่งเฮง
TNN ช่อง16
10 พฤษภาคม 2564 ( 10:33 )
52
ความต้องการทองแท่งและจิวเวลรี่ หนุนทองคำ วิเคราะห์โดยฮั่วเซ่งเฮง

GOLD BULLISH

  • การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ
  • ความต้องการทองคำจากจีนในปีนี้คาดเพิ่มขึ้น
  • ปัจจัยทางด้านเทคนิคเป็นขาขึ้น



GOLD BEARISH

  • นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ
  • แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว 
  • การกระจายวัคซีนโควิด-19

ความต้องการทองคำภาคเครื่องประดับและทองแท่งไตรมาส 1 โดดเด่น

ความต้องการทองคำทั่วโลกส่งสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1 ความต้องการทองคำทั่วโลก 815 ตัน ทรงตัวจากไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ถึงแม้ว่ามีการแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิดในช่วงต้นปีก็ตาม ถ้าถามว่าความต้องการทองคำตอนนี้ฟื้นตัวกลับไปถึงระดับช่วงก่อนเกิดแพร่ระบาดของโควิด คำตอบคงยังครับเพราะเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนความต้องการทองคำยังลดลง 23% แต่ผมมองว่ามีสัญญาณที่ดีของทองคำเมื่อเจาะดูรายละเอียดความต้องการทองคำในแต่ละส่วนแล้ว ความต้องการในส่วนเครื่องประดับและทองแท่งฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง  โดยความต้องการทองคำในส่วนเครื่องประดับไตรมาส 1 เพิ่มขึ้นถึง 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  ความต้องการทองแท่งไตรมาส 1 เพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดไม่ได้กระทบเฉพาะคนทั่วไปเท่านั้น แต่กระทบต่อเงินทุนสำรองของแต่ละประเทศ สะท้อนจากธนาคารกลางมียอดขายสุทธิในทองคำไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว แต่เริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1 ทำให้ความต้องการทองคำจากธนาคารกลางเพิ่มขึ้น 20% จากไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ส่วนความต้องการทองคำที่ลดลงอย่างที่ทราบกันดีมาจากแรงเทขายจากกองทุนอีทีเอฟทองคำที่สูงถึง 177 ตันในไตรมาส 1  

ความต้องการทองคำภาคเครื่องประดับ

 

ความต้องการทองแท่งสูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส

ผมเกริ่นไว้ว่าความต้องการทองคำภาคเครื่องประดับและทองแท่งฟื้นตัว ที่น่าสนใจคือ 2 ประเทศที่ใช้ทองคำมากที่สุดในโลกคือจีนและอินเดียเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนหลักเลย จีนที่เป็นประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นๆ  ความต้องการทองคำภาคเครื่องประดับและทองแท่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดสูงถึง 212% และ 133%  ปัจจัยที่ขับเคลื่อนความต้องการทองคำภาคเครื่องประดับของจีนมี 3 ปัจจัย คือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว ราคาทองลดลง และ Seasonal effect ที่มีความต้องการทองคำในเทศกาลต่างๆ ไล่จากตรุษจีน วาเลนไทน์  ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือความต้องการทองแท่งไตรมาส 1 เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 17 ไตรมาสทีเดียว  ปัจจัยที่ขับเคลื่อนมาจากการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ มาตรการทางการคลังและการเงินที่ใช้กันอย่างหนักเพื่อเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด ดังนั้นมองว่าความต้องการทองคำภาคเครื่องประดับและทองแท่ง โดยเฉพาะจากจีนน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนต่อความต้องการทองคำในปีนี้ 

ความต้องการทองแท่ง

สัปดาห์นี้แนวโน้มราคาทองคำ Spot คาดปรับขึ้นได้ต่อ หลังจากทองคำสามารถทะลุแนวต้านสำคัญ 1,800 ดอลลาร์ โดยมีเป้าหมายที่แนวต้านสำคัญ 1,850 ดอลลาร์ ประกอบกับความต้องการทองคำภาคเครื่องประดับและทองแท่งคาดช่วยหนุนราคาทองคำ ส่วนแรงเทขายจากกองทุนอีทีเอฟทองคำลดน้อยลง ซึ่งสัปดาห์ก่อนกองทุน SPDR Gold Trust ซื้อทองคำ 8.11 ตัน  สัปดาห์นี้ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การกระจายวัคซีนโควิด-19  อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ ทั้งดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนเมษายน ยอดค้าปลีกของสหรัฐเดือนเมษายน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐอื่นๆ ได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม

สัปดาห์นี้ทองคำ Spot มีแนวรับ 1,800 ดอลลาร์ และ 1,780 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้านที่ 1,850 ดอลลาร์ และ 1,870 ดอลลาร์ ที่แนวต้านสำคัญ 1,850 ดอลลาร์ อาจมีแรงเทขายทำกำไรออกมามาก ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 26,750 บาท และ 26,550 บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 27,100 บาท และ 27,400 บาท



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง