"EIC" ชี้กับดักเศรษฐกิจไทย ยุคพึ่งพานำเข้าพุ่ง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ระบุว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยในช่วงปี 2563-2567 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี สูงกว่าการเติบโตของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และมูลค่าการส่งออก ส่งผลให้สัดส่วนการนำเข้าสินค้าต่อ GDP เพิ่มขึ้นสู่ร้อยละ 53 ณ ปี 2567 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 12 ปี อีกทั้ง ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยเผชิญภาวะขาดดุลการค้าเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน
โดยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนี้ปรากฏชัดขึ้นจากการที่จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง หรือครองส่วนแบ่งการนำเข้าสูงกว่า 1 ใน 4 ของมูลค่ารวม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุตสาหกรรมสำคัญของไทย เช่น เหล็ก พลาสติก และยานยนต์ หันไปพึ่งพาและกลายเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีนกันมากขึ้น
SCB EIC ระบุอีกว่า สินค้านำเข้ากำลังก้าวขึ้นมามีบทบาททดแทนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ทั้งในแง่การบริโภคและการส่งออก อีกทั้ง ยังพบสัญญาณที่อาจบ่งชี้ได้ว่า ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมของไทยเกือบ 3,000 แห่ง เข้าข่ายดำเนินกิจการแบบซื้อมา–ขายไป ซึ่งบางส่วนเสี่ยงที่จะเป็นเพียงโรงงานแปรรูปเบื้องต้นหรือดำเนินกิจกรรมสวมสิทธิ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแผงวงจร, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนยานยนต์, พลาสติก, อะลูมิเนียม และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ทั้งนี้ผลกระทบจากแนวโน้มดังกล่าวจะทำให้ผู้ส่งออกของไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดขึ้น และในระยะยาวโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอาจค่อย ๆ เปลี่ยนจาก ‘ประเทศผู้ผลิต’ ไปสู่บทบาท ‘ผู้ซื้อและประเทศทางผ่าน’ ในห่วงโซ่อุปทานโลก และทำให้เกิดการเสื่อมถอยอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมการผลิตภายในประเทศ
นอกจากนี้ รูปแบบการเติบโตที่อิงกับโมเดลซื้อมา-ขายไป และกิจกรรมที่ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างแท้จริงภายในประเทศ อาจกลายเป็นจุดอ่อนเชิงโครงสร้าง
ดังนั้น การปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ การกำเนิดนโยบายเชิงรุกเพื่อกำกับดูแลการลงทุน ตลอดจนการคัดกรองขอบเขตและคุณภาพสินค้านำเข้า จึงเป็นกลไกสำคัญในการรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยท่ามกลางทิศทางการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
