รีเซต

กรมการค้าภายในยันประกันรายได้โปร่งใส พร้อมดูแลผัก-ผลไม้ทุกชนิด แก้ล้นตลาดด้วยคอนแทกฟาร์มมิ่ง

กรมการค้าภายในยันประกันรายได้โปร่งใส พร้อมดูแลผัก-ผลไม้ทุกชนิด แก้ล้นตลาดด้วยคอนแทกฟาร์มมิ่ง
ข่าวสด
21 กุมภาพันธ์ 2565 ( 20:49 )
72

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวในการเสวนา หัวข้อ “โครงการประกันรายได้สินค้า 5 สินค้าเกษตร” ในงานสัมมนาเรื่อง “ประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 สินค้า โดยกระทรวงพาณิชย์” ในรูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านเฟซบุ๊ก เครือมติชน ไลน์ออฟฟิเชียลมติชน และยูทูบมติชนทีวี ที่อาคารสํานักงาน บริษัท มติชน จํากัด (มหาชน) ว่า โครงการประกันรายได้เป็นการจ่ายส่วนต่าง และโอนเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง โดยเอาเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายออกไปก่อน แล้วค่อยตั้งเบิกงบกับทางรัฐบาล เป็นโครงการที่เกิดจากการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน เกษตรกรช่วยกันวางแผนระบบ กำหนดราคา จึงยืนยันโครงการประกันรายได้มีความโปร่งใสแน่นอนขอให้ทุกฝ่ายสบายใจได้

 

ซึ่งจากการดำเนินโครงการมาพบว่าแนวโน้มสินค้าเกษตรที่ร่วมโครงการมีราคาที่ดีขึ้น และภาครัฐก็ไม่ได้มีมาตรการเดียวออกมาเพื่อช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตร แต่ได้กำหนดมาตรการต่างๆ ออกมาคู่ขนาน เช่น โครงการสนับสนุนให้เกษตรกรชะลอการขายผลผลิต เช่น ข้าว ก็ให้เก็บในยุ้งฉางก่อน โดย ธ.ก.ส. จะตีมูลค่าข้าวเป็นเงิน และจ่ายเงินให้เกษตรกรเอาไปใช้ก่อน เมื่อถึงเวลาราคาดีขึ้นก็ไปไถ่ออกมา เช่นเดียวกับสหกรณ์และโรงสีภาครัฐก็มีแรงจูงใจด้วยการช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ย เพื่อให้สหกรณ์และโรงสีมีกำลังรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ในช่วงที่ผลผลิตออกมาปริมาณมาก

 

ส่วนมันสำปะหลัง มีมาตรการรวบรวมผลผลิตไม่ว่าจะเป็น ผู้ส่งออก โรงแป้ง ในการที่จะไปรับซื้อ แปรรูป และส่งออก และยังมีการพัฒนาคุณภาพมันสำปะหลัง เพิ่มมูลค่าผลผลิตแทนการขายเป็นมันสดที่มีราคาเพียงกิโลกรัมละ 2.50-2.70 บาท เป็นการขายเป็นมันเส้นที่มีราคาสูงถึง 7-8 บาท ซึ่งปีที่แล้วภาครัฐให้เครื่องสับมันกับชุมชนกลุ่มเกษตรกรไปกว่า 600 เครื่อง ปีนี้ โดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) อนุมัติไปอีก 600 กว่าเครื่อง มาตรการนี้ก็ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งไม่ให้ผลผลิตออกมากดทับราคาในตลาด รวมทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อาจมีราคาตกต่ำบ้างในช่วงที่ผลผลิตออกมากระจุกตัว ก็ได้ใช้วิธีเดียวกันในการชะลอการจำหน่าย เมื่อสถานการณ์ราคาดีขึ้นก็ค่อยนำผลผลิตออกมาขาย

 

ส่วนปาล์มน้ำมัน มีการบริหารจัดการสต๊อกเร่งการส่งออกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดแบบกระจุกตัวทำให้ราคาในประเทศขยับขึ้นบวกกับมาตรการด้านกฎหมายที่เข้มงวดในการเคลื่อนย้ายทั้งนำเข้าและส่งออก

 

ส่วนจะมีการขยายไปสู่พืชเกษตรอื่นๆ หรือไม่นั้น นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า พืชแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน ทำให้การดูแลเรื่องราคา หรือรายได้ของเกษตรกรต้องใช้วิธีที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม แต่ยืนยันว่ากระทรวงพาณิชย์ดูแลครอบคลุมทุกชนิด ทั้งผักและผลไม้ โดยในส่วนของผักยอมรับว่าจะมีราคาที่ผันผวนอย่างมากตามฤดูกาล ซึ่งจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ขณะที่ผลไม้แต่ละชนิดก็จะใช้วิธีผลักดันการส่งออกนอกพื้นที่ และการส่งออกไปต่างประเทศ รวมทั้งการทำเกษตรแบบพันธะสัญญา หรือ คอนแทกฟาร์มมิ่ง

 

โดยยึดเอาหลัก “อมก๋อย โมเดล” มาใช้เนื่องจากประสบความสำเร็จจากการร่วมมือกับโรงงานผู้ผลิตทำสัญญารับซื้อผลผลิตมะเขือเทศจากเกษตรกรในพื้นที่ทำให้ผลผลิตไม่ล้นตลาด ไม่มีปัญหาด้านราคา อีกทั้งนำนวัตกรรมการแปรรูปมาใช้กับสินค้าเกษตรเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น มันสำปะหลังทำเป็นภาชนะ ข้าวทำเป็นเครื่องสำอาง ส่งผลดีกับเกษตรกร สร้างรายได้ให้กับประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง