รีเซต

ไวรัสโคโรนา : เตรียมทดสอบยาไฮดร็อกซีคลอโรควิน - วัคซีนวัณโรค ใช้ป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่

ไวรัสโคโรนา : เตรียมทดสอบยาไฮดร็อกซีคลอโรควิน - วัคซีนวัณโรค ใช้ป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่
ข่าวสด
31 มีนาคม 2563 ( 19:55 )
50
ไวรัสโคโรนา : เตรียมทดสอบยาไฮดร็อกซีคลอโรควิน - วัคซีนวัณโรค ใช้ป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่

 

ไวรัสโคโรนา : เตรียมทดสอบยาไฮดร็อกซีคลอโรควิน - วัคซีนวัณโรค ใช้ป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่ - BBCไทย

ระหว่างที่การคิดค้นพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคทางเดินหายใจโควิด-19 โดยตรง ยังคงต้องใช้เวลาอีกนานแรมปี มีความพยายามจากนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มที่จะศึกษาดูว่า ยาและวัคซีนป้องกันโรคที่มีอยู่แล้วขนานใดบ้างที่สามารถนำมาใช้ป้องกันการติดเชื้อไรอบวรัสโรโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ โดยล่าสุดได้เล็งจะทดสอบยาที่ใช้รักษาไข้มาลาเรีย รวมทั้งวัคซีนป้องกันวัณโรคว่ามีสรรพคุณดังกล่าวอยู่จริงหรือไม่

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (UW) และมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU) ของสหรัฐฯ แถลงว่าจะดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพของยาไฮดร็อกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ในการป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 กับกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คนในเร็ววันนี้ และคาดว่าจะสามารถทราบผลได้ภายใน 3-4 เดือนข้างหน้า

Getty Images
ในขณะที่ยังไม่มีผลทดสอบยืนยัน คนทั่วไปไม่ควรเสี่ยงไปซื้อยาที่เชื่อว่าป้องกันโควิด-19 มาใช้เอง

การทดสอบดังกล่าวจะใช้เวลาราว 8 สัปดาห์ โดยทดลองให้กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ซึ่งเป็นผู้ที่มีการติดต่อสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือต้องสงสัยว่าติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้รับประทานยาไฮดร็อกซีคลอโรควินหรือยาหลอกอย่างใดอย่างหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และจะมีการตรวจหาเชื้อไวรัสในร่างกายด้วยทุกวันในระหว่างนั้น

แม้ก่อนหน้านี้จะมีรายงานว่า ยาไฮดร็อกซีคลอโรควินมีศักยภาพในการป้องกันไม่ให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข้าสู่เซลล์ร่างกายของมนุษย์ได้ แต่ผศ. แอนนา เบิร์ชทีน หนึ่งในผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กระบุว่า "ทุกวันนี้ยังคงไม่มีวิธีป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่ผ่านการพิสูจน์ยืนยันแล้วว่าสามารถช่วยได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ได้สัมผัสเชื้อไปแล้ว"

"หากผลการทดสอบนี้พบว่า ยาไฮดร็อกซีคลอโรควินสามารถป้องกันการติดโรคหลังสัมผัสเชื้อได้จริง ก็จะเป็นอาวุธต่อสู้กับการระบาดใหญ่ที่สำคัญอย่างมาก แต่ถ้ามันไม่ได้ผล คนทั่วไปก็ควรหลีกเลี่ยงไม่ไปซื้อยานี้มารับประทานเอง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพจากผลข้างเคียงของยาไปเปล่า ๆ" ผศ. เบิร์ชทีนกล่าว

ด้านทีมนักวิจัยของออสเตรเลียก็ออกมาแถลงเช่นกันว่า กำลังจะเริ่มการทดสอบแบบเร่งด่วน เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าวัคซีนบีซีจี (BCG) ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันวัณโรคที่ให้กับทารกกว่า 130 ล้านคนในแต่ละปี และใช้ในวงการสาธารณสุขทั่วโลกมานานกว่า 80 ปีนั้น สามารถจะป้องกันการติดเชื้อหรือยับยั้งการเกิดอาการรุนแรงในโรคโควิด-19 ได้หรือไม่

Getty Images
วัคซีนบีซีจี (BCG) เป็นวัคซีนป้องกันวัณโรคที่ให้กับเด็กและทารกกว่าร้อยล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี

การทดสอบนี้มีขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายจะค้นหาวัคซีนป้องกันที่ใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อหรือล้มป่วยในหมู่ผู้อยู่แนวหน้าของการต่อสู้กับโรคระบาด

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยสุขภาพเด็กแห่งมหาวิทยาลัยเมอร์ด็อก (MCRI) แถลงว่า วัคซีนวัณโรคมีศักยภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายที่อยู่ในภาวะเฉื่อยชาให้ตอบสนองต่อเชื้อโรคได้อย่างแข็งขันมากขึ้น ซึ่งจะป้องกันไม่ให้แพทย์พยาบาลที่สัมผัสเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 เกิดการติดเชื้อในร่างกาย หรือมีอาการของโรคลุกลามไปถึงขั้นรุนแรง

ศ. แคทริน นอร์ท ผู้อำนวยการสถาบัน MCRI ระบุว่าจะมีการทดสอบวัคซีนบีซีจีกับบุคลากรทางการแพทย์ 4,000 คนในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ "หากการทดลองเร่งด่วนนี้ประสบผลสำเร็จ ก็จะช่วยซื้อเวลาในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ได้มาก เพราะกว่าที่วัคซีนป้องกันโรคโดยตรงจะถูกคิดค้นและผลิตให้พร้อมใช้ได้สำเร็จ ก็ยังคงต้องใช้เวลาอีกนาน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง