รีเซต

ยุโรปเสี่ยงเผชิญคริสต์มาสแห่งโควิด จากการระบาดใหม่รอบ 4 และ 5 ในหลายประเทศ

ยุโรปเสี่ยงเผชิญคริสต์มาสแห่งโควิด จากการระบาดใหม่รอบ 4 และ 5 ในหลายประเทศ
TNN ช่อง16
15 พฤศจิกายน 2564 ( 11:37 )
51

ยุโรปกำลังเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง กับการระบาดระลอกที่สี่ หรือห้า ในหลายประเทศ ทำให้ต้องมีการนำมาตรการคุมเข้มกลับมาใช้อีกครั้ง


◾◾◾

🔴 ปัจจัยโควิดพุ่ง


องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การติดเชื้อรายใหม่ในยุโรปเพิ่มขึ้น 7% และยอดเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 10% ทำให้ยุโรปกลายเป็นภูมิภาคเดียวของโลกที่ยอดติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดกัน 6 สัปดาห์


นอกจากนี้ ยังพบว่า เกือบสองในสามของผู้ติดเชื้อรายใหม่ของโลก หรือราว 1.9 ล้านคน ล้วนอยู่ในยุโรป อย่างไรก็ดี WHO พบว่า แม้จะมีผู้ติดเชื้อมาก จำนวนผู้เข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตนั้นยังต่ำกว่าปีที่แล้ว


บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่า ปัจจัยที่ทำให้ยุโรปมีการติดเชื้อมากคือ


- การฉีดวัคซีนที่ช้า


- ภูมิคุ้มกันที่ลดลงในกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนไปตั้งแต่ช่วงแรก


- ความชะล่าใจเรื่องการใส่หน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างทางสังคม หลังรัฐบาลชาติต่างๆ ผ่อนปรนมาตรการในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา


◾◾◾

🔴 ชาติยุโรปมีอัตราการฉัดวัคซีนที่แตกต่างกัน


OurWorldInData เผยว่า ยุโรปใต้อย่าง โปรตุเกส มอลตา สเปน ฉีดวัคซีนครบโดสให้ประชากรไปแล้วมากกว่า 80% ส่วนอิตาลีฉีดครบโดสแล้ว ทำให้อัตราการติดเชื้อรายใหม่ต่อวันในรอบเจ็ดวันของชาติเหล่านี้ ต่ำสุดในภูมิภาค ที่ราว 100 คนต่อหนึ่งล้านประชากร แต่ยอดติดเชื้อกำลังมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในบางพื้นที่ที่มีการฉีดวัคซีนช้า


แต่บางชาติยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส นั้น มีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่ายุโรปใต้ จึงมียอดติดเชื้อใหม่พุ่งสูง จนกำลังเป็นปัญหาที่ท้าทายรัฐบาลชาติเหล่านั้นแล้ว


นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มประเทศที่พูดภาษาเยอรมนี เช่น ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ และเยอรมนี มีอัตราผู้ไม่ฉีดวัคซีนมากสุดในยุโรปตะวันตก จากความคลางแคลงใจในวัคซีน ประกอบกับชาวเยอรมันยอมรับการแพทย์ทางเลือก เช่น โฮมีโอพาธีย์ หรือการรักษาตามแนวธรรมชาติ ที่ประชาชนสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาและประกันครอบคลุม ทำให้ชาวเยอรมันมองความหนักของการระบาดในมุมที่ไม่รุนแรงเท่าชาติอื่น ๆ


ขณะเดียว ยังพบว่า การต่อต้านวัคซีนในเยอรมนีนั้น อาจเกี่ยวข้องกับมิติทางการเมืองด้วย เช่น ที่รัฐแซกโซนี ซึ่งมียอดติดเชื้อพุ่งสูงสุด นั้นเป็นฐานเสียงของพรรคขวาจัด AfD ที่ต่อต้านวัคซีน ส่วนที่ออสเตรีย พรรคขวาจัด Freedom Party ก็สนับสนุนกลุ่มต่อต้านวัคซีนเช่นกัน


◾◾◾

🔴 สถานการณ์ในออสเตรีย


รัฐบาลออสเตรียประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์กับประชากรที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไปที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือยังฉีดไม่ครบโดส ราวสองล้านคน มาตรการดังกล่าวเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันจันทร์นี้ เป็นเวลา 10 วัน


ก่อนหน้านี้ คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร้านอาหาร ร้านทำผมและโรงภาพยนตร์อยู่แล้ว แต่มาตรการใหม่นี้ จะห้ามพวกเขาออกจากบ้านด้วย ยกเว้นมีเหตุจำเป็น เช่นไปทำงานหรือซื้ออาหารเท่านั้น


ทั้งนี้ ออสเตรียมีประชากรที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วราว 65% ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอัตราที่ต่ำสุดของยุโรปตะวันตก ขณะที่อัตราการติดเชื้อในรอบเจ็ดวันอยู่ที่มากกว่า 800 รายต่อประชากรแสนคน ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในยุโรปแห่งหนึ่ง


ทั้งนี้ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนหลายร้อยคนรวมตัวประท้วงหน้าทำเนียบนายกรัฐมนตรีในกรุงเวียนนา พร้อมชูป้าย “ร่างกายของเรา เป็นเสรภาพของเราที่จะตัดสินใจ”


เล็กซานเดอร์ เชลเชนเบิร์ก นายกรัฐมนตรีของออสเตรียกล่าวว่า “ความจริงคือ เราบอกให้ประชาชนราวหนึ่งในสาม อย่าออกจากบ้านยกเว้นบางเหตุผล นี่คืดมาตรการที่ละการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนที่ฉีดและยังไม่ได้ฉีดวัคซีนครั้งใหญ่”


รัฐบาลออสเตรียจะวางกำลังตำรวจตามจุดสาธารณะต่างๆ เพื่อตรวจสอบสถานะวัคซีนของประชาชน


อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิจารณ์ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า มาตรการนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และพรรค Freedom Party ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวาจัดระบุว่า มาตรการนี้จะทำให้เกิดสถานะพลเมืองชั้นสอง


◾◾◾

🔴 เนเธอรแลนด์และยุโรปตะวันออก


รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ออกมาตรการ "lockdown-lite" เป็นเวลาสามสัปดาห์ เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เสาร์ที่ผ่านมา เพื่อลดการปฏิสัมพันธ์ของผู้คน เพื่อลดอัตราการติดเชื้อที่กำลังพุ่งสูง โดยกำหนดให้ร้านอาหาร ร้านค้า ปิดเร็วขึ้นกว่าเดิม และห้ามประชาชนไปชมการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ


เนเธอร์แลนด์ถือเป็นชาติแรกของยุโรปตะวันตกที่นำมาตรการล็อกดาวน์บางส่วนกลับมาใช้ เพื่อเร่งควบคุมการระบาด แม้มีชาวดัตช์รับวัคซีนครบเข็มไปแล้วกว่า 84% และพบว่า บรรดาคนไข้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแน่นขนัดเวลานี้ ล้วนเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเสียส่วนใหญ่


สถานการณ์ในยุโรปตะวันออกก็ยังไม่สู้ดีเช่นกัน เพราะมีการอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่าฝั่งตะวันตก โดยลัตเวีย ซึ่งมีประชากรเพียง 59% ที่ได้รับวัคซีนครบเจ็ม ต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนที่แล้ว และรัฐสภาลัตเวียได้แบนสมาขิกสภาฯ ที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน ไม่ให้เข้าลงมติในกฎหมายใดๆ ตอลดจนการร่วมประชุมสภาไปจนถึงกลางปีหน้าและยังตัดเงินเดือนด้วย


ขณะที่รัสเซีย มีประชากรเพียง 35% ที่รับวัคซีนครบเข็ม และยอดติดเชื้อกำลังพุ่ง จนทำให้ทางการกรุงมอสโกต้องสั่งปิดร้านอาหาร ร้านค้า โรงเรียนเพื่อล็อกดาวน์บางส่วน และให้ประชาชนหยุดงานเก้าวัน โดยได้รับค่าจ้าง เพื่อชะลอการระบาด


◾◾◾

🔴 เยอรมนี


รัฐบาลกลางของเยอรมนีและผู้นำรัฐต่าง ๆ จะหารือกันสัปดาห์นี้ว่าต้องออกมาตรการจำกัดรอบใหม่หรือไม่ โดยรัฐมนตรีสาธารณสุขของเยอรมนีกล่าวว่า นี่คือโรคระบาดของคนไม่ฉีดวัคซีน


เยอรมนีมีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วที่ 67.3% สูงกว่าออสเตรียเล็กน้อย และยังได้จัดให้ออสเตรียเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง ซึ่งหมายความว่า ใครก็ตามที่เดินทางมาจากออสเตรีย จะต้องเข้ามาตรการกักกันตนเองเมื่อถึงเยอรมนี


◾◾◾

🔴 แล้วจะคุมการระบาดรอบใหม่อย่างไร


ตอนนี้ คำถามก็คือว่า หลายชาติยุโรปตะวันตก จะควบคุมการระบาดระลอกใหม่นี้อย่างไร โดยไม่ต้องล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ


บรรดาผู้เชี่ยวชาญสะท้อนว่า ชาติยุโรปจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ WHO ชี้แนะว่า เพียงแค่ให้มีการสวมหน้ากากอนามัยให้ได้ราว 95% ทั่วยุโรป ก็จะสามารถรักษาชีวิตคนได้ถึง 200,000 คนแล้ว รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนสำหรับคนที่ยังไม่ได้ฉีด และวีคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับคนกลุ่มต่างๆ


ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การใช้มาตรการป้องกันที่ถูกต้องและต่อเนื่อง ไม่ใช่การจำกัดเสรีภาพ แต่จะช่วยให้ประชาชนมีเสรีภาพในการใช้ชีวิตต่อไปนั่นเอง

—————

แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง

ภาพ: KOBU Agency

ข่าวที่เกี่ยวข้อง