หมูแพงซ้ำเติมธุรกิจร้านอาหาร ต้นทุนสูง แต่ขึ้นราคาไม่ได้ เหตุแข่งขันดุ
นางสาวประภัสสร รังสิโรจน์ นายกสมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด (ครัวชมทะเล) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาสินค้าหลายประเภทที่ปรับตัวแพงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตย์และผักสด อย่างราคาเนื้อหมูที่ปรับสูงขึ้นมากนั้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารแน่นอน เนื่องจากเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อต้นทุนและกำไร ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ มีปัญญหาเรื่องผักสดหลายอย่างราคาสูงขึ้น ตามมาด้วยไข่ไก่และเนื้อสัตว์ ทั้งที่ราคาผักสดบางชนิดยังไม่ได้ปรับราคาลงเลย พอมาเจอหมูที่เพิ่มขึ้นทุกวันอีก ทำให้เกิดผลกระทบที่ซ้ำเติมผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า แม้ร้านอาหารจะเริ่มมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น รายได้ฟื้นตัวกลับมาได้ค่อนข้างดี แต่ยอดขายก็ยังไม่ได้กลับมาดีเท่าเดิม
“ต้นทุนของร้านอาหารปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งต้นทุนด้านความปลอดภัย แรงงาน และวัตถุดิบที่สูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงมีหลายรายการที่ปรับราคาขึ้น สวนทางกับรายได้ของคนส่วนใหญ่ที่ลดลง โดยช่วงปีใหม่ 2565 บรรยากาศการเข้าใช้บริการในร้านอาหาร ทั้งการเฉลิมฉลองทานอาหารร่วมกับครอบครัว และกลุ่มเพื่อน ถือว่าคึกคักมาก ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติมากขึ้น ภาพการดำเนินชีวิตก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 กลับมาอีกครั้ง ซึ่งถือว่าทำให้ใจชื้นขึ้นมาได้ดีมาก” นางสาวประภัสสร กล่าว
นางสาวประภัสสร กล่าวว่า เมื่อราคาวัตถุดิบหลายรายการปรับตัวดีขึ้น แต่เมนูในร้านอาหารไม่ได้ปรับราคาขึ้นตาม และไม่สามารถปรับขึ้นตามได้ด้วย เพราะเป็นเรื่องของการแข่งขันทางุรกิจ เนื่องจากร้านอาหารถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะในร้านอาหารที่มีลักษณะคล้ายกัน อาทิ อาหารตามสั่ง อาหารทะเล ทำให้ผู้ประกอบการต้องหาทางรอดด้วยกลยุทธ์พิเศษของแต่ละคน ซึ่งอาจเป็นการชูเมนูพิเศษขึ้นมา และหลีกเลี่ยงเมนูที่ต้องใช้ส่วนประกอบจากวัตถุดิบที่มีราคาสูง แต่หากเป็นเนื้อหมู ไก่ หรือผักสดบางชนิด ก็หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะเป็นส่วนประกอบการของเมนูพื้นฐานของคนไทย จึงอยากให้รัฐบาลเร่งหาทางบริหารจัดการให้ต้นทุนวัตถุดิบเหล่านี้ปรับราคาลง ไม่อย่างนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นห่วงโซ่ และกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวมเพิ่มขึ้นอีก
นางสาวประภัสสร กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดโควิด-19 โอมิครอน ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ผความกังวลของผู้ประกอบการยังมีอยู่ และเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่พบมากขึ้น ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ยังไม่มีมาตรการป้องกันหรือรับมือกับการระบาดโอมิครอน ออกมาเป็นพิเศษ และก็ยังไม่ได้มีการหารือกันอย่างชัดเจน เพื่อหาทางรองรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยคาดว่าหากมีการระบาดเกิดขึ้นใหม่อีกระลอก กระทรวงสาธารณสุข คงมีมาตรการรองรับอยู่แล้ว และการรับมือจะเป็นคำสั่งควบคุมเฉพาะในพื้นที่บางจุด ที่พบการระบาดหรือพื้นที่เสี่ยงมากกว่า ซึ่งไม่อยากให้มีการสั่งปิดแบบเหมารวมเกิดขึ้นอีก