รีเซต

ไม่มีมิตรแท้ – ศัตรูถาวร “ประชาธิปัตย์” เดินหน้าสู่ยุคใหม่ ในอ้อมกอด “เพื่อไทย” - Exclusive By วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์

ไม่มีมิตรแท้ – ศัตรูถาวร  “ประชาธิปัตย์” เดินหน้าสู่ยุคใหม่  ในอ้อมกอด “เพื่อไทย” - Exclusive By วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์
TNN ช่อง16
29 สิงหาคม 2567 ( 14:41 )
20
ไม่มีมิตรแท้ – ศัตรูถาวร  “ประชาธิปัตย์” เดินหน้าสู่ยุคใหม่  ในอ้อมกอด “เพื่อไทย” - Exclusive By วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์

ไม่มีมิตรแท้ – ศัตรูถาวร 

“ประชาธิปัตย์” เดินหน้าสู่ยุคใหม่ 

ในอ้อมกอด “เพื่อไทย”


การส่งเทียบเชิญไปยังพรรคประชาธิปัตย์ให้เข้าร่วมรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์การเมืองที่ต้องถูกบันทึกไว้ เพราะจดหมายรักการเมืองฉบับนี้กลายเป็นสารฉบับสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองที่เคยอยู่ต่างขั้ว สามารถมาอยู่บรรจบในเส้นทางเดียวกันได้ 

 

นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ผู้นำขันหมากการมืองมาสู่ขอพรรคประชาธิปัตย์ย้ำว่าอุดมณ์ทางการเมืองเราแม้จะไม่เคยเหมือนกันเลยในอดีต แต่ ณ วันนี้  เมื่อคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเป็นแกนนำของทั้ง 2 พรรค ก็มั่นใจว่าสส.ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ปัญหาของพี่น้องประชาชนต้องได้รับการแก้ไข และทำให้ประเทศเดินหน้าต่อ 


ไม่ต่างกับฝ่ายถูกสู่ขออย่างพรรคประชาธิปัตย์ เลขาธิการพรรคฯ นายเดชอิศม์ ขาวทอง ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความขัดแย้งใด ๆทั้งสิ้น  เรามีแต่ความรัก ความเข้าใจ และ การให้อภัยกัน ต้องเข้าใจว่าการบริหารประเทศ และ ปัญหาของประเทศในวันนี้ และ เมื่อ 20-30 ปี ก่อนไม่เหมือนกันเลย เมื่อเราคุยกันได้ เดินหน้าไปด้วยกันได้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม 

 

ปฏิกิริยาของแกนนำ 2 พรรค ตอกย้ำวลีที่ว่า “ไม่มีมิตรแท้ หรือ ศัตรูถาวรทางการเมือง”  และ ถือเป็นการปิดฉากความขัดแย้งการเมือง 2 พรรค 2 ขั้ว ที่ยาวนานกว่า 23 ปี 


จุดเริ่มต้นของการเมือง 2 ขั้ว ต้องย้อนไปถึงการเลือกตั้ง 2544 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองไทย เมื่อพรรคไทยรักไทยพรรคการเมืองที่เพิ่งก่อตั้งในขณะนั้นภายใต้การนำของนายทักษิณ ชินวัตร สามารถคว้าชัยชนะแบบถล่มทลาย จนทำให้อดีตรัฐบาลสมัยก่อนหน้าอย่างประชาธิปัตย์ ตกไปเป็นฝ่ายค้านยาวนานถึง 8 ปี 


จนกระทั่งในปี 2551 หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีผู้จัดการรัฐบาลอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ สามารถรวบรมเสียงในสภาฯ โดยเฉพาะการดึง 40  สส.กลุ่มเพื่อเนวิน มาช่วยโหวตสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ แทนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ตกเก้าอี้จากคำตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน  

 

ขณะที่การเข้าคุมการบริหารประเทศรัฐบาลประชาธิปัตย์ได้สร้างบาดแผลสำคัญให้กับมวลชนกลุ่มผู้สนับสนุน นายทักษิณ จากมาตรการ “กระชับพื้นที่ราชประสงค์”    ในปี 2553 


จากนั้นเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งในปี 2554 เป็นพรรคเพื่อไทย ที่ได้รับชัยชนะ พรรคประชาธิปัตย์กลับไปอยู่เป็นฝ่ายค้านอีกครั้ง จนกระทั่งปี 2557 มีการเข้ารัฐประหารโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง  ก่อนจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งประชาธิปัตย์ได้กลับเข้าไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนพรรคเพื่อไทยต้องกลายไปเป็นฝ่ายค้าน 


ส่วนการเลือกตั้งล่าสุดในปี 2566 ที่พรรคเพื่อไทยชนะการจัดตั้งรัฐบาลแน่นอนว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้านก็จำเป็นต้องมีชื่อพรรคประชาธิปัตย์ 


จากเส้นทางทางการเมืองตลอด 23 ปี จากพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน มาถึงพรรคเพื่อไทย ล้วนอยู่คนละขั้วกับพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด แต่ก็ต้องยอมรับว่าระหว่างการเดินทางขแงการเมือง 2 ขั้ว ที่กินเวลายาวนานกว่า 23 ปี มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของทั้ง 2 พรรคเป็นอย่างมาก 


แกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ในยุคก่อนหน้า ทั้งนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายกรณ์ จาติกวณิช นายถาวร เสนเนียม  ไม่ย้ายออกก็ลดสถานะตัวเองเป็นเพียงสมาชิกเท่านั้น 


ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็มีการผลัดใบ เปลี่ยนตัว มาเป็นนักการเมืองรุ่นลูก จากทักษิณ มาเป็นแพทองธาร ชินวัตร 

แม้จริง ๆ แล้ว การเปลี่ยนฮวงจุ้ยทางการมืองครั้งนี้จะมีปัจจัยที่สลับซับซ้อนมากกว่าที่เห็น แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่คือการเปลี่ยนผ่านการเมืองครั้งสำคัญ ของพรรคประชาธิปัตย์


แม้จะได้รับค่าสินสอดทางการเมืองกับ 2 เก้าอี้รัฐมนตรี แต่สิ่งที่อาจจะท้าทายกว่าการเข้าร่วมงานกับพรรคการเมืองต่างขั้ว อาจจะเป็นการรับมือกับศึกภายใน ที่เริ่มเห็นแรงกระเพื่อมออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง  

นี่อาจเป็นสัจธรรมการเมืองอีกประการ “เมื่อศัตรูสามารถเปลี่ยนเป็นมิตรได้ฉันใด มิตรก็อาจเปลี่ยนเป็นศัตรู ได้ฉันนั้น” 

 

 

 Exclusive By วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง