รีเซต

'ดอน' ย้ำยึดประโยชน์ชาติ เร่งพูดคุยทุกภาคส่วน คลายปม CPTPP

'ดอน' ย้ำยึดประโยชน์ชาติ เร่งพูดคุยทุกภาคส่วน คลายปม CPTPP
มติชน
31 พฤษภาคม 2564 ( 06:22 )
70

 

หมายเหตุ “มติชน” – นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เล่าให้ฟังถึงความคืบหน้าในการดำเนินการหลังมีการการขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายเวลาเพื่อศึกษาว่าไทยจะเข้าสู่การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี-CPTPP) หรือไม่ออกไปอีก 50 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 24 มิถุนายนนี้

 

 

หลังจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติขยายเวลาศึกษาเพื่อทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความพร้อมหรือไม่พร้อมของไทยเกี่ยวกับการเข้าร่วมการเจรจาซีพีทีพีพีออกไปอีก 50 วันเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ จากเดิมที่จะครบกำหนดเมื่อวันที่ 25 เมษายน กลายเป็นวันที่ 24 มิถุนายน กนศ.ได้ดำเนินการไปแล้วในหลายเรื่อง

 

 

ผมได้พูดคุยกับรัฐมนตรีที่เป็นประธานอนุกรรมการของ กนศ.ไปแล้ว 3 ชุด เกี่ยวกับประเด็นที่ยังมีข้อติดขัด ประกอบด้วย ท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหรัฐ ท่านสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ท่านชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และยังมีกำหนดจะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ก็ยังได้หารือกับภาคเอกชน ประกอบด้วยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สภาผู้ส่งออกทางเรือ และ Young Smart Farmer และขณะนี้กำลังรอที่จะพูดคุยกับผู้แทนภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอ ซึ่งได้ให้เขาเสนอมาว่าสะดวกที่จะพูดคุยกันวันไหน ผมยินดีที่จะไปพบเพราะอยากพูดคุยกับทุกฝ่าย

 

 

เราจะใช้เวลาที่ขอขยายใน 50 วันให้เป็นประโยชน์ที่สุด และถือเป็นโอกาสดีที่จะเชิญภาคส่วนที่เห็นต่างมาร่วมหารือและหาทางออกร่วมกัน ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพราะหลายเรื่องมีความชับซ้อนและเกี่ยวข้องกับผู้คนหลายกลุ่ม รวมทั้งสาธารณชนยังมีความห่วงกังวลอยู่ ดังนั้นเวลาที่เพิ่มขึ้นก็จะใช้เพื่อการหารืออย่างรอบคอบยิ่งขึ้นในระดับต่างๆ เพื่อให้กระบวนการของ กนศ.มีความครบถ้วนและสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง รวมทั้งให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลและพัฒนาการของเรื่องนี้อย่างถูกต้องไปพร้อมๆ กัน

 

 

การพูดคุยแต่ละด้านทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และรับรู้ว่าเนื้อหาสาระที่ต่างฝ่ายมีอยู่สามารถปรับหรือดำเนินการเพื่อเปิดโอกาสให้ลองเข้าไปสู่ขั้นตอนการเจรจาได้หรือไม่ เพราะนานาประเทศที่เปิดเจรจาอยู่ก็ใช้วิธีเดียวกัน ทุกประเทศมีวิธีที่จะผ่อนหนักเป็นเบา หลายประเด็นเขาก็มีข้อติดขัด แต่ใช้วิธีว่าเมื่อประชุมไปแล้วก็จะมีการส่งเอกสารไปยันไว้ เพื่อให้รับรู้ว่าในบางประเด็นที่คุยกัน หากตกลงกันได้ก็ตกลงไป หากทำได้ก็กลับมาทำ อะไรทำไม่ได้ก็ตั้งข้อสงวนหรือมีเงื่อนไขเวลาไว้ เพื่อให้ไปพยายามดำเนินการในประเทศ หรือปรับปรุงกฎหมายต่างๆ โดยใช้เวลากี่ปีก็ว่ามา บางประเทศก็ใช้วิธีปรับกฎหมายภายในให้สอดคล้อง ดังนั้นมันมีวิธีที่จะอะลุ่มอล่วยและหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้จับมือเดินไปข้างหน้ากันได้

 

 

ความร่วมมือเพื่อให้เดินไปด้วยกันยิ่งมีความสำคัญในขณะนี้ที่ทุกประเทศต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การฟื้นกลับมายืนได้โดยลำพังนั้นไม่ง่าย ทำแบบลำพังมีโอกาสที่เราจะล้มและยิ่งเจ็บ ดังนั้นเราต้องจับมือกัน ช่วยกันพยุง และช่วยเหลือกันเพื่อให้สามารถเดินไปข้างหน้าร่วมกันได้ การประคับประคองกันไปคือวิธีที่ดีที่สุด นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมกรอบความร่วมมือแบบพหุภาคีหรือการทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ถึงได้เหมาะกันทุกประเทศ โดยเฉพาะในยามที่เราถูกซ้ำเติมด้วยโรคร้าย

 

 

๐ประเด็นหลักๆ ที่ยังมีข้อวิตกกังวลคืออะไร

ในเรื่องเกษตรก็มีประเด็นเรื่อง UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ก็คุยกันอยู่ว่าบางเรื่องข้อมูลที่ถูกต้องกลับมีน้อยกว่าข้อมูลที่ไม่ถูกต้องที่มีอยู่แพร่หลาย กระทรวงเกษตรฯ ก็จะไปดูให้เกิดความชัดเจน และพยายามเอาข้อมูลที่แท้จริงออกมาในเรื่องที่ยังมีความคลาดเคลื่อนของข้อมูล

 

 

สำหรับเรื่องสาธารณสุข คนก็ยังฝังใจเรื่องสิทธิบัตรยา (ซีแอล) แต่ขณะนี้ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIPS) ภายใต้องค์การการค้าโลกก็ระบุชัดเจนแล้วว่า ซีแอลได้รับการยกเว้นใน 3 ประเด็นคือ กรณีฉุกเฉินของชาติ กรณีที่เป็นเรื่องเร่งด่วน และเป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ประเทศต่างๆ สามารถดำเนินการได้เลย ต้องให้ประชาชนคนไทยรับรู้ว่าประเด็นเหล่านี้มันได้คลี่คลายไปแล้ว

 

 

ขณะนี้ประชาชนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของซีพีทีพีพีที่คลาดเคลื่อนอยู่หลายส่วน จึงจำเป็นที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันนำเสนอชัอมูลที่ถูกต้อง รอบด้าน และเป็นปัจจุบันให้ประชาชนได้รับทราบ ถ้าข้อเท็จจริงมีความชัดเจนก็จะไม่ทำให้เกิดสมมติฐานี่ผิดพลาด หรือการชักนำให้เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่จะทำให้เกิดความมั่นคงในเรื่องข้อมูลขึ้นในทุกเรื่อง

 

 

๐จากการพูดคุยท่าทีของภาคเอกชนเป็นอย่างไร เห็นด้วยกับการเจรจาซีพีทีพีพีหรือไม่

ภาคเอกชนเป็นฝ่ายที่เห็นชัดเจนที่สุด เพราะเดิมพันของเขาและเนื้องานของเขาอยู่ที่การเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ไม่ว่าการค้าขาย การขนส่งสินค้า และห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) ภาคเอกชนเขารู้ว่าถ้าประเทศไทยไม่ขยับหรือขยับไม่ออก เป็นเราที่จะเสียประโยชน์ เราต้องออกไปอยู่ในสนามแข่งในระดับเดียวกับคนอื่นๆ เขา ต้องมีแต้มต่อเพื่อดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ ถ้าเราไม่มีเวทีร่วม ไม่มีตลาดที่ใหญ่กว่าตลาดภายในของเรา เราก็จะเจอข้อจำกัดของการเป็นประเทศที่มีตลาดเล็ก แล้วใครจะสนใจมาค้าขายมาลงทุนด้วย มันไม่มีทางที่เขาจะเห็นเป็นอื่นไปได้ว่าซีพีทีพีพีจะเป็นหรือไม่เป็นประโยชน์สำหรับไทยที่จะเข้าไปเจรจา

 

 

ปัญหาอะไรที่เราคิดว่ามีอยู่ เราก็ต้องลองพินิจพิเคราะห์ดูว่าจะแก้ไขผ่อนปรนอะไรได้ ไม่ใช่จะต้องพูดแต่ว่าเข้าไปแล้วจะทำให้เราเสียหายและเป็นการซ้ำเติมเรา หรือว่าเข้าไปแล้วจะทำให้เรามีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งก็เป็นพื้นฐานที่เรารับรู้กันอยู่แล้ว

 

 

ขณะนี้หลายประเทศที่ไม่เคยพูดถึงซีพีทีพีพีเลย แต่พอมีโควิด มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกก็แสดงความสนใจ อย่างในภูมิภาคที่เราเห็นกันก็มีฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ แม้แต่จีนและสหรัฐก็เช่นกัน ขนาดอังกฤษก็ยังแสดงความสนใจที่จะเข้าเป็นภาคีตั้งแต่ยังไม่ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) สะท้อนให้เห็นว่าซีพีทีพีพีเป็นเวทีระหว่างประเทศที่นานาประเทศทั่วโลกไม่ว่าเล็กหรือใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่าเป็นประโยชน์ที่จะเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ประเทศไทยก็ไม่น่าจะเป็นข้อยกเว้น

 

 

๐เท่าที่ฟังมาดูเหมือนว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่ไทยจะเข้าร่วมการเจรจาซีพีทีพีพี

พื้นฐานที่เราจะเข้าไปสู่การเจรจาแทบจะเรียกว่าไม่มีอะไรที่จะบอกว่าเราจะไม่ลองดู ปัญหาอะไรที่เราคิดว่ามีอยู่เราก็ต้องลองพินิจพิเคราะห์ดูว่าสามารถแก้ไขผ่อนปรนอะไรได้หรือไม่ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับนานาประเทศมายาวนาน เราให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกับประเทศต่างๆ ดังนั้นถ้าจะบอกแต่ว่าเรามีปัญหากับซีพีทีพีพี ไม่ทันไรก็ปิดประตูใส่ ไม่คิดว่าหลังประตูมีอะไรที่สามารถช่วยเราได้หรือไม่ ก็คงไม่สมกับประเทศที่มีภูมิหลังเช่นไทย

 

 

สิ่งที่ยืนยันได้คือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลักการทำงานของเราในทุกเรื่องราวที่เกี่ยวกับซีพีทีพีพี เชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่และที่ทุกภาคส่วนกำลังช่วยกันดำเนินการจะนำประโยชน์กลับสู่คนไทย และเราจะก้าวข้ามซีพีทีพีพีไปสู่เวทีอื่นๆ ที่ยังมีอยู่อีกมาก

 

 

ถ้าเราจะเจรจาเอฟทีเอกับอีกหลายเวที อาทิ เอฟทีเอไทย-อียู มันก็จะมีเรื่องเดียวกันเหล่านี้อยู่ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราเลี่ยงไม่ได้หากเราต้องการจะปรับตัวให้ทันกับพลวัตรของเศรษฐกิจโลก เราก็ต้องให้ความสำคัญกับการปรับตัวที่เหมาะสมและจำเป็น ขณะเดียวกันก็ต้องมีการเยียวยาช่วยเหลือให้คนที่ได้รับผลกระทบและมีแผนที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถให้ภาคส่วนต่างๆ ในระยะยาวควบคู่กันไป

 

 

ที่สำคัญสิ่งที่ กนศ.จะเสนอให้ ครม.พิจารณาจะเป็นเพียงการตัดสินใจว่าไทยควรจะไปขอเจรจาเข้าร่วมซีพีทีพีพีหรือไม่ ซึ่งถือเป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น ยังมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการอีกมาก และเมื่อได้ผลการเจรจาเป็นประการใด จะต้องนำผลการเจรจาเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอรับความเห็นชอบก่อน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลาเป็นปี ซีพีทีพีพีจะไม่มีผลผูกพันไทยจนกว่ารัฐสภาจะให้ความเห็นชอบ และไทยยื่นภาคยานุวัติสารเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงในท้ายที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง