รีเซต

มาตามนัด! สดร.เผยภาพ "ดาวหางนีโอไวส์" ที่เชียงใหม่

มาตามนัด! สดร.เผยภาพ "ดาวหางนีโอไวส์" ที่เชียงใหม่
TNN ช่อง16
23 กรกฎาคม 2563 ( 13:33 )
111
มาตามนัด! สดร.เผยภาพ "ดาวหางนีโอไวส์" ที่เชียงใหม่

วันนี้ (23 ก.ค.63) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เผยภาพ "ดาวหางนีโอไวส์" หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) ที่จะปรากฏในช่วงหัวค่ำ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อเย็นวานนี้ ขณะที่เย็นวันนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งวันที่มีโอกาสเก็บภาพดาวหางดวงนี้ก่อนที่ความสว่างจะเริ่มลดลงและแสงดวงจันทร์จะเริ่มสว่างรบกวน 


ทั้งนี้ "ดาวหางนีโอไวส์" หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) เป็นดาวหางคาบยาว จากข้อมูลล่าสุดพบว่าโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 6,767 ปี ค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer : WISE) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด ในโครงการสำรวจประชากรดาวเคราะห์น้อยและวัตถุใกล้โลก ถูกค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 เคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ระยะห่าง 43 ล้านกิโลเมตร และจะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกที่สุด ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 103 ล้านกิโลเมตร


สำหรับประเทศไทย ในช่วงครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม 2563 ดาวหางนีโอไวส์ จะปรากฏในช่วงรุ่งเช้า ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ตำแหน่งใกล้ขอบฟ้ามาก และยังเพิ่งโคจรผ่านจุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด จึงถูกแสงอาทิตย์กลบ สังเกตได้ค่อนข้างยาก

แต่ในช่วงครึ่งหลัง ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป จะดาวหางนีโอไวส์จะเปลี่ยนมาปรากฏในช่วงหัวค่ำ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และความสว่างจะลดลงเรื่อยๆ แต่ยังคงสว่างในระดับที่ยังสามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่า จึงเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้ยลโฉมและบันทึกภาพความสวยงามของดาวหางดวงนี้


ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ ประมาณวันที่ 18-22 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากดาวหางเคลื่อนที่ห่างจากดวงอาทิตย์พอสมควรแล้ว และคาดว่าจะมีค่าอันดับความสว่างปรากฏประมาณ 5 แม้เป็นช่วงแสงสนธยาก็มีโอกาสที่จะมองเห็นดาวหางดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่า หากท้องฟ้าบริเวณขอบฟ้าใสเคลียร์


ส่วนวันที่ 23 กรกฎาคม เป็นช่วงที่ดาวหางเข้าใกล้โลกที่สุด สามารถสังเกตได้ตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตก ถึงประมาณสามทุ่ม หากฟ้าใส ไร้เมฆ สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า คืนดังกล่าวตรงกับคืนดวงจันทร์ขึ้น 2 ค่ำ อาจมีแสงจันทร์รบกวนเล็กน้อย

ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝนที่มีเมฆมาก บริเวณใกล้ขอบฟ้ามีเมฆปกคลุมค่อนข้างหนา จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการสังเกตการณ์ดาวหางดังกล่าว และหลังจากนั้นความสว่างจะลดลงเรื่อย ๆ จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้

เทคนิคและวิธีตามล่าดาวหางดวงนี้ ทั้งการหาตำแหน่ง และเทคนิคการถ่ายภาพดาวหางเบื้องต้น โดย อ.แจ็ค ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ตามไปอ่านกันได้เลยที่ http://www.narit.or.th/…/astro-ph…/1200-neowise-photo-artcle


ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง