รีเซต

สทนช.จัดสรรงบแก้ภัยแล้งโปร่งใส เร่งช่วยตามความจำเป็นเร่งด่วน

สทนช.จัดสรรงบแก้ภัยแล้งโปร่งใส เร่งช่วยตามความจำเป็นเร่งด่วน
TNN ช่อง16
13 พฤษภาคม 2563 ( 11:28 )
142
สทนช.จัดสรรงบแก้ภัยแล้งโปร่งใส เร่งช่วยตามความจำเป็นเร่งด่วน
 
วันนี้ (13พ.ค.63) ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ชี้แจงกรณีสื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณแก้ภัยแล้งไม่โปร่งใส ว่า สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์น้ำต้นทุน คาดการณ์สถานการณ์ เพื่อวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำและให้ความช่วยเหลือประชาชนในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 พบว่า มีพื้นที่เฝ้าระวังที่อาจเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในเขตการประปา จำนวน 31 จังหวัด และนอกเขตการประปา จำนวน 38 จังหวัด และพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร ในเขตชลประทาน จำนวน 36 จังหวัด และนอกเขตชลประทาน จำนวน 20 จังหวัด และเพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและทำให้การบริหารจัดการน้ำสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
 
 
รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขึ้นเพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงาน โดยได้เสนอรัฐบาลสนับสนุนงบกลางช่วยเหลือภัยแล้ง ปี 2563 ใน 3 ส่วนหลัก คือ โครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63  มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก โดยมอบหมายให้การประปาส่วนภูมิภาค สำรวจพื้นที่เสี่ยงในเขตประปา
 
 
ส่วนนอกเขตการประปา สำรวจโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งได้จัดทำแผนและมาตรการเสนอ ครม. และ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 63 อนุมัติงบประมาณ รวม 2,041 โครงการ วงเงิน 3,079 ล้านบาท ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วจำนวน 1,434 โครงการ วงเงิน 2,280 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 747 โครงการ ประกอบด้วย โครงการขุดเจาะบ่อบาดาล 725 แห่ง จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน 2 แห่ง วางท่อน้ำดิบ 11 แห่ง และสถานีสูบน้ำ 9 แห่ง ได้ปริมาณน้ำบาดาลเพิ่ม 38.74 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 123,495 ครัวเรือน เพิ่มปริมาณน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาได้ 60.38 ล้าน ลบ.ม. ผู้ใช้น้ำประปา 58,567 ราย มีน้ำประปาสำรอง 0.20 ล้าน ลบ.ม.
 
 
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจภาคสนามเพิ่มเติม พบว่า นอกจากพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคแล้วยังมีพื้นที่นอกเขตชลประทานที่เป็นพื้นที่ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นเสี่ยงขาดแคลนน้ำขั้นรุนแรง ยืนต้นตาย จำนวน 0.37 ล้านไร่ ในพื้นที่ 30 จังหวัด จึงได้จัดทำแผนและมาตรการเสนอ ครม. และ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 17 มี.ค.63 อนุมัติงบกลางเพื่อจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 (เพิ่มเติม) รวม 166 โครงการ วงเงิน 622.43 ล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว 132 โครงการ วงเงิน 560.32 ล้านบาท ได้แก่ ขุดเจาะบ่อบาดาล 132 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง  ในขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมพื้นที่เก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูแล้งให้สามารถเก็บกักน้ำในฤดูฝนที่จะถึง
 
 
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติจึงได้จัดทำเกณฑ์ในพิจารณาคัดกรองแผนงาน/โครงการตามลำดับความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่มีความพร้อมสามารถจะดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ภายใต้ โครงการเร่งด่วนเพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝน ปี 2563 รวม 6,640 โครงการ วงเงิน 3,746 ล้านบาท  ซึ่งครม.มีมติอนุมัติในวันเดียวกัน ปัจจุบันได้รับงบประมาณแล้ว 439 โครงการ วงเงิน 3,403 ล้านบาท ดำเนินการแล้ว 75 โครงการ ได้แก่ ฟื้นฟูแหล่งน้ำเดิม 64 แห่ง ก่อสร้างแหล่งน้ำใหม่ 9 แห่ง เชื่อมโยงแหล่งน้ำ 1 แห่ง ก่อสร้างแหล่งน้ำพร้อมระบบ 1 แห่ง เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 24.72 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 69,062 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 31,958 ครัวเรือน
 

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เสนอขอรับงบประมาณจะต้องจัดทำรายละเอียดโครงการที่สามารถแสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างชัดเจน และโครงการที่ผ่านหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะต้องผ่านกระบวนการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติจะได้ติดตามตรวจสอบผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป  เลขาธิการ สทนช. กล่าว
 
 
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง