รีเซต

หมอเคลียร์ชัด เหตุ 'น้าค่อม' ทรุดเร็ว รักษา 19 วันแต่ทำไม่เชื้อโควิดยังอยู่

หมอเคลียร์ชัด เหตุ 'น้าค่อม' ทรุดเร็ว รักษา 19 วันแต่ทำไม่เชื้อโควิดยังอยู่
มติชน
30 เมษายน 2564 ( 18:05 )
100
หมอเคลียร์ชัด เหตุ 'น้าค่อม' ทรุดเร็ว รักษา 19 วันแต่ทำไม่เชื้อโควิดยังอยู่

แพทย์เคลียร์ สาเหตุ ‘น้าค่อม’ ทรุดเร็วจนเสียชีวิต รักษา 19 วัน แต่ทำไมเชื้อโควิดยังอยู่  ชี้ร่างกายอ่อนแอ สู้โรคไม่ดีเท่าหนุ่มสาว

 

รายการโหนกระแสวันที่ 30 เม.ย. 64 “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ “รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์” ที่ปรึกษากรมการแพทย์และกรมควบคุมโรค มาให้ความรู้ว่าทำไม “น้าค่อม ชวนชื่น” ตลกชื่อดังถึงทรุดเร็วจนเสียชีวิต และเกิดอะไรขึ้น เชื้อรุนแรงขึ้นหรือยังไง

 

ได้ทราบข่าวแล้วตกใจมั้ย?
“ก็ตกใจ ย้อนกลับไปถึงวันสงกรานต์ จำได้ว่าที่เราคุยกันกับน้าค่อม ก่อนอื่นขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและญาติพี่น้องของน้าค่อมด้วย และขอบคุณน้าค่อมที่ได้สร้างความสุขให้พวกเรามาโดยตลอด

 

“ผมจำได้ว่าวันนั้นวันที่ 13 เม.ย. น้าค่อมก็ยังเตือนตอนสุดท้ายว่าโปรดระวังตัวหน่อยนะ อย่าเดินทางมาก ขอบคุณน้าค่อมที่ยังเตือนพวกเราอยู่ตลอด ก็เป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ครับ เพราะโรคนี้เป็นโรคระบาดโรคใหม่”

 

วันนั้นมีโอกาสสัมภาษณ์น้าค่อม ต่อหน้าอาจารย์ ตอนนั้นอาการไม่มีอะไร ไม่มีไอ ไม่มีไข้ อาจารย์ยังพูดว่าถ้า 7 วันไม่ทรุดลงก็น่าจะโอเค แต่อันนี้ดูแล้วเป็นยังไง?
“ส่วนใหญ่อาการของโรคที่จะรุนแรงหรือเป็นมากก็จะโผล่ขึ้นมาภายใน 7 วัน โอกาสที่เชื้อพอเลย 7 วันมีโอกาสรุนแรงได้ แต่น้อยกว่า วันนั้นที่สัมภาษณ์น้าค่อมเป็นมา 3 วัน หลังจากนั้นอีก 3-4 วันแกก็ทรุดลง”

 

ไล่ไทม์ไลน์น้าค่อมจริงๆ วันที่ 11 น้าค่อมไปตรวจหาเชื้อ 12 เม.ย. ทราบผมยืนยันว่าติดเชื้อ เข้า รพ. วันที่ 13 เม.ย. คุยกับเราตอนอยู่ รพ. ถ้าย้อนกลับไป เขาเจอคุณบอลในวันที่ 6-7 ได้รับเชื้อมา 5 วัน แล้วไปตรวจหาเชื้อวันที่ 11 วันที่ 12 ได้รับการยืนยัน แสดงว่ารับมาแล้ว 5 วัน วันที่ 13 ที่เราคุยกัน แกยังไม่มีอาการเลย ต้องนับจากวันไหน?


“ต้องนับจากวันที่ตรวจเชื้อเจอคือวันที่ 11 และทรุดเข้าไอซียูวันที่ 17 ห่างกันประมาณ 6 วัน อันนี้เป็นข้อมูลทางการแพทย์ เวลาจะดูว่าคนไข้จะหนักจะทรุดอยู่ตรงนี้ วันนั้นผมยังพูดถ้าหลัง 7 วันสบายดี โอกาสที่จะสบายดีจะเยอะ แต่สังเกตดูนะ วันที่ 17 เข้าไอซียู 18 แกมีอาการเหนื่อย แล้วโรคนี้เป็นโรคที่ทางการแพทย์ หมอไอซียูต้องจับนอนคว่ำนะ ใส่ท่อช่วยหายใจ ทุกข์ทรมานมาก”

 

ตอนน้าค่อมย้ายจาก รพ.สินแพทย์ ไปวิภาราม น้าค่อมเริ่มเหนื่อย หายใจลำบาก รพ.ตอนแรกให้ออกซิเจนที่จมูกเฉยๆ แต่สุดท้ายไม่ไหว เลยใส่ท่อไปที่ปอดเพื่อพยุงปอด ตรงนั้นเกิดอะไรขึ้น ทำไมต้องใส่ลงไปที่ปอด?


“ถ้าให้ออกซิเจนดมทางจมูกแล้ว เขาจะมีการตรวจวัดค่าออกซิเจนในเลือดตลอด และดูอาการด้วย ถ้าค่าออกซิเจนในเลือดไม่ดี มีอาการเหนื่อย อันนี้ไม่ดี จำเป็นต้องใส่ท่อแล้ว การใส่ท่อเห็นการตัดสินใจของแพทย์ที่ดูแลคนไข้ทางด้านปอด”

 

อันนี้ถือว่ารุนแรงหรือยัง?
“รุนแรงแล้วครับ เป็นสัญญาณเตือนแล้ว”

 

 

เพราะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว?
“ถูกต้องครับ ภาวะหายใจล้มเหลวจะมีการตรวจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นออกซิเจนในเลือดต่ำ ระบบการหายใจ หายใจกี่ครั้ง ถี่แค่ไหน คนไข้ต้องใช้แรงเบ่งมากน้อยแค่ไหน เราถือว่าเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ”

 

หลังจากนั้นน้าค่อมปอดแฟบ เป็นภาวะเดียวกันมั้ย?
“ปอดแฟบต้องดูว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แต่ส่วนใหญ่เสมหะไปอุด จะแฟบชั่วคราว เราต้องดูดเสมหะออกมา ปอดก็ขยายได้ แต่ปอดที่เป็นฝ้า เป็นเพราะเชื้อโรคพอลงไปในปอด ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง มันก็ไปดึงพวกเซลล์น้ำเหลืองมาชุมนุมอยู่ตรงนั้น เลยเกิดเป็นรอยฝ้าขึ้น รอยฝ้าขึ้นจะทำให้การเปลี่ยนแปลงออกซิเจนในปอดไม่ได้

 

“พูดง่ายๆ ว่าเนื้อตรงปอดตรงนั้นทำงานไม่ได้ นี่คือต้องมีการนอนคว่ำเพื่อเอาส่วนที่เป็นเนื้อปอดที่ไม่ค่อยทำงาน ให้ยกอยู่ข้างบน ข้างล่างลมจะได้เข้าไปแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ดีขึ้น”

 

ความทรมาน?
“ทรมานมาก แต่ผมไม่เคยใส่นะ แต่ดูจากภาพแล้วคนไข้บ่นทรมานมาก หลายคนที่เป็นหมอไอซียูเขามักต้องน็อกคนไข้ ให้ยานอนหลับแล้วน็อกเลย เพื่อไม่ให้เจ็บดิ้นรน เจ็บหรือรำคาญก็ปนๆ อยู่ในนั้น

 

“เผื่อใครถึงขั้นต้องเข้าไอซียูแล้ว เรียนให้ทราบว่าเป็นเรื่องใหญ่ น้าค่อมเป็นตัวอย่างชัดเจนว่าผู้ที่มีอาการรุนแรง โรครุนแรง จะถึงจุดนี้มากกว่า แต่คนแข็งแรงดี เป็นหนุ่มสาวก็มีโอกาสเป็นได้ อันนี้ก็แล้วแต่แต่ละคน ที่ภูมิต้านทานแต่ละคนตอบไม่ได้”

 

สมัยก่อนเราเชื่อว่าโควิดจะเล่นงานเฉพาะคนสูงอายุมีโรคประจำตัว แต่วันนี้เห็นเลยว่าอายุ 24 มีภาวะแค่เป็นภูมิแพ้ ก็เสียชีวิตเหมือนกัน เชื้อมันแรงมากขึ้นหรือยังไง?

“หลังจากที่มีเชื้อเก่า ที่เราผ่านระลอกหนึ่ง ระลอกสองมาแล้ว เชื้อใหม่คือสายพันธุ์อังกฤษ เรารู้เลยว่าสิ่งที่ตอบได้คือระบาดกว้างขวางมากขึ้น เร็วขึ้น สองคือเชื้อตอนแรกรุนแรงจริงหรือเปล่า สุดท้ายพบว่าน่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น เจอปอดอักเสบ ปอดบวมมากขึ้น

 

“อีกอย่างคือเราจะเห็นว่าการระบาดระลอกสามมาจากหนุ่มสาว เขาเอาเชื้อไปในครอบครัว ครั้งนี้เราจะเห็นเด็กที่เป็นโควิดสูงขึ้น คนแก่ก็เป็นมากขึ้น เพราะเด็กกับคนแก่อยู่ในบ้าน หนุ่มสาวเอาเชื้อไปสู่ในครอบครัว ขอเตือนนิดนึงว่าอันตรายมาก ทั้งกลุ่มเด็กและคนแก่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก”

 

ตอนแรกน้าค่อมมีภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว ปอดแฟบ ต้องใส่ท่อลงไปในปากไปพยุงปอด ทุกคนภาวนาขอให้ดีขึ้นแต่ไม่เป็นแบบนั้น อีกวันถัดมา น้าค่อมไตวาย ทำไมเกิดภาวะนี้ได้?


“เมื่อไหร่ที่ร่างกายมีการอักเสบ เมื่อมีเชื้อปั๊บร่างกายจะมีการตอบโต้ด้วยกระบวนการทางร่างกาย ทำให้ร่างกายอักเสบ และมีผลต่อทุกอวัยวะของร่างกาย ไตก็เป็นส่วนหนึ่ง เมื่อไตอักเสบ เลือดส่งไปเลี้ยงที่ไตน้อยลง ก็มีโอกาสเกิดไตวายได้ อันนี้เป็นผลข้างเคียงที่ตามมา จากการที่ปอดไม่ค่อยทำงานแล้ว ก็จะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น

 

“ผมไม่เห็นข้อมูลนะ แต่พอคาดการณ์ได้ว่าเป็นไตวายเฉียบพลันจากภาวะการติดเชื้อที่รุนแรงมาก ร่างกายผลิตสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบออกมา และมันจะไปทุกแห่ง อันนี้เป็นจุดอ่อนอันนึงที่จะทำให้มีโอกาสทำให้เป็นไตวาย ไตวายก็พยุงโดยการฟอกเลือด ฟอกไต”

 

ช่วงที่กำลังสัมภาษณ์ ศพน้าค่อมกำลังเคลื่อนย้ายไปที่วัด แล้วมีการฌาปนกิจน้าค่อมในวันนี้เลย เวลา 15.00 น. วิธีการคือนำร่างน้าค่อมเข้าไปสู่เมรุ มีการทอดผ้า มีพระสัก 4 รูป สวดอภิธรรมให้น้าค่อม และนำน้าค่อมเข้าไปสู่ภายในเมรุ หลังจากนั้นน่าจะมีการเก็บอัฐิในวันนี้ และจะมีการทำบุญอีกครั้ง สิ่งหนึ่งซึ่งตกใจมาก ปกติคนรักษาโควิดประมาณ 14 วันรับยาไปแล้ว ถ้าไม่มีอาการหนักจะทุเลาและดีขึ้น แต่ที่แน่ๆ เชื้อโควิดน่าจะหายไปใน 14 วัน แต่น้าค่อม 19 วัน เอาแค่เข้า รพ.วันที่ 12 จนวันนี้ 19 วัน ทำไมยังมีเชื้อโควิดอยู่?


“ปกติ 14 วันร่างกายต่อสู้ได้หมด คิดว่าปัญหาคือหนึ่งถ้าร่างกายอ่อนแอ จะสู้ไม่ดีเท่าคนหนุ่มสาว มันถึงพัฒนากลายเป็นโรคที่รุนแรง สองช่วงที่ปอดอักเสบรุนแรง ออกซิเจนในปอดต่ำลง ทางการแพทย์จะใช้ยาตัวนึง เป็นยาสเตียรอยด์ เพื่อลดอัตราการอักเสบ ถ้าปล่อยให้อักเสบมาก ปอดจะเป็นฝ้าเต็มไปหมดจนเสียชีวิต สเตียรอยด์ตัวนี้

 

“นอกจากลดการอักเสบ ข้อเสียอีกอันคือจะทำให้เชื้ออยู่ได้นานขึ้น ไม่ว่าจะเชื้อไวรัสโควิดหรือแบคทีเรีย ผลของน้าค่อมที่ช่วงหลังที่เป็นรุนแรง จนกระทั่งไตวาย เลือดเป็นกรดอะไรต่างๆ ปอดเป็นฝ้า เกิดจากเชื้อก่อให้เกิดการอักเสบที่รุนแรงมาก”

 

ค่าเหลืองในตับสูงมาก หลังย้าย รพ. หมอฟอกเลือดตลอด 24 ชม. ให้ยาทุกสิ่งทุกอย่าง หลังจากนั้นเห็นว่าเจอเชื้อแบคทีเรีย โควิดก็อยู่ที่ปอด แบคทีเรียก็อยู่ที่ปอด มันมีผลในทางนี้มั้ย?
“เรื่องของเรื่อง เชื้อแบคทีเรียเป็นเชื้อที่อยู่ในสิ่งที่แวดล้อม อยู่ในที่ไหนก็ได้ ในคอน้าค่อมก็มี ในลำไส้ของแกก็มี เชื้อตัวนี้จะออกมาจู่โจม ในเวลาที่ร่างกายอ่อนแอมากๆ มันจะมาแล้ว และก่อปัญหา เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ร่างกายอ่อนแอมากๆ เมื่อไหร่ มันก็มา

 

“หลายๆ ท่านที่อยู่ในไอซียูนานๆ เราจะเห็นว่ามันมีปัญหาเรื่องการใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ตัวแล้วตัวเล่า ถ้าโชคไม่ดี ไปเจอตัวที่ดื้อมากๆ เกือบไม่มียารักษา เพราะตัวแบคทีเรียพัฒนาการดื้อยาไปมากขึ้นเรื่อยๆ”

 

คุณหมอแจ้งกับครอบครัวว่าทำทุกวิถีทาง ให้ยาทุกตัว เครื่องมือเต็มที่ช่วยกู้น้าค่อมกลับมา จน 6 โมงเย็นมีการแจ้งกับครอบครัวว่าน้าค่อมไม่ไหว อาการหนัก อาจจะยื้อไว้ไม่ได้ เรื่องนี้เป็นมาตั้งแต่ตอนไหน ที่พอประมวลได้ ตอนไตวายหรือเปล่า?


“แพทย์ที่ดูแลในไอซียูก็เป็นแพทย์ชุดเดิมๆ คนเดิมๆ เขารู้หมดเลย ตอนนี้เดินมาถึงจุดไหนแล้ว พอเดินถึงจุดไหนปั๊บต้องพยายามติดต่อกับญาติคุยตลอด ตอนนี้มีหวัง ตอนนี้เริ่มแย่ ต้องเข้าใจนะ ข้อมูลที่คุณหนุ่มให้มา หนึ่งไตวาย ค่าตับเสียไปมาก”

 

 

ค่าเหลืองคืออะไร?
“คือตับ ที่จัดการกับพวกน้ำดีอะไรต่างๆ ฉะนั้น พอจัดการไม่ได้ตับวาย ไม่ใช่แค่ไตวายอย่างเดียว ตับก็วายด้วย ค่าเหลืองคือตับทำงานไม่ได้ อันนี้น่าจะเป็นไตวาย ตับวาย ปอดก็วาย เขาถึงใส่ท่อช่วยหายใจ ฉะนั้นแพทย์ผู้ดูแล ผมเชื่อว่าเขาดูแลเกี่ยวกับคนไข้วิกฤตที่อยู่ในไอซียูแบบนี้ทั้งหมด

 

“ดังนั้น เรียนได้เลยว่าเต็มที่แล้ว ผมก็เชื่อว่าตอนก่อนมีอาการหนัก แพทย์อาจมีการให้ข้อมูล แสดงว่าหัวใจอาจหล่อเลี้ยงได้ด้วยยา จนวันนึงหัวใจไม่ตอบสนองต่อยาที่ทำให้หัวใจเต้น ก็เริ่มแย่ลง ปอดก็ลง ตับก็ลง ทุกอย่างจู่โจมไปหมด”

 

โควิดไม่ได้จู่โจมแค่ปอดเหรอ ตับไตก็ไปด้วย?
“น้อยครับ ส่วนใหญ่ตับไตที่ไป เป็นผลจากการอักเสบ อักเสบเริ่มต้นคือทางเดินหายใจ”

 

มันไปซ่อนตามสมองได้มั้ย?
“โรคนี้เพิ่งเกิดขึ้นปีกว่าเท่านั้น แต่ถามว่าไปที่ตับ เส้นเลือดได้มั้ย ได้หมด ในคนที่ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อได้ มันก็จะไปหมด แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดน่าจะเกิดจากการอักเสบ เวลาเชื้อเข้าร่างกายมนุษย์ ไม่ว่าอ่อนแอแค่ไหน ก็จะมีการอักเสบ การอักเสบบางคนก็ก่อผลร้ายต่อร่างกาย อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง ทำให้มีอาการตับวาย ไตวาย ทางเดินหายใจวายด้วย อันนี้เรื่องใหญ่”

 

น้าค่อมเคลื่อนศพไปฌาปนกิจ จริงๆ แล้วจำเป็นต้องเผาวันนี้?
“จริงๆ ต้องทำความเข้าใจว่า ศพผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ ทางการแพทย์เราเขียนแนวทางไว้แล้วว่าวิธีจัดการศพเราทำยังไง แน่นอน คนที่แพทย์พยาบาลที่ดูแลก่อนเสียชีวิต นั่นคือเสี่ยงที่สุด ศพเหล่านี้ก่อนมีการบรรจุใส่โลง ต้องมีการพ่นยา ใส่ถุงซิปล็อก 3 ชั้น แต่ละชั้นก็มีการพ่นยาฆ่าเชื้อทุกชั้น ฉะนั้นอันนี้มั่นใจว่าศพจะไม่สามารถแพร่เชื้อได้

 

“และศพเหล่านี้คำแนะนำทางการแพทย์คือ หนึ่ง เวลาญาติโยมต่างๆ ขอความกรุณาอย่าเปิดศพดูหน้า เพราะว่ามีโอกาสเชื้อแพร่ได้ จริงๆ เขามีซีลไว้หมดแล้ว เรียบร้อย ผมก็คิดว่าการแพร่เชื้อจากศพที่อยู่ในโลง โอกาสมันเกือบศูนย์เปอร์เซ็นต์”

 

เพราะศพหายใจไม่ได้ พ่นละอองออกมาไม่ได้ แต่สารคัดหลั่งติดอยู่ตามตัวได้?
“ใช่ เรียนให้ทราบว่าโรคนี้มาจากทางเดินหายใจ ฉะนั้น ศพไม่สามารถสั่งน้ำมูกได้ ไม่สามารถไอได้ โอกาสแพร่เชื้อเป็นศูนย์เลย”

 

จำเป็นต้องเผาในวันเดียวมั้ย เพราะตามวัดทุกวัดที่ทราบ ศพต้องเผาเลย?
“จริงๆ สวดแล้วเผา ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์ แต่เป็นเรื่องของทางสังคม ที่บอกว่ารีบๆ เผาไปเถอะ เราจะเห็นว่าศพพวกนี้ส่วนใหญ่ก็เผาเลย จริงๆ สวดก็ได้ เพราะศพไม่ได้แพร่ไปไหน แต่ญาติโยม พระสงฆ์องค์เจ้าไม่ค่อยไว้ใจ

 

“เรียนให้ทราบว่าไว้ใจได้ เพราะเชื้ออยู่ในร่างกายศพ มีการซีล คลุม 3-4 ชั้่น เป็นไปไม่ได้ที่จะแพร่ออกมา ยกเว้นท่านไปเปิด เราถึงแนะนำไม่ให้เปิดโดยเด็ดขาด”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง