คาดน้ำท่วม เสียหาย 1.5 หมื่นล้าน ชี้กินเจปีนี้กร่อยหนัก จากพิษโควิด
ข่าววันนี้ 1 ต.ค.2564 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวถึงการสำรวจสถานการณ์น้ำท่วมจากประธานหอการค้า รองประธานหอการค้า ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม 36 จังหวัดพบว่า ประชาชนได้รับผลกระทบ 227,470 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายไปแล้ว 13 จังหวัด โดยน้ำท่วมได้ส่งผลกระต่อบ้านเรือน ถนนหนทางและอื่นๆ กระทบด้านการเกษตร พืช ปศุสัตว์ การค้า โดยผลกระทบเหล่านี้ความเสียหายน่าจะมีมูลค่ากว่า 15,036 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.1-0.2 % ของจีดีพี
อย่างไรก็ดีสถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ยังไม่รุนแรงเท่ากับน้ำท่วมในปี 2554 ที่กระทบต่อภาคเศรษฐกิจทั้งโรงงาน อุตสาหกรรม ระบบขนส่ง และคาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายได้ในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ทางศูนย์ได้สำรวจผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจ ระหว่างวันที่ 4-13 ต.ค. จากตัวอย่างทั้งสิ้น 1,208 ตัวอย่างทั่วประเทศว่า ว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจโดยรวมมีปัญหา ทำให้เทศกาลกินเจในปีนี้ไม่คึกคัก
โดยให้มียอดการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลเจอยู่ที่ 40,147 ล้านบาท ขยายตัวติดลบ 14.5 % เมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจในปี 2563 ที่มีมูลค่า 46,967 ล้านบาท ถือว่าเทศกาลกินเจในปีนี้ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 ที่มีการสำรวจมา จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจในหลายๆด้านอยู่ในขณะนี้
สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ 81.9 % มาจากรายได้ประจำ รองลงมาจากเงินช่วยเหลือของภาครัฐ 7.7 % เงินออม 4.5 % ขณะที่รายได้พิเศษ 3.4 % ลดลงมากเมื่อเทียบกับปี63 ที่อยู่7.2 %
ทั้งนี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยยังได้สำรวจทัศนะทั่วไปเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและจะฟื้นตัวได้อย่างปกติในครึ่งหลังปี 2565 ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ที่ลดลง แต่หนี้สินเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามก็เชื่อว่า สถานการณ์จะดีขึ้นจากรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจเริ่มคึกคัก ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็นแต่ยังคงมีความเป็นห่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ยังไม่กล้าที่จะเดินทางท่องเที่ยวแบบทั้งไป-กลับ และแบบค้างคืน รวมทั้งการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านน้อย
ส่วนการเปิดประเทศนั้นอยากให้เปิดประเทศเพราะจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นแต่ก็กลัวว่าจะมีการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่
สำหรับสิ่งที่ที่ประชาชนต้องการให้ภาครัฐเร่งดำเนินการหลังจากนี้ คือ เร่งการฉีดวัคซีนประชาชนที่เหลือให้มากขึ้น พร้อมเร่งหามาตรการช่วยเหลือภาคประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆอย่างต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการต้องการเงินเยียวยาต่ออีกและกระจายผู้ที่ได้รับมากขึ้น หาแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ กระตุ้นการลงทุน แก้ไขปัญหาค่าครองชีพ
โดยในช่วงไตรมาสที่ 4 ยังคงมีความจำเป็นเพื่อที่จะให้มีเม็ดเงินเข้าไปประคับประคองเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการอัดฉีดเม็ดเงินในโครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน ทั้งนี้ศูนย์ฯมองว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโต 1 %