รีเซต

วิกฤตการเมืองเมียนมา ที่ค่อย ๆ ซึมเข้ามาพรมแดนไทย

วิกฤตการเมืองเมียนมา ที่ค่อย ๆ ซึมเข้ามาพรมแดนไทย
TNN World
31 มีนาคม 2564 ( 08:23 )
130
วิกฤตการเมืองเมียนมา ที่ค่อย ๆ ซึมเข้ามาพรมแดนไทย

 

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณพรมแดนระหว่างไทยและเมียนมา กำลังอยู่ในภาวะเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะการต่อสู้ระหว่างกองทัพเมียนมาและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อย อาจลุกลามมาถึงพวกเขาได้

 

กะเหรี่ยงทะลัก...แม่น้ำสาละวิน

 

ตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวกะเหรี่ยงหลายพันคน หนีตายจากฝั่งเมียนมา เข้ามาในพรมแดนประเทศไทย บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังกองทัพเมียนมาส่งเครื่องบินรบโจมตีทางอากาศหมู่บ้านของพวกเขา เพื่อปราบปรามกลุ่มติดอาวุธชาวกะเหรี่ยง KNU

 

 

ชาวบ้านในฝั่งไทย รับรู้ถึงสถานการณ์ที่น่าวิตก ต่างพากันปิดบ้านและร้านค้า เหลือเพียงไม่กี่คนที่ยังเปิดร้านอยู่ รวมถึง ‘จุ๋ม’

 

 

“ถ้าเกิดเหตุการณ์ เราก็หิ้วกระเป๋าวิ่งหนีอย่างเดียวล่ะค่ะ” จุ๋ม แม่ค้าร้านอาหารชาวไทย บอกกับสำนักข่าว Reuters

 

 

“ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ ทางอำเภอก็ลงมาสอนให้ชาวบ้าน ต้องเตรียมตัวยังไง ต้องวิ่งยังไง”

 

 

ชายแดนคุกรุ่นมาพักหนึ่งแล้ว

 

 

อันที่จริง สถานการณ์พรมแดนไทยคุกรุ่นมาพักหนึ่งแล้ว นับแต่มีประเด็นว่า กองทัพไทยอาจสนับสนุนข้าวสารให้กองทัพเมียนมา ผ่านพ่อค้าท้องถิ่น หลังพบข้าวสาร 700 กระสอบถูกส่งไปเมียนมาจากไทย

 

 

ภายหลัง กองทัพไทยปฏิเสธข้อกล่าวหา ชี้แจงว่าเป็นการค้าขายตามปกติเท่านั้น

 


สำนักข่าวของไทยหลายแห่งยังรายงานว่า กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU ได้เข้าจู่โจมตัดเส้นทางขนส่งเสบียงกองทัพเมียนมา ใกล้กับพรมแดนไทย ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น

 

 

หวั่นกองทัพฉวยโอกาส

 

 

ความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับแต่การก่อรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการประท้วงใหญ่นานหลายสัปดาห์ติดกัน ตามมาด้วยการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุม จนทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสม สูงกว่า 510 คนแล้ว

 


เหล่าผู้ชุมนุมพยายามเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ เข้ามาแทรกแซงและสู้รบกับกองทัพเมียนมาแบบเต็มตัว

 

 

“เรายังดูเชิงอยู่ เพราะกำลังดูสถานการณ์” ขุ่ อุ เรห์ รองประธาน พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง ชี้แจงว่า พวกเขาไม่อยากเป็นข้ออ้างให้กองทัพเมียนมา เข่นฆ่าประชาชนแบบเต็มตัว

 

 

“เราเป็นองค์กรติดอาวุธ ถ้าเรากระโดดลงไปคุ้มครองผู้ชุมนุมระหว่างการประท้วง ตำรวจและทหารอาจฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ได้” 

 

 

ชาวรัฐฉานลงขบวนกับผู้ชุมนุม

 

 

แต่สำหรับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์อีกกลุ่ม คือ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน หรือ RCSS ประกาศชัดเจนว่า สนับสนุนผู้ชุมนุม และเรียกร้องให้กองกำลังกลุ่มอื่น ๆ ทำตามเช่นกัน

 

 

“ถ้าเขามีอุดมการณ์ ปกป้องประชาชนของเขา มีอุดมการณ์ปกป้องประเทศของเขา เขาน่าจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้แล้ว ยังไงกลุ่มชาติพันธุ์ของเราทุกกลุ่ม ศัตรูเป็นคนเดียวกัน เราก็ต้องมาร่วมกัน” เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน กล่าวกับ Reuters

 

 

“ที่นานาประเทศมองเห็นกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มต่อสู้ว่า กลุ่มต่อสู้นี้ไม่ยุติธรรม เป็นพ่อค้า ทำอย่างนี้ เป็นก่อการร้าย แต่ตอนนี้ กลุ่มชาติพันธุ์นี่แหละ กลุ่มปกป้องประชาชน กองทัพพม่านั่นแหละ ทำร้ายประชาชน”

 

 

“แม้ไม่ใช่ญาติ...ก็เป็นมนุษย์ร่วมโลก”

 

 

สำหรับชาวกะเหรี่ยงคอยาวอย่าง ซอว์ อุ หงอ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยแล้ว เธอเพียงหวังว่า สถานการณ์จะยุติ และผู้คนไม่ล้มตายรายวันแบบนี้ 

 


“เป็นห่วงมากค่ะ ส่วนมากญาติของเราจะอยู่ตรงรอยต่อพรมแดน ก็เป็นห่วงค่ะ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มาที่นี่ เพราะที่เมียนมาอันตรายมากอ่ะค่ะ”

 


“อยากให้สงบเร็ว ๆ นี้ค่ะ ถ้าเป็นไปได้ก็สงบเลยก็ดีค่ะ เพราะว่าคนก็ตายกันเยอะ ก็สงสารเขา บางคนอายุแค่ 6 ปี 7 ปี ก็เสียชีวิต ก็สงสารมากเลย ถึงแม้จะไม่ใช่ญาติเรา ก็เป็นมนุษย์ที่ร่วมโลก ดู ๆ ไปบางครั้งก็อยากร้องไห้ตาม”

 

 


เรื่อง: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ภาพ: AFP

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง