สายพันธุ์ใหม่ของโลก พบในไทยซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ร่วมกับ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทือบิงเกน ประเทศเยอรมนี นำโดย Dr.Gustavo Darlim และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าวผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ของ อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก “อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis) หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล”
นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ในฐานะโฆษกกรม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ , นายปรีชา สายทอง ผอ.กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ และดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าว ที่ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายฐิติพันธ์ กล่าวว่า กรมทรัพยากรธรณีได้รับแจ้งจากผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2548 ขอให้ไปตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ และทีมสำรวจได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2548 ที่เก็บรักษาไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอโนนสูง พบว่า เป็นกะโหลกสัตว์โบราณ 1 ชิ้น กรามสัตว์โบราณ 2 ชิ้น และกระดูกสัตว์โบราณ 5 ชิ้น
ซึ่งซากดึกดำบรรพ์กะโหลกอัลลิเกเตอร์ที่พบมีสภาพเกือบสมบูรณ์ในชั้นตะกอนทรายลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 2 เมตรคาดว่า มีอายุในช่วงไม่เกินสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง หรือประมาณ 230,000 ปีก่อน หรืออาจมีอายุอ่อนกว่านั้น พบว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก ถูกศึกษาและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Scientific Reports
ทีมนักวิจัยได้ศึกษาตัวอย่างโดยเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่เคยศึกษามาก่อน 19 ตัวอย่าง ประกอบด้วยตัวอย่างชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 4 ชนิด และตัวอย่างในปัจจุบัน อีก 2 ชนิด คือ อัลลิเกเตอร์อเมริกา (Alligator mississippiensis) และอัลลิเกเตอร์จีน (Alligator sinensis)
โดยผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลกจากประเทศไทย ที่ถูกค้นพบที่บ้านสี่เหลี่ยม ตำบลใหม่ อำเภอโนนสูงจังหวัดนครราชสีมา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis) หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูลโดยตั้งชื่อตามแหล่งค้นพบใกล้กับแม่น้ำมูล(เมื่อวันที่ 18 ต.ค.66)
ภาพโดย: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์