อังกฤษขายอาวุธให้ซาอุดีอาระเบีย เยอะแค่ไหน และทำไมถึงกำลังเป็นประเด็นถกเถียง
อังกฤษขายอาวุธให้ซาอุดีอาระเบียเยอะแค่ไหน และทำไมถึงกำลังเป็นประเด็นถกเถียง - BBCไทย
ขณะสงครามในเยเมนดำเนินเข้าสู่ปีที่ 5 และมีพลเรือนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สหราชอาณาจักรโดนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการส่งออกอาวุธไปให้ซาอุดีอาระเบียมากขึ้นเรื่อย ๆ
3 ประเทศนี้เชื่อมโยงกันอย่างไร
ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นผู้นำการโจมตีทางอากาศไปยังกลุ่มติดอาวุธในเยเมน ประเทศเพื่อนบ้าน
ปีที่แล้ว สหราชอาณาจักรระบุในรายงานว่าตนเป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดยซาอุดีอาระเบียประเทศเดียวซื้อถึง 40% ของยอดขายสหราชอาณาจักรทั้งหมด
จากรายงานรัฐบาลสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2019 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นพันธมิตรซาอุดีอาระเบียในสงครามเยเมนด้วย ก็เป็นผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่เช่นกัน เท่ากับว่ามีสหรัฐฯ เท่านั้นที่เป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่กว่า
สถานการณ์ในเยเมน
นักเคลื่อนไหวและนักการเมืองฝ่ายค้านอังกฤษกำลังตั้งคำถามว่าธุรกิจมูลค่าหลายพันล้านปอนด์นี้ส่งผลอย่างไรต่อเยเมน ซึ่งสหประชาชาติบอกว่ากำลังเผชิญวิกฤตมนุษยธรรมที่ร้ายแรงที่สุด
สหประชาชาติบอกว่าถึงเดือน มี.ค. 2020 มีพลเรือนเยเมนเสียชีวิตอย่างน้อย 7.7 พันราย โดยส่วนใหญ่มาจากการโจมตีทางอากาศที่นำโดยกองทัพซาอุดีอาระเบีย
โครงการเก็บข้อมูลสถานที่และเหตุความขัดแย้งที่ใช้อาวุธ (Armed Conflict Location & Event Data Project) ในสหรัฐฯ บอกว่าถึงเดือน ต.ค. มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 แสนราย โดยในจำนวนนั้น พลเรือน 1.2 หมื่นคนเสียชีวิตจากการโจมตีโดยตรง
เด็กราว 2 ล้านคนมีภาวะขาดสารอาหารอย่างรุนแรง โดยมี 3.6 แสนคนที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ
- เยเมนเผชิญวิกฤตขาดแคลนอาหารครั้งเลวร้ายที่สุดในโลกในรอบ 100 ปี
- เมืองที่เต็มไปด้วยมือปืนซุ่มยิงในเยเมน
- อังกฤษขายอาวุธ-ยุทธภัณฑ์ให้ไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 7 เท่า ในสมัย คสช.
- ทำไมเราจึง "ด้านชา" ต่อตัวเลขคนตายจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด
รัฐบาลสหราชอาณาจักรว่าไง
เมื่อฤดูร้อนที่แล้ว ศาลมีคำสั่งให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรระงับส่งออกอาวุธให้ซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นชัยชนะสำคัญของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ดี เกือบปีผ่านไป รัฐบาลไปทบทวนใหม่และบอกว่าจะกลับไปส่งออกอาวุธให้ซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง
"ซาอุดีอาระเบียมีความตั้งใจจริงและความสามารถที่จะทำตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ" ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศสหราชอาณาจักร ระบุ โดยบอกว่ากรณีการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเป็นเหตุที่เกิดอย่างแยกออกจากเหตุอื่น ๆ ในบริบทและด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป
เอมิลี ธอร์นเบอร์รี โฆษกฝ่ายค้านด้านการค้าระหว่างประเทศจากพรรคเลเบอร์ บอกว่า การตัดสินใจของรัฐบาลไม่สามารถแก้ต่างได้เลยในเชิงศีลธรรม และเป็นการบ่อนทำลายคำกล่าวอ้างของสหราชอาณาจักรว่าเป็นผู้พิทักษ์ด้านสิทธิมนุษยชน
แอร์วอร์ส(Airwars) กลุ่มสังเกตการณ์เก็บข้อมูลการเสียชีวิตของพลเรือนในตะวันออกกลาง บอกว่ากระบวนการของสหราชอาณาจักรในการตัดสินใจให้ "ไฟเขียว" กับซาอุดีอาระเบีย เชื่อถือไม่ได้
รายงานโดยรัฐบาลอังกฤษบอกว่า กองทัพอังกฤษใช้อาวุธเพื่อต่อสู้กับกลุ่มไอเอสในซีเรียและอิรัก 4,440 ครั้ง โดยบอกว่ากองทัพอากาศสหราชอาณาจักรทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตแค่รายเดียวเท่านั้น
แอร์วอร์ส ซึ่งบอกว่าตัวเลขพลเรือนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ราว 8,000-13,000 ราย บอกว่ากระบวนการในการนับตัวเลขพลเรือนที่เสียชีวิตของทางการอังกฤษ "เหลวไหลสิ้นดี"
มูลค่า
กลุ่มรณรงณ์ต่อต้านการค้าอาวุธ (The Campaign Against Arms Trade) บอกว่า ตั้งแต่สงครามเริ่มในปี 2015 สหราชอาณาจักรขายอาวุธให้ซาอุดีอาระเบียเป็นมูลค่า 5.3 พันล้านปอนด์ หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่ก็ยังไม่ได้รวมยอดการขายอาวุธที่ไม่ได้อยู่ในสัญญา รวมถึงกำไรจากการซ่อมบำรุง การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและขนส่ง ซึ่งมีพนักงานของบีเออี ซิสเต็มส์ (BAE Systems) บริษัทผลิตอาวุธชั้นนำของอังกฤษ ให้การช่วยเหลืออยู่ในซาอุดีอาระเบีย
มีประเทศไหนอีกที่ขายอาวุธ
ข้อมูลโดยสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute) ระบุว่า ระหว่างปี 2015 ถึง 2019 การนำเข้าอาวุธของซาอุดีระเบียราว 73% มาจากสหรัฐฯ ตามมาด้วยสหราชอาณาจักรที่ 13% และฝรั่งเศส 4.3%
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่า ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นกำแพงต้านการกระทำที่ชั่วร้ายของอิหร่านและตัวแทนของพวกเขาในภูมิภาค
อนาคตจะเป็นอย่างไร
นายดอมินิก ราบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร เขียนบทความใน นสพ.ไฟแนนเชียลไทม์ส ว่า สหราชอาณาจักรพยายามจะช่วยให้เยเมนมีสันติภาพและได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
เขาบอกว่าสหราชอาณาจักร เยอรมนี และสวีเดน ร่วมกันสัญญาให้เงิน 365 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท) ให้สหประชาชาติทำงานเรียกร้องให้บรรลุข้อตกลงหยุดยิงทั่วเยเมน
นอกจากการระบาดของอหิวาตกโรค เยเมนกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ด้วย
เมื่อเดือน เม.ย. ซาอุดีอาระเบียประกาศหยุดยิงเนื่องด้วยวิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่กลุ่มกบฏฮูธิในเยเมนปฏิเสธ
ขณะที่สถานการณ์ยังตึงเครียดอยู่นี้ สหประชาชาติเตือนว่ายอดผู้เสียชีวิตจากวิกฤตโควิด-19 อาจ "มากกว่ายอดผู้เสียชีวิตจากสงคราม โรคภัย และภาวะขาดแคลนอาหาร ในช่วง 5 ปี รวมกัน"