ทำไมนักบินอวกาศหกล้มบนดวงจันทร์ ?
โครงการอะพอลโล (Apollo Program) ของสหรัฐอเมริกาเป็นโครงการแรกและโครงการเดียวของมนุษยชาติที่ประสบความสำเร็จในการส่งมนุษย์ไปเหยียบบนพื้นผิวดวงจันทร์ และหนึ่งในภาพติดตาของใครหลาย ๆ คนก็คือ ภาพที่นักบินอวกาศกระโดดไปมาและหกล้มขณะปฏิบัติภารกิจอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ แม้จะดูเป็นภาพที่น่ารักชวนขบขัน แต่แท้จริงแล้วมันได้ซ่อนเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เอาไว้
มวลเท่าเดิม แต่น้ำหนักเปลี่ยนไป
โดยโลกของเรานั้นมีแรงโน้มถ่วงประมาณ 9.8 เมตรต่อวินาทีกำลังสอง ทำให้นักบินอวกาศที่มีมวลสมมุติ 10 กิโลกรัม มีน้ำหนักขณะอยู่บนพื้นผิวโลกที่ 98 กิโลกรัม ในขณะที่ดวงจันทร์มีแรงโน้มถ่วงประมาณ 1.6 เมตรต่อวินาทีกำลังสอง ทำให้นักบินอวกาศที่มีมวลสมมุติ 10 กิโลกรัม มีน้ำหนักขณะอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์ที่ 16 กิโลกรัม ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้มวลจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไป แต่น้ำหนักขณะอยู่บนผิวของโลกและบนพื้นผิวของดวงจันทร์แตกต่างกันมาก ดังนั้นนักบินอวกาศที่เป็นมนุษย์ ซึ่งเกิดและเติบโตอยู่บนพื้นผิวโลกจึงไม่คุ้นชินกับน้ำหนักของตนเองที่ต่างออกไปขณะอยู่บนพื้นผิวดวงจันทร์นั่นเอง
ผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์
นอกจากนี้ แรงโน้มถ่วงต่ำยังส่งผลต่อร่างกายมนุษย์ในด้านอื่น ๆ อีกด้วย องค์การนาซา (NASA) จึงได้พยายามบันทึกข้อมูลทางกายภาพของนักบินอวกาศโครงการอะพอลโลอย่างละเอียด เพื่อศึกษาผลกระทบดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น
ในภารกิจอะพอลโล 15 (Apollo 15) ได้มีการบันทึกค่าอัตราการเผาผลาญของนักบินอวกาศในขณะที่พวกเขาสำรวจภูมิประเทศประเภทต่าง ๆ บนดวงจันทร์ ทั้งขึ้นเนิน ลงเนิน และภูมิประเทศที่ราบเรียบ
ในภารกิจอะพอลโล 16 (Apollo 16) ได้มีการบันทึกความแตกต่างระหว่างความคล่องแคล่วและการเคลื่อนไหวขณะอยู่บนพื้นผิวโลกและบนพื้นผิวดวงจันทร์ เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของแรงโน้มถ่วงต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์
ซึ่งข้อมูลที่ได้จากโครงการอะพอลโลทั้งหมดนั้นเป็นประโยชน์มากสำหรับโครงการอาร์เทมิส (Artemis Program) อันเป็นโครงการที่จะพามนุษยชาติกลับไปเหยียบลงบนพื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้ง
ข้อมูลและภาพจาก www.sciencealert.com