รีเซต

ทรงผมนักเรียน : ฟังเสียงช่างตัดผมใน จ.แพร่ ผู้ขึ้นป้ายต่อต้านการกล้อนผมเด็กนักเรียน

ทรงผมนักเรียน : ฟังเสียงช่างตัดผมใน จ.แพร่ ผู้ขึ้นป้ายต่อต้านการกล้อนผมเด็กนักเรียน
บีบีซี ไทย
10 กรกฎาคม 2563 ( 16:53 )
206
ทรงผมนักเรียน : ฟังเสียงช่างตัดผมใน จ.แพร่ ผู้ขึ้นป้ายต่อต้านการกล้อนผมเด็กนักเรียน

นอกจากป้ายผ้าที่ต้อนรับคนทุกเพศสภาพที่หน้าร้านตัดผมใน ต.นาจักร อ. เมือง จ.แพร่ แล้ว เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมาเจ้าของร้านตัดสินใจขึ้นอีกป้ายเพื่อต่อต้านการละเมิดสิทธินักเรียน หลังจากสื่อรายงานว่านักศึกษาคนหนึ่งในภาคอีสานถูกครูกล้อนผมจนสั้นเป็นการทำโทษที่ไว้ผมยาวผิดระเบียบ

เรื่องราวการขึ้นป้ายที่มีข้อความว่า "ร้านนี้ไม่ตัดผมทรงนักเรียน ต่อต้านการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ละเมิดกฏกระทรวง นักเรียนไม่ได้โง่ลงเพราะผมยาว คุณครูครับ...โตได้แล้ว" กลายเป็นพูดถึงในสังคมออนไลน์หลังจากเขาโพสต์ภาพหน้าร้านพร้อมข้อความอธิบาย ซึ่งขณะนี้มีคนเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นมากกว่า 800 ข้อความ และแชร์ข้อความและภาพที่เขาโพสต์มากกว่า 6.1 พันครั้ง

"การกล้อนผมนักเรียนนักศึกษา คือ การละเมิดสิทธิของพวกเขา" สันติ (สงวนนามสกุล) ช่างตัดผมวัย 50 ปี เจ้าของร้านตัดผมแห่งนี้บอกกับบีบีซีไทย

เขาอธิบายต่อว่า สาเหตุที่ติดป้ายดังกล่าวเพราะต้องการบอกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการควบคุมเรื่องทรงผมของนักเรียน และสมมติว่าลูกค้าที่เป็นนักเรียนมาให้เขาตัดผมเพราะถูกครูบังคับให้มาตัด เขาก็จะไม่ตัดให้โดยเด็ดขาด เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของนักเรียน

แต่ถ้าเป็นความประสงค์ของนักเรียนหรือผู้ปกครอง ที่ต้องการให้ตัดผมเพื่อความเรียบร้อยด้วยความเต็มใจของตัวเอง สันติบอกว่ายินดีให้บริการ

เมื่อถามว่า การตัดสินใจออกมาแสดงออกในเรื่องนี้ เป็นเพราะการรายงานข่าวเกี่ยวกับการลงโทษนักเรียนด้วยการตัดผมให้แหว่งในโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ศรีสะเกษหรือไม่ ช่างตัดผมรายนี้อธิบายว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการตัดผมนักเรียนมานานแล้วตั้งแต่เริ่มอาชีพช่างตัดผมเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนที่เขาตั้งร้านตัดผมแห่งแรกที่เชียงใหม่ แต่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้มากนัก เพราะเพื่อน ๆ ทัดทานไว้ เพราะเกรงว่าจะไม่มีลูกค้า

อย่างไรก็ตาม หลังจากโพสต์ข้อความดังกล่าว เขาได้รับทั้งคำวิพากษ์วิจารณ์และคำชื่นชม เขาบอกว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้เกิดการถกเถียงขึ้นในสังคมในเรื่องนี้ และพร้อมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

เคยฝากจดหมายถึงครูที่กล้อนผมเด็ก

เขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีนักเรียนจากสถาบันอาชีวะแห่งหนึ่งที่ถูกอาจารย์ใช้กรรไกรกล้อนผมแหว่งมา 2-3 รอยบนศีรษะ มาขอให้เขาช่วยแก้ไขทรงผมให้ตั้งแต่เวลา 8 โมงเช้าก่อนที่จะไปเรียน

เขาบอกว่า บางรอยถูกตัดเป็นร่องลึกมาก ซึ่งทำให้ลำบากในการตัดแต่งพอสมควร พอตัดแต่งผมเสร็จเขาได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งเพื่อฝากให้นักเรียนคนดังกล่าวส่งไปให้อาจารย์ที่ตัดผมของเขา เพื่อเป็นการเตือนและแสดงความเห็นว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิของเด็ก เนื่องจากเขาติดตามประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่อง และทราบว่ากระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศระเบียบใหม่ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ซึ่งประกาศใช้มาแล้วตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งคุ้มครองสิทธินักเรียนในเรื่องนี้

"ผมเข้าใจว่า ระเบียบใหม่นี้ เป็นการให้สิทธิเด็กนักเรียนมากขึ้น รวมทั้งสิทธิของผู้ปกครอง ส่วนสิทธิของอาจารย์ผู้สอนคือเพียงดูความเรียบร้อยของเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายเท่านั้น ไม่มีสิทธิใด ๆ ในการตัดผมของเด็ก" เขาอธิบาย

ในฐานะที่เป็นช่างตัดผม สันติมองว่า ลูกค้าที่เข้ามาในร้าน คือ คนให้เกียรติช่างตัดผม ที่อนุญาตให้แตะศีรษะ ซึ่งตามความเชื่อของไทยถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญของร่างกาย

"ดังนั้น ผมก็ต้องให้เกียรติผู้ที่มาใช้บริการตัดผมเช่นกัน" เขากล่าว

ติงระเบียบใหม่ที่ยังเปิดโอกาสให้ตีความได้กว้าง

สันติบอกอีกว่า แม้ว่ากระทรวงศึกษาจะออกระเบียบใหม่ แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นปัญหาในการตีความเพราะให้อำนาจหัวหน้าสถานศึกษาสถานศึกษาในการพิจารณาอนุญาต จึงทำให้เกิดความลักลั่นของการบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ได้ส่งหนังสือถึงสถานศึกษาทั่วประเทศ ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับใหม่ ที่ให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ แต่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา และคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู ผู้ปกครอง นักเรียน และชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบกระทรวง

ในกรณีการกล้อนผมนักเรียน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะการจะลงโทษนักเรียนไม่ว่าจะกระทำความผิดใด ๆ ก็ตามจะต้องยึดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 มี 4 ข้อดังนี้ 1.ว่ากล่าวตักเตือน 2.ทำทัณฑ์บน 3.ตัดคะแนนความประพฤติ และ 4.ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผลพวงจากกรณีที่แม่ของเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งใน จ.ศรีสะเกษ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กร้องเรียนเรื่องที่ลูกสาวถูกครูกล้อนผม และตั้งคำถามว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ แต่การร้องเรียนของเธอกลับทำให้ครอบครัวถูกวิจารณ์ว่าทำให้โรงเรียนเสื่อมเสียชื่อเสียง จนกลายเป็นชนวนเหตุกดดันให้นักเรียนหญิงคนดังกล่าวต้องลาออกจากโรงเรียนไป

นอกจากนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มเคลื่อนไหวที่ใช้ชื่อว่า "องค์กรนักเรียนเลว" ยังจัดกิจกรรมรณรงค์ผ่านหลายกิจกรรม เช่นเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา ตัวแทนองค์กรดังกล่าวได้ยื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอความชัดเจนในการบังคับใช้กฎการไว้ทรงผมของนักเรียน พร้อมกับจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยตัดผมนักเรียนหญิงเพื่อสื่อสารไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ให้เพิกเฉยต่อระเบียบกระทรวงฯ หรือบังคับใช้ระเบียบกระทรวงฯ ในทางมิชอบจนก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักเรียน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง