‘สศช.’ เผยหน่วยงานแห่เสนอโครงการ จองใช้งบพ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาทจนเกินงบ
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เปิดเผยว่า การใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก. เงินกู้ ในก้อน 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่ใช้เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยขณะนี้มีโครงการฟื้นฟูและพัฒนาในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวกับการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก จัดทำแผนและเสนอเข้ามาแล้วคิดเป็นวงเงินกว่า 5.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการของบพัฒนาภาคการเกษตรมูลค่าเพิ่ม และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพโดยเสนอมา 91 โครงการ วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท
รวมถึงโครงการสำหรับเศรษฐกิจฐานราก โดยเสนอมาจากระดับหน่วยงานและจังหวัด รวมทั้งสิ้น 28,331 โครงการ วงเงิน 3.72 แสนล้านบาท และเป็นโครงการของส่วนราชการ 13 กระทรวง 4 หน่วยงานที่ขึ้นตรงสำนักนายกรัฐมนตรี รวม 115 โครงการ วงเงินกว่า 1.68 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการสำหรับการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังหารือมาตรการร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการแจกเงินเพื่อไปเที่ยว ส่วนวงเงินที่ชัดเจนยังต้องรอให้ส่งแผนเข้ามาก่อน และโครงการเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการที่อยู่ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากอยู่แล้ว ก็มีส่วนราชการเสนอโครงการมาใหม่อีก 3 โครงการ วงเงินไม่มาก เป็นโครงการเกี่ยวกับช่องทางตลาดแบบดิจิทัล
นายทศพรกล่าวว่า สศช.ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการคัดกรอง เพื่อพิจารณาแผนโครงการที่เสนอมาจากหลายส่วน รวมถึงได้เปิดให้ประชาชนตรวจสอบโครงการที่เสนอมาได้ผ่านเว็ปไซต์ของทางสศช. ระหว่างวันที่ 5-15 มิถุนายน 2563 พร้อมกับที่สศช. จะเริ่มพิจารณาโครงการเหล่านั้นด้วย ส่วนในวันที่ 15-30 มิถุนายนนี้ จะนำโครงการที่ผ่านการพิจารณาเสนอเข้าคณะอนุกรรมการพิจารณาต่อไป โดยหนึ่งในคณะอนุกรรมการจะมีนักวิชาการเข้ามาร่วมพิจารณาคัดเลือกโครงการที่ถูกเสนอเข้ามาด้วย ก่อนที่จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 7 กรกฎาคม เพื่อให้ครม. พิจารณาอนุมัติ และเบิกจ่ายงบประมาณรอบแรกในเดือนกรกฎาคมนี้
ส่วนรอบที่ 2 คณะกรรมการจะยื่นให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในช่วงเดือนสิงหาคม และโครงการอื่นๆ จะให้แล้วเสร็จภายในกันยายน 2564 โดยเน้นย้ำว่าอยากให้ประชาชนเข้ามาช่วยตรวจสอบการใช้งบประมาณการลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมก้อน 4 แสนล้านบาทนี้เพราะคณะกรรมการกลั่นกรองยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เปิดเผยโปร่งใส ทั่วถึง เที่ยงธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์ และสามารถตอบสนองความต้องการได้
โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วม ตรวจสอบได้ ชอบด้วยกฎหมาย และยังได้เชิญบุคคลที่ 3 ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และกรรมาธิการชุดต่างๆ รวมถึงสภาผู้แทนฯมาร่วมทำงานตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผล เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ว่าเงินกู้ 4 แสนล้านบาทไปอยู่ที่ใด หากมีการทุจริตคอร์รัปชั่นจะได้มีองค์กร หน่วยงานช่วยกันตรวจสอบ โดยยืนยันว่าส.ส.ไม่สามารถแบ่งเค้กเงินลงทุนเป็นรายพื้นที่ได้ เพราะมีการติดตามตรวจสอบในหลายมิติ
“วัตถุประสงค์ในการใช้เงินกู้ จะต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะใช้เงินก้อน 4 แสนล้านบาทนี้ เป็นฐานในการดำเนินการ ซึ่งโครงการจะต้องตอบโจทย์ในลักษณะการพัฒนาแบบมีความยั่งยืน จึงได้หารือกันว่า เม็ดเงินส่วนหนึ่งจะลงไปในระดับฐานรากหรือเศรษฐกิจชุมชน อีกส่วนที่จะเน้นเรื่องการเจริญเติบโต ก็จะลงไปที่เกษตรมูลค่าเพิ่ม และภาคการท่องเที่ยวแบบมีคุณภาพ โดยการดำเนินงานจากนี้ จะเน้นเรื่องความคุ้มค่าเป็นหลัก โครงการที่จะทำ ต้องมีความคุ้มค่า สามารถตอบได้ว่าทำแล้วได้อะไร มีความคุ้มค่ามากเท่าใด เพื่อให้ตอบโจทย์เรื่องความคุ้มค่าได้ ส่วนการใช้งบประมาณ จะอนุมัติให้เท่าที่จำเป็น ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ใช้ทั้งหมด 4 แสนล้านบาท” นายทศพรกล่าว