รีเซต

สรุปการประชุมสุดยอดผู้นำ G7

สรุปการประชุมสุดยอดผู้นำ G7
TNN World
14 มิถุนายน 2564 ( 09:48 )
192
สรุปการประชุมสุดยอดผู้นำ G7

Editor’s Pick: สรุปการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 จากการแถลงข่าวของผู้นำสหรัฐฯ-สหราชอาณาจักร
ที่ประชุมสุดยอดผู้นำประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G7 ให้คำมั่นจะบริจาควัคซีนกว่า 1 พันล้านโดสให้แก่ประเทศที่ยากจนกว่า ทั้งแบบบริจาคตรง และผ่านโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก 

 


นอกจากนี้ ยังบรรลุข้อตกลงอีกหลายประการ รวมถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก ต้นตอโควิด-19 และการคานอำนาจกับจีนด้วย
TNN World สรุปผลการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 โดยสังเขปมาให้แล้ว จากการแถลงข่าวของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และบอริส จอห์นสัน นายกฯ สหราชอาณาจักร รวมถึงแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุม

 

 

 

บริจาควัคซีน 1 พันล้านโดสให้โลก


โจ ไบเดน แถลงข่าวจากสนามบินนิวคีย์ ในมณฑลคอร์นวอลล์ หลังสิ้นสุดการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G7 ตลอด 3 วันที่ผ่านมา ชื่นชมว่า นี่เป็นการประชุมที่มีประสิทธิภาพมาก ทุกคนในที่ประชุมเข้าใจถึงความสำคัญและความท้าทายที่นานาชาติกำลังเผชิญ

 


“รวมถึงความรับผิดชอบของชาติประชาธิปไตยอย่างเรา ที่จะยืนหยัดและแก้ปัญหาให้ชาติต่าง ๆ ทั่วโลก เพราะนั่นคือความหมายของ G7” ไบเดน กล่าว

 


ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า การประชุมครั้งนี้ มุ่งเน้นการยุติวิกฤตโรคระบาด และการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 
ด้านบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร แถลงข่าวสรุปผลการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ย้ำคำมั่นสัญญาของผู้นำโลก 7 ประเทศ ที่จะบริจาควัคซีนกว่า 1 พันล้านโดสให้แก่ประเทศที่ยากจนกว่า ทั้งแบบบริจาคตรง และผ่านโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลกถือเป็น “ก้าวสำคัญเพื่อฉีดวัคซีนต้านโควิดให้ทั้งโลก”

 


ผู้นำสหราชอาณาจักรยังย้ำถึงบทบาทของวัคซีนต้านโควิดของ AstraZeneca ซึ่งถือเป็น “วัคซีนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก” เพราะจำหน่ายให้นานาประเทศในราคา “เท่าทุน” ซึ่งถือเป็น “การกระทำที่ใจกว้างมาก” ของบริษัท AstraZeneca และย้ำว่า วัคซีนที่ COVAX บริจาคให้นานาชาติตอนนี้ 96% เป็นของ AstraZeneca

 


อย่างไรก็ดี โจ ไบเดน ยอมรับว่า​ อาจต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าโควิด-19 จะหมดไปทั่วโลก ถ้ามองในโลกความเป็นจริงแล้ว อาจนานถึงปี 2022 เลยทีเดียวกว่าโควิดจะหมดไปในสหรัฐฯ และอาจนานกว่านั้นในพื้นที่อื่นทั่วโลก

 

 

 

อเมริกากลับมาแล้ว!


ไบเดนใช้การแถลงข่าวในภารกิจเยือนต่างประเทศแรกในฐานะประธานาธิบดี ประกาศว่า “อเมริกากลับมาสู่โต๊ะเจรจาแล้ว”
“ผมยืนยันกับผู้นำประเทศ G7 แต่ละคนว่า สหรัฐฯ จะกลับมามีบทบาท กลับมาสู่โต๊ะเจรจาแล้ว” หลังในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐฯ ได้ห่างหายไป

 


“ผมจะเดินทางต่อไปกรุงบรัสเซลส์ เพื่อร่วมประชุม NATO ซึ่งจะมีผู้นำจำนวนมากร่วมประชุมด้วย และผมก็จะย้ำกับ NATO เช่นกันว่า สหรัฐฯ กลับมาแล้ว...เพราะ NATO เป็นองค์กรสำคัญเพื่อรักษาความมั่นคงของสหรัฐฯ”
เขาสรุปในประเด็นนี้ว่า “เราได้เรียกคืนความเชื่อมั่นในคุณค่าของสหรัฐฯ ให้กลับมาในหมู่ชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ”

 

 

 

 

การเตรียมเผชิญหน้ากับผู้นำรัสเซีย


จากคำถามของสื่อมวลชน ไบเดนยอมรับว่า คำกล่าวของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียอยู่ในจุดต่ำที่สุดนั้น เป็นคำกล่าวที่ไม่ผิดไปจากความจริงนัก

 


ไบเดนมีกำหนดพบกับปูติน ในวันที่ 16 มิถุนายน ที่นครเจนีวา ของสวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็นภารกิจสุดท้ายในการเดินทางเยือนต่างประเทศ 8 วัน โดยเขาให้เหตุผลถึงการที่เขาจะไม่จัดการแถลงข่าวร่วมกับปูตินว่า “การประชุมไม่ใช่การแข่งขันว่าใครจะทำได้ดีกว่าใครในการแถลงข่าว หรือพยายามหักหน้าอีกฝ่าย”

 


เหตุผลของการประชุมนี้ คือ “การหาเงื่อนไขเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย ไม่ใช่มองหาความขัดแย้ง เราพยายามหาแนวทางแก้ปัญหาที่สอดรับกับมาตรฐานสากล” ไบเดน ตอบคำถามผู้สื่อข่าว พร้อมหวังว่า การประชุมสุดยอดกับปูตินจะทำให้สหรัฐฯ และรัสเซีย สามารถร่วมงานกันได้ 

 

 

 

สรุปแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมสุดยอด G7


แถลงการณ์ร่วมใช้ชื่อว่า “ความตกลงร่วมกันเพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม” มีใจความสำคัญ คือ
- ยุติสถานการณ์โรคระบาดและเตรียมพร้อมสู่อนาคต: ด้วยการบริจาควัคซีนอย่างน้อย 1 พันล้านโดสให้ทั่วโลก, พร้อมสร้างกรอบแนวทางเพื่อป้องกันภัยคุกคามด้านสาธารณสุขระดับโลก, เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเวชภัณฑ์ในทุกทวีป, พัฒนาระบบเตือนภัยโรคระบาด, และลดระยะเวลาการพัฒนาวัคซีนจาก 300 วัน เหลือ 100 วัน

 


- กระตุ้นเศรษฐกิจโลก: ด้วยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, และกลุ่ม G7 จะสนับสนุนประเทศอื่น ๆ ด้วยตามความจำเป็น, ลงทุนโครงการสาธารณูปโภค ผลักดันนวัตกรรม, ให้มั่นใจว่าประชาชนทุกคนไม่ว่าอายุเท่าไหร่ ชาติพันธุ์ไหน เพศอะไร จะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

 


- การันตีความมั่งคั่งในอนาคต: ด้วยการส่งเสริมการค้าที่เสรีมากขึ้น ยุติธรรมมากขึ้น สร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมีภูมิต้านทาน รวมถึงระบบภาษีที่ยุติธรรมากขึ้นทั่วโลก 

 


- พิทักษ์โลกของเรา: ด้วยการสนับสนุนการปฏิวัติสีเขียวที่สร้างงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพยายามจำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส, G7 ให้คำมั่นจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ไม่เกินปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งให้ได้ภายในปี 2030, อนุรักษ์ผืนดินและทะเลอย่างน้อย 30% ภายในปี 2030 เพื่อรักษาโลกของเราไว้ให้ลูกหลาน

 


- กระชับยุทธศาสตร์พันธมิตร: กับนานาประเทศทั่วโลก ด้วยการพัฒนาความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม ผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 

 


- ยึดมั่นในคุณค่าของเรา: เราจะแสดงพลังของประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเท่าเทียม ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อรับมือกับความท้าทายอันยิ่งใหญ่ต่าง ๆ, เราจะส่งเสริมความเท่าเทียมด้วยการช่วยให้เด็กหญิง 40 ล้านคนให้เข้าถึงการศึกษา

 


ต่อจากนี้คือรายละเอียดเพิ่มเติมของหัวข้อต่าง ๆ ในแถลงการณ์ ตามที่บอริส จอห์นสัน ผู้นำสหราชอาณาจักร กล่าวในการแถลงข่าว

 

 

 

 

ลดการสนับสนุนการใช้ถ่านหินลดโลกร้อน


ผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ยังเห็นพ้องที่จะหยุดการสนับสนุนการใช้ถ่านหินภายในสิ้นปีนี้ ยกเว้นว่า สามารถหากระบวนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จากการเผาผลาญถ่านหินได้

 


สหรัฐฯ แคนาดา เยอรมนี และสหราชอาณาจักร จะอัดฉีดเงินรวมกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนนกองทุนการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาเปลี่ยนผ่านจากถ่านหิน สู่พลังงานสะอาด

 


จอห์นสัน ชี้ว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นหัวข้อการประชุมสำคัญในวันนี้ และนานาชาติเห็นพ้องที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพด้วย

 

 

 

โครงการลงทุนระดับโลก คานอำนาจจีน


ไม่เพียงเท่านั้น ที่ประชุมยังรับรองแผน ‘สร้างโลกที่ดีกว่าขึ้นมาใหม่’ หรือ Build Back Better World (B3W) เป็นแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อคานอำนาจโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือเส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน
โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ลงทุนสร้างทางรถไฟ, ทางด่วน และโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มอิทธิพลให้จีนในเวทีโลกด้วย

 

 

 

 

ต้นตอโควิด-19


ผู้นำโลกเรียกร้องให้มีการศึกษาถึงต้นตอของโควิด-19 อีกครั้ง โดยขอความร่วมมือจากรัฐบาลจีนด้วย เพราะรายงานที่จัดทำมานั้นถือว่าไม่สมบูรณ์ เพราะจีนไม่ให้ความร่วมมือ

 


กลุ่ม G7 ยังหารือถึงข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศจีน รวมถึงการใช้แรงงานทาสชาวมุสลิมซินเจียงอีกด้วย ทั้งในอุตสาหกรรมเกษตร พลังงานแสงอาทิตย์ และสิ่งทอ 

 


อย่างไรก็ดี บอริส จอห์นสัน ตอบคำถามนักข่าวว่า ข้อแนะนำที่รัฐบาลได้รับคือไวรัสโคโรนาดูเหมือนไม่ได้มาจากห้องทดลอง แต่ที่ประชุมเห็นพ้องว่า ควรจะจัดทำสนธิสัญญาเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาดเช่นนี้ต่อไปในอนาคต 

 

 

 

 

ปลดล็อกดาวน์ 21 มิ.ย. นี้?


คำถามแรก ๆ ของสื่อต่อบอริส จอห์นสัน คือ สหราชอาณาจักรจะปลดมาตรการล็อกดาวน์ชุดสุดท้ายในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ตามกำหนดหรือไม่ เพราะปัจจุบัน ฉีดวัคซีนให้ประชากรได้ 44% แล้ว 

 


จอห์นสัน ตอบเพียงว่า รัฐบาลกำลังประเมินข้อมูลอยู่ ยังไม่มีการตัดสินใจในเรื่องนี้ โดยจะให้คำตอบถึงมาตรการต่อไปในวันพรุ่งนี้ พร้อมชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดอย่างละเอียด

 


อย่างไรก็ดี เมื่อสื่อมวลชนจี้ถามว่า ต้องฉีดวัคซีนให้ประชากรได้กี่ % ถึงจะปลดล็อกดาวน์ นายจอห์นสันเลี่ยงตอบคำถามนี้

 

 

 

 

ส่งเสริมการศึกษาให้เด็กผู้หญิงทั่วโลก


อีกข้อตกลงสำคัญคือการลงทุนด้านการศึกษา, บอริส จอห์นสัน ย้ำถึงความมุ่งมั่นของกลุ่ม G7 ที่จะส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงกว่า 40 ล้านคนทั่วโลก ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา เพราะมันเป็นเรื่องน่าสลดใจมาก ที่เด็กจำนวนหนึ่งในโลกไม่สามารถเข้าถึงศักยภาพของตนเองได้ เพราะไม่ได้รับการศึกษา

 


“ให้การศึกษาเด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง เป็นหนึ่งในแนวทางที่ง่ายที่สุดเพื่อดึงประเทศออกจากความยากจน และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19”

 

 

 

‘บรรยากาศชื่นมื่น ประชุมผู้นำ G7’


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ นั่งบนโต๊ะอาหารกลางแจ้ง พูดคุยกับนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีแบบเป็นกันเอง ในบรรยากาศสบาย ๆ ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G7 ในมณฑลคอร์นวอลล์ ของสหราชอาณาจักร

 


การประชุมที่อ่าวคาร์บิส ริมทะเลที่สวยงาม เต็มไปด้วยบรรยากาศผ่อนคลาย แม้ประเด็นที่พูดคุยอาจเปลี่ยนทิศทางของโลกได้ก็ตาม

 

 

 

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง