สงกรานต์ : สูงวัยเข้าใจโรค เปิดประสบการณ์คุณตา-คุณยาย ผ่านสารพัดวิกฤตโรคระบาด สู่ โควิด-19
วันที่ 13 เม.ย. ของปีนี้ ไม่ได้เป็นเพียง "วันสงกรานต์" ที่ผิดแผกแตกต่างจากทุกปี เมื่อทางการไทยไม่อนุญาตให้จัดงานทุกระดับ-ทุกกิจกรรม ทั้งเล่นน้ำ แห่พระ สงฆ์น้ำพระ
แต่ยังเป็น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ" ที่มาพร้อมกับคำขวัญกระตุกต่อมคิดของบรรดาลูกหลานว่า "กตัญญูงดกลับบ้าน" ส่วนคุณปู่ ย่า ตา ยาย และลูกหลานที่อยู่ร่วมกัน ก็ไม่อาจแสดงความรักต่อกันด้วยการสัมผัสใกล้ชิดตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งหมดนี้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19
"วิกฤตโควิด-19" อาจเป็นประสบการณ์ด้านมืดร่วมกันของคนไทยทั้งชาติ รวมถึงคนทั้งโลกที่ยังรอวันผ่านมันไปด้วยกัน ทว่านี่ไม่ใช่วิกฤตครั้งแรกในชีวิตของผู้สูงวัยที่อาบน้ำร้อนมาก่อนเรา
- เคอร์ฟิว 24 ชม. ในไทยยังเป็นแค่ "ข่าวปลอม" แล้วมีประเทศไหนบ้างที่สั่ง "ปิดบ้าน" สกัดไวรัสโคโรนา
- เปิดใจลูกผู้เสียชีวิต "พ่อคือคนที่แข็งแรงที่สุด ในครอบครัว"
- ทำไมการเว้นระยะห่างทางสังคมจึงสกัดการระบาดของโรคได้
"โรคนี้มันโรคร้าย เกิดมาไม่เคยเห็น"
"ตอนเด็ก ๆ เขาเป็นกัน โรคขี้รั่ว (อหิวาตกโรค) เป็นกันมาก ขี้กันเต็ม จำไม่ค่อยได้ว่าตอนนั้นกี่ปี แต่มีคนเขาต้มยาหม้อให้กิน แต่ไม่สากลัว (น่ากลัว) เท่าไหร่" ยาเมียะ หยงสตาร์ วัย 99 ปี ชาวบ้านหยงสตาร์ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ย้อนประสบการณ์ในวัยเยาว์ที่พบเห็นโรคอหิวตกโรคระบาดในหมู่บ้าน จนทางการต้องเดินทางมาให้ความรู้เรื่องการทานอาหารที่สะอาด
ด้วยความที่ยังเล็ก เธออาจไม่รู้ระดับความรุนแรงของโรคแน่ชัด ต่างจากวิกฤตโรคระบาดครั้งล่าสุดที่แม้คุณยายบอก "ไม่รู้หรอกว่าโรคนี้ชื่อโรคอะไร" แต่ก็รับรู้ได้ถึงกว่า "น่ากลัวกว่าเยอะ" และทำให้เธอต้องปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันใหม่ โดยเพิ่มการล้างมือบ่อย ๆ ปิดปาก ปิดจมูก สวมใส่หน้ากากอนามัยตามที่ลูกหลานบอก นอกเหนือจากการแยกภาชนะใส่อาหารและน้ำซึ่งคุณยายทำมาก่อนหน้านี้แล้ว
"โรคนี้มันโรคร้าย ของไม่หอน (เคย) เห็น เขาบอกให้อยู่ห่างกัน อยู่ตรงไหนก็ให้อยู่ตรงนั้น สา(รู้สึก) มันน่ากลัว" หญิงอายุย่าง 100 ปีแหลงภาษาใต้
ยาเมียะมีลูกทั้งหมด 5 คน เกือบทุกคนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันจึงแวะเวียนมาเยี่ยมเธอเกือบตลอด ทว่ามีบางส่วนที่อยู่ต่างถิ่น ปีนี้คงไม่มีโอกาสกลับบ้านเกิด
"ไม่โหร่ตอใดได้หลบ (ไม่รู้เมื่อไหร่ได้กลับ) ลูกหลานก็อยู่ไกล ๆ เขาห้ามกันหมด คิดถึงก็คิดถึง แต่ให้ทุกคนบายดีตะ (ให้ทุกคนสบายดีเถอะ)"
"พยายามทำให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อจะได้ไม่เป็นภาระของลูกหลานและสังคม"
เกือบ 20 วันแล้วที่ สุคนธ์ เอื้ออนันต์ วัย 78 ปี อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้ก้าวออกจากประตูรั้วหน้าบ้านย่านประเวศ กทม. เลยนับตั้งแต่วันที่รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 26 มี.ค.
ด้วยความที่เป็นผู้สูงวัยที่ยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สุคนธ์มีกิจกรรมนอกบ้านอยู่เสมอช่วงก่อนเกิดโรคระบาด หนึ่งในนั้นคือการไปเดินออกกำลังกายให้ได้ครบ 10,000 ก้าวที่สวนหลวง ร.9 แต่หลังจากโควิด-19 ระบาดเธอทำได้แค่เดินและออกกำลังกายเบา ๆ รอบ ๆ บ้าน
"พยายามทำให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อจะได้ไม่เป็นภาระของลูกหลานและสังคม" เธอบอก ขณะที่งานอดิเรกอย่างการเล่นดนตรี ทั้งซอด้วง ซออู้ ไวโอลิน และเปียโน รวมถึงการรดน้ำต้นไม้ทำให้จิตใจผ่อนคลายอยู่เสมอ
คนที่ดูจะ "เครียด" มากกว่าผู้สูงวัยในบ้านดูเหมือนจะเป็นลูก ๆ หลาน ๆ ที่คอยห้ามโน่นห้ามนี้ เตือนให้ล้างมือ ให้ใส่หน้ากากอนามัยอยู่ไม่ขาด
"บางทีเราแค่เดินไปหน้าประตูรั้วเพราะอยากดูว่าข้างนอกเป็นยังไงบ้าง มีหมูปิ้ง มีน้ำเต้าหู้มาขายไหม พวกหลาน ๆ ก็รีบถามว่าจะไปไหน... เจลแอลกอฮอล์ล้างมือนี่เอามาวางไว้ทุกจุดในบ้าน เราเข้าใจความห่วงใยของพวกเขา แต่บางทีมันก็มากเกินไป เรียกได้ว่าคุมกันทุกฝีก้าว" สุคนธ์บ่นเบา ๆ
ในชีวิตของหญิงวัย 78 ปีผ่านวิกฤตมาหลายหน "ตอนน้ำท่วมปี 2554 พวกลูกหลานนี่ก็กังวลมาก สั่งซื้อกระสอบทรายมาไว้เต็มบ้าน ตอนนี้ก็ยังอยู่เลย แต่โชคดีแถวนี้น้ำไม่ท่วม" เช่นเดียวกับเหตุโรคระบาด ซึ่งเท่าที่สุคนจำได้ก็มีวัณโรค อหิวาตกโรค และฝีดาษเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่ในความคิดของเธอ ไม่มีโรคระบาดครั้งไหนใหญ่เท่าโควิด-19
"จำได้ว่าในอดีตเคยเกิดโรคระบาดหลายครั้ง แต่ละครั้งก็จะทำให้ประชาชนรู้หลักสุขอนามัยมากขึ้น รักษาความสะอาดมากขึ้น" อดีตอาจารย์ มธ. ตั้งข้อสังเกต
"โรคระบาดโควิด-19 นี่ใหญ่ที่สุดในชีวิตที่เคยเจอ แต่คิดว่าถ้าเราผ่านพ้นเรื่องนี้ไปได้ จะเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านความคิด พฤติกรรม และจิตสำนึกของผู้คน... โรคนี้คงเอาชนะยาก แต่เราต้องเอาชนะให้ได้" เธอบอก
เพราะอยากมีส่วนช่วยให้ประเทศไทย "ชนะ" สุคนธ์จึงเตรียมโทรศัพท์บอกลูก ๆ หลานๆ ว่าสงกรานต์ปีนี้ ไม่ต้องมารดน้ำขอพรเหมือนทุกปีจะดีกว่า
"ปีนี้จะบอกพวกเขาว่าไม่ต้องมา เพราะเวลามารดน้ำขอพรจะอยู่ใกล้ชิดกันมาก มันก็ไม่เป็นไปตามหลัก social distancing (เว้นระยะห่างทางสังคม) เพราะฉะนั้นคิดว่าจะงดสักปีหนึ่ง" สุคนธ์กล่าว
ส่วนสิ่งที่เธออยากบอกไปถึงหมอและพยาบาลคือ "ทุกคนเป็นฮีโร่ ถ้าไม่มีพวกท่านที่เสียสละ ไม่รู้ว่าสังคมไทยจะเป็นยังไง คงมีคนตายเยอะกว่านี้มาก ท่านเป็นผู้ช่วยชีวิตประชาชน ฉันรู้สึกสำนึกในบุญคุณมากมายเหลือเกิน"
"ช่วงนี้คิดถึงลูกเป็นพิเศษ"
ขณะที่คู่สามี-ภริยา อย่าง สายัณห์ สุธรรมสมัย อายุ 72 ปี กับ อรพินท์ ดวงวีระ วัย 73 ปี มีประสบการณ์ผ่านวิกฤตคนละชนิดกัน ฝ่าย สายัณห์ เกิดและเติบโตที่บ้านริมคลองแสนแสบ ย่ายประตูน้ำ กทม. เคยเห็นโรคระบาดสมัยที่เขาอายุราว 7-8 ขวบ
"ตอนนั้นมีโรคอหิวาตกโรคและไข้หวัดใหญ่ระบาดหนักมากใน กทม. คนรู้จักที่ติดเขาก็บอกว่าเป็นเพราะดื่มและใช้น้ำจากคลองแสนแสบ ทำให้ชาวบ้านริมคลองกลัวที่จะใช้น้ำกัน สมัยนั้นน้ำประปาก็ยังเข้าไม่ถึงทุกบ้าน น้ำในคลองแสนแสบยังใสสะอาดอยู่ ทำให้ชีวิตต้องลำบากอยู่ช่วงหนึ่ง" สายัณห์เล่า
เขาบอกว่า เวลานั้นระบบสาธารณสุขไม่ได้ดีเท่าตอนนี้ ภาครัฐไม่มีการรณรงค์และให้ความรู้ประชาชน ทำให้คนยังใช้ชีวิตตามปรกติ "แม้มีคนตายและติดเชื้อจำนวนมาก แต่บรรยากาศแตกต่างจากวันนี้โดยสิ้นเชิง ไม่มีการล็อกดาวน์อะไรทั้งสิ้น"
ส่วนฝ่าย อรพินท์ ได้ยินข่าววัณโรคระบาดในเมืองหลวงประเทศเช่นกัน แต่ด้วยความที่พื้นเพอยู่ จ.เชียงใหม่ "เชื้อโรคไปไม่ถึงที่นั่น และไม่มีคนที่รู้จักติดโรคนี้ ทำให้บรรยากาศแห่งความกลัวการติดโรคแตกต่างจากปัจจุบันมาก"
วิกฤตหนักที่สุดในชีวิตที่อรพินท์เผชิญหาได้เกิดจากโรคติดต่อ หากแต่เป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี 2540 อรพินท์และสายัณห์เคยประกอบธุรกิจเป็นของตัวเอง และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบคันในชีวิต แต่ทันทีที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง พวกเขาก็สูญเสียทุกอย่างในชั่วข้ามคืน
"จากที่เคยมีทุกอย่าง พวกเราต้องขายทุกอย่าง เหลือรถคันเดียว และต้องกลายมาเป็นบุคคลล้มละลาย ถ้าให้เทียบระหว่างต้มยำกุ้ง กับโควิด-19 ต้องบอกว่าต้มยำกุ้งหนักกว่ามาก เพราะเราเพิ่งกลับมาตั้งตัวได้ไม่นานนี้เอง" อรพินท์ให้ความเห็น
เคราะห์ดีที่ลูก ๆ ของครอบครัวนี้ ร่วมสู้ไปกับพ่อ-แม่ ด้วยการทำงานส่งเสียกันเองจนเรียนจบทุกคน ทุกวันนี้ สายัณห์-อรพินท์ ย้ายไปตั้งรกรากอยู่ที่ จ.ปทุมธานี โดยมีลูกแวะมาเยี่ยมในช่วงวันหยุด แต่ตั้งแต่เกิดโควิด-19 ลูกสาวคนโตก็ไม่กลับบ้านเลย
"เขาทำงานอยู่กลางเมืองและมีคอนโดฯ อยู่ที่นั่น ปกติเขาจะกลับมาบ้านพ่อแม่ทุกอาทิตย์ แต่เขาบอกว่ากลัวทางครอบครัวจะไม่ปลอดภัย ทำให้ช่วงนี้คิดถึงลูกเป็นพิเศษ" แม่วัย 73 ปีเผยความรู้สึก
เช่นเดียวกับแผนขึ้นไปเยี่ยมญาติที่ จ.เชียงใหม่ ในช่วงสงกรานต์ ก็ต้อง "พับไป" เมื่อไวรัสโคโรนามาเยือน
"ก็หวังแค่ว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้ เราเคยผ่านวิกฤตมาก่อน เรารู้ว่ามันลำบากขนาดไหน ท้ายสุดนี้ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ช่วยดูแลทุกคนได้เป็นอย่างดี ชื่นชมในความเสียสละมากค่ะ" อรพินท์บอก
"บางครั้งก็รู้สึกระแวงนะ หากมีคนเข้ามาอยู่ใกล้ ๆ"
ส่วน วินัย สุรภักดี ชาว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วัย 72 ปี ไม่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับโรคระบาดร้ายแรงในจังหวัดบ้านเกิด ทว่าด้วยอาชีพการงานซึ่งประจำการอยู่ที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ทำให้เขาอยู่ใกล้เชื้อโรคเพียงแค่เอื้อม
"สมัยยังทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล ก็มีคนป่วยวัณโรค ไข้หวัดนก ไทฟอยด์ หนักหน่อยก็คือมีคนไข้ติดไวรัสเมอร์สมารักษา เราก็มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับคนไข้ที่ติดเชื้อเหล่านั้นตลอดนะ แต่ก็ไม่เคยรู้สึกกลัว" เขาเล่า
วินัยเริ่มทำงานด้วยตำแหน่งเจ้าหน้าที่เวชระเบียน จากนั้นย้ายไปฝ่ายการเงิน ก่อนเกษียณชีวิตการทำงานเมื่อ 12 ปีก่อนด้วยตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายยานยนต์
ในมุมมองของอดีตเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเห็นว่า โรคระบาดในยุคก่อน ๆ "ไกลตัว" กว่านี้ เพราะแม้เป็นโรคติดต่อ แต่การแพร่ระบาดของเชื้อไม่รวดเร็ว จึงมีเวลาควบคุมโรคได้ทัน ต่างจากโควิด-19 ที่ระบาดรุนแรงและติดต่อง่ายมาก แต่ถึงกระนั้นเขาก็ "ไม่กลัว" เพราะหมั่นศึกษาหาความรู้-หาวิธีรับมือเพื่อให้สามารถป้องกันตัวได้อย่างถูกวิธี
เขายังฝากส่งกำลังใจให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขที่ต้องต่อสู้กับไวรัสมรณะนี้ให้รักษาสุขภาพให้แข็งแรง และภาวนาให้ทุกคนปลอดภัย
กลับมาที่ชายวัยเกษียณอย่างวินัย เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของเขาอยู่ที่บ้านเป็นหลัก ได้พบปะผู้คนบ้างระหว่างประกอบธุรกิจเล็ก ๆ คือรับซักผ้าผ่านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญที่ตั้งไว้หน้าบ้าน คำแนะนำของภาครัฐให้ผู้สูงอายุเกิน 70 ปีขึ้นไป "งดออกนอกบ้าน" จึงไม่ได้เพิ่มความลำบากยากเย็นอะไรให้แก่เขา ทว่าส่งผลกระทบกับกิจกรรมวันหยุดของครอบครัวบางส่วน เมื่อคุณปู่ไม่สามารถพาหลานตัวน้อย 2 คนออกไปเที่ยว หรือไปกินข้าวนอกบ้านได้
"ผมไม่กลัวว่าคนในบ้านจะติดเชื้อ เพราะภรรยาและหลานไม่ออกไปไหนอยู่แล้ว โอกาสเสี่ยงของคนในบ้านจึงมีน้อย ยกเว้นลูกชายที่ต้องออกไปทำงานทุกวัน แต่ก็ไม่ค่อยห่วงอยู่ดี เพราะเขาจะอาบน้ำจากที่ทำงานก่อนกลับบ้าน แล้วพอเข้าบ้านก็เปลี่ยนเสื้อชุดใหม่ จึงลดความเสี่ยงไปได้อีกทาง... แต่บางครั้งก็รู้สึกระแวงนะ หากมีคนเข้ามาอยู่ใกล้ ๆ" วินัยเล่าด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม
ในฐานะ "ผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน" ชี้ว่า โควิด-19 ไม่ได้ส่งผลแค่เรื่องสุขภาพ แต่ยังกระทบกับเงินในกระเป๋าของคนที่มีรายได้น้อยอย่างเห็นได้ชัด อย่างพนักงานบริการบนรถทัวร์ที่พักอยู่ใกล้ ๆ บ้านของวินัย ก็ถูกสั่งให้หยุดงานเพราะรถทัวร์หยุดเดินรถ ปกติถ้าหยุดอยู่บ้านก็ต้องเอาผ้ามาซักที่ร้าน แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยมากันเท่าไหร่ ซึ่งหลังโควิด-19 ระบาด เขายอมรับว่ารายได้จากเครื่องซักผ้าลดลงบ้าง ซึ่งเป็นไปได้ว่าทุกคนต้องประหยัด