รีเซต

นักเศรษฐศาสตร์ จับตาปรับ ครม. ทีมกู้วิกฤตเศรษฐกิจ ต้องมืออาชีพ คนไม่ร้องยี้!

นักเศรษฐศาสตร์ จับตาปรับ ครม. ทีมกู้วิกฤตเศรษฐกิจ ต้องมืออาชีพ คนไม่ร้องยี้!
ข่าวสด
17 กรกฎาคม 2563 ( 23:22 )
258
นักเศรษฐศาสตร์ จับตาปรับ ครม. ทีมกู้วิกฤตเศรษฐกิจ ต้องมืออาชีพ คนไม่ร้องยี้!

 

ไฮไลต์การปรับครม.หนนี้ ทุกฝ่ายจับตาไปที่ทีมเศรษฐกิจ ซึ่งจะเข้ามาแทนตำแหน่งของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และกลุ่ม 4 กุมารที่ยื่นลาออก

 

ในสถานการณ์วิกฤตที่เป็นอยู่ขณะนี้ การกอบกู้สถานการณ์ยากยิ่ง คนมาใหม่ควรมีคุณสมบัติอย่างไร ไปฟังความเห็นจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์

 

นางผาสุก พงษ์ไพจิตร ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในสถานการณ์นี้คนที่เข้ามา ต้องเป็นคนที่สนใจเรื่องของนโยบายสาธารณะ มาจากงานสาขากว้างๆ ถ้ามาจากสาขาที่เฉพาะเจาะจงไม่แน่ว่าจะมีมิติในทางนโยบายสาธารณะที่จะครอบคลุมไปถึงสังคม ในภาวะที่พิเศษอย่างช่วงโควิดเช่นนี้หรือไม่

 

ต้องรอบด้านไม่ใช่เฉพาะปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต้องมองถึงปัญหาสังคมด้วยเพราะเศรษฐกิจ กระทบต่อสังคม และเหตุการณ์โควิด-19 ถือเป็นเหตุการณ์ใหม่มาก จึงต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับประเทศต่างๆ ด้วย ไม่ใช่คนที่รอบรู้เฉพาะเรื่องปัจจุบันเท่านั้น
ถึงเวลาที่เราต้องทำสิ่งใหม่ๆได้แล้ว เพราะนิวนอร์มัลเกิดขึ้นใหม่ได้ทุกวัน จะทำเฉพาะเรื่องระยะสั้น หรือเฉพาะหน้าไม่ได้ ต้องคิดถึงระยะปานกลางด้วย

 

ผาสุก พงษ์ไพจิตร

 

และเป็นผู้ที่คิดนอกกรอบ ถ้าจะให้อะไรเกิดขึ้นไวๆ แต่ใช้กรอบนโยบายแบบเดิมๆ จะไม่ได้ผล สถานการณ์โลกและเศรษฐกิจของสังคมไทยพลิกหน้ามือเป็นหลังมือไปแล้ว ฉะนั้นต้องคิดถึงเรื่องท้องถิ่นด้วย เรื่องการมีส่วนร่วมของนักธุรกิจ ประชาชนระดับท้องถิ่นและนโยบายเศรษฐกิจด้วย
และไม่ใช่กำหนดจากส่วนกลางเท่านั้น เพราะศักยภาพประเทศไม่ได้อยู่ที่กรุงเทพฯ อย่างเดียว

 

ฉะนั้น ผู้ที่มาแทนคงต้องมีแนวคิดรับฟังการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ต่างๆ ไม่ใช่เป็นการกระจุกอำนาจ แต่ต้องกระจายอำนาจให้คนท้องถิ่นเขาช่วยแก้ปัญหาของเขาเองด้วย โดยรัฐอาจเสริมเรื่องทุนและนโยบายบ้าง

 

นางผาสุก ระบุอีกว่า การกระจายอำนาจคงเป็นอีกส่วนที่จำเป็นต่อการบริหารงาน ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งของบ้านเรานั้นมีการ กระจุกตัวของอำนาจการตัดสินใจหลายๆ เรื่อง เช่น กรุงเทพฯ มีอำนาจมากกว่าใคร ขณะที่การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นต้องอาศัยส่วนภูมิภาคด้วย

 

ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาโควิดแล้วให้ล็อกดาวน์ช่วงแรก ที่ใช้มาตรการเดียวกันทั้ง 77 จังหวัดโดยไม่ไปปรึกษาท้องถิ่นเลย ขณะที่ 77 จังหวัดไม่ได้มีใครติดเชื้อเลย แต่ได้รับมาตรการเดียวกันหมด แต่กลับกัน ถ้าเราไปปรึกษาท้องถิ่นจะได้ไอเดียเพิ่ม

 

ในวิกฤตนี้ผู้จะมาฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องเป็นคนมองกว้างและใจป้ำ แต่ต้องเข้าใจว่าตอนนี้ทั่วโลกติดลบกันหมดทุกประเทศต้องช่วยเหลือประเทศของเขาก่อน การคาดหวังว่าเข้ามาแล้วฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ดีอาจเป็นเรื่องค่อนข้างยาก

 

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าใน 2 ปีข้างหน้าการกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นหลัก และการจัดหาสภาพคล่องให้บริษัทที่กำลังล้มละลายเป็นเรื่องที่สามารถขับเคลื่อนได้มากสุดคือ อาหาร แต่ก็มีคู่แข่งหลายประเทศ

 

นางผาสุก กล่าวต่อว่า ต้องคิดด้วยว่าช่วงต่อไปจะทำอย่างไรให้คนไม่ตกงาน มีพออยู่พอกิน และต้องดูว่ารัฐบาลจะใจป้ำพอจะมีรายได้ ขั้นต่ำให้ทุกครัวเรือนอาจไม่ต้องสูงมากแต่ให้ได้กันถ้วนหน้าไป


หวังเพียงว่าคนที่เข้ามาใหม่นั้นจะคิดนอกกรอบ หรือปรับระบบภาษี เก็บภาษีความมั่งคั่งจากผู้ที่รวยมั่งคั่ง หรือมีรายได้เกินร้อยล้านบาท

 

ด้าน นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และคณบดีเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า สเปคที่คาดหวังกับสเป๊กที่พอหวังได้บ้างจากบริบทของประเทศอาจไม่เหมือนกัน แน่นอนเราต้องคาดหวังผู้มาทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีในกระทรวงเศรษฐกิจที่มีวิสัยทัศน์และมองปัญหาในเชิงระบบ มีความรู้ ความสามารถสูง มีประสบการณ์ เพราะต้องมาบริหารและแก้ปัญหาในช่วงวิกฤตการณ์

 

และดูเหมือนว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาในช่วง 70-80 ปีที่ผ่านมา ต้องมุ่งแก้ปัญหาในระดับมหภาค เพราะหากมัวแต่พะวักพะวนกับปัญหาในระดับจุลภาคจะชักนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ไม่มีประสิทธิผลต่อภาพโดยรวมของระบบเศรษฐกิจและอาจหลงทางได้

 

อนุสรณ์ ธรรมใจ

แน่นอนที่สุด ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีความโปร่งใส ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพราะความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการลงทุนในการช่วยทำให้เราฝ่าวิกฤตได้

 

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า วิกฤตที่ยากลำบากขณะนี้ต้องอาศัยมืออาชีพด้านไหนบ้างนั้น ก็ต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์มหภาค และเป็นนักบริหาร กล้าตัดสินใจ ต้องทำงานเป็นทีม เพราะไม่มีใครเก่งคนเดียว รู้ทุกเรื่อง หัวหน้าทีมต้องเป็นคนที่ตัดสินใจเก่ง กล้าตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วน
มีการทำวิจัยมาก่อน เพื่อสร้างทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับประเทศในสถานการณ์ต่างๆ ฉากทัศน์ต่างๆ ในอนาคต ซึ่งเรายังไม่มีรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

 

เนื่องจากโลกเผชิญสภาวะ VUCA อย่างเต็มที่ในขณะนี้ และอนาคต สภาวะ VUCA ซึ่งประกอบไปด้วย ความผันผวน (volatility) ความไม่แน่นอน (uncertainty) ความซับซ้อน (complexity) ความคลุมเครือ (ambiguity) เราต้องการทีมงานเศรษฐกิจที่ทำงานเชิงรุก ปรับตัวเร็วและมีพลวัตสูง สถานการณ์วิกฤตเช่นนี้จากรายชื่อที่ปรากฏให้ความหวังแค่ไหนนั้น ก็มีความหวังได้ระดับหนึ่ง แต่ทุกอย่างต้อง รอดูผลงาน รอดูการทำงาน อย่าไปด่วนตัดสินใจ ต้องให้โอกาสก่อน

 

ความจริงเราไม่ได้ขาดผู้เชี่ยวชาญ เรามีผู้เชี่ยวชาญอยู่มากพอสมควรในภาคราชการ ภาคธุรกิจ มีคนเก่งๆ คนดีๆ อยู่ไม่น้อย คนที่ทำงานระดับนโยบาย ระดับการเมือง เป็นรัฐมนตรี ใช้คนเป็น ใช้คนเก่ง รู้จักเลือกทีมทำงานที่เป็น การ Put the right man in the right job หากเรา put the right man in the wrong job เขาจะไม่ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ เสียของ

 

หากเรา put the wrong man in the wrong job ทำให้ประเทศเสียโอกาส เสียเวลา แต่ยังไม่เสียหาย เท่ากับ put the wrong man and bad guys ในตำแหน่งสำคัญต่างๆ ประเทศจะมีปัญหามาก และอาจจะเกิดการหาประโยชน์ในทางที่มิชอบจากตำแหน่งหน้าที่ได้ หรืออาจจะเกิดการเอื้อประโยชน์และผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างมาก ประชาชนและนักลงทุนจะไม่เชื่อถือ จะฟื้นเศรษฐกิจยาก เพราะการฟื้นเศรษฐกิจคราวนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

 

นายอนุสรณ์ ระบุต่อว่า ส่วนที่ฝ่ายค้านเสนอว่าต้องอาศัยคนมีฝีมือด้านกระจายอำนาจ จำเป็นหรือไม่ ผมบอกก่อนว่าการกระจายอำนาจจะช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น และตอบสนองต่อพื้นที่และชุมชนต่างๆ ที่มีความต้องการ และปัญหาที่หลากหลายและแตกต่างกันได้ดีขึ้น ทำให้มาตรการต่างๆ ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นอีกด้วย การมีฝีมือทางด้านการกระจายอำนาจไม่สำคัญเท่า การมีความเชื่อ หรือแนวความคิดที่เชื่อในเรื่องการกระจาย อำนาจ ต้องเริ่มต้นมีอุดมการณ์แบบนี้ก่อน อย่างอื่นจะตามมา

 

ขณะที่ นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ชี้ว่า ยามนี้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทีมเศรษฐกิจมาแทนชุดเก่าต้องเป็นคนที่ประชาชนเห็นแล้วใช้ได้ สร้างความมั่นใจในระดับหนึ่ง และต้องมีประสบการณ์ด้านการบริหารที่เกี่ยวข้องกับการเงินการคลัง ประสบความความสำเร็จในการบริหารองค์กร มีประสบการณ์สูง

 

เนื่องจากสถานการณ์แบบนี้จำเป็นต้องได้คนที่ริเริ่มอะไรใหม่ๆ มียุทธศาสตร์ มีลักษณะมองไปข้างหน้า เพราะต้องเจอกับโลกการเปลี่ยนแปลง ชื่อที่ออกมา เช่น นายปรีดี ดาวฉาย จะมานั่งรมว.คลัง ก็ใช้ได้ เพราะมีประสบการณ์สูงและอยู่ในแวดวงของธนาคารมาตลอด จะเห็นได้ว่าเมื่อเข้ามาก็จะสามารถจัดการได้ เนื่องจากมีมาตรการที่ต้องแก้ไข เกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจเอสเอ็มอี การปล่อยสินเชื่อซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

 

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

 

ส่วนนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่จะมาดูด้านพลังงาน มีประสบการณ์อยู่แล้วไม่น่าจะมีปัญหา แต่อาจมีปัญหากับพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งไม่ใช่ง่ายหนัก เพราะพลังงานมีผลประโยชน์พอสมควรจึงไม่อยากเอาคนนอกเข้ามา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนายกฯ เพราะเป็นโควตาของนายกฯ

 

คนที่มาใหม่ก็มีแขนขามา มีประสบการณ์มาก อย่างน้อยที่สุดคนไม่ร้องยี้ก็รับได้ และการบริหารช่วงต่อไปไม่ใช่ของง่ายเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคนเข้ามาเป็นรัฐมนตรี การควบคุมไม่ให้โควิด-19 ขยายตัวไปรอบสอง และเกิดการล็อกดาวน์ขึ้นอีกเรื่องนี้เป็นเรื่องของหมอ


แต่ที่เกี่ยวกับการบริหารการเงินการคลังที่ต้องคุมผลกระทบของโควิดให้อยู่ในลักษณะวงจำกัด และภายใต้การพัฒนาการที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ผลรุนแรงและส่งผลสร้างมูลค่าเพิ่ม ถือว่าเป็นภาระหนักพอสมควร

 

นายสมชาย กล่าวต่อว่า จากรายชื่อคนที่จะมาเป็นทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ หากได้คนที่เรารู้จัก ไม่มีการร้องยี้ก็ถือว่าใช้ได้ แต่คงต้องดูต่อไปว่าเขาจะมีความสามารถในการแก้ปัญหาได้หรือไม่ ที่ยากคือคนที่จะเข้ามาใหม่ จะต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งคือมีความรู้และริเริ่ม

 

รายชื่อที่ออกมาก็เหมาะสมแต่แรงกดดันของพรรคการเมืองก็สูง จึงต้องบริหารภายใต้แรงกดดัน เพราะไม่ว่าจะมาโดยโควตาพรรคไหนแรงกดดันทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นจากพรรคร่วมรัฐบาล และยังมีแรงกดดันจากประชาชนพอสมควร

 

ดังนั้น คนที่เข้ามาต้องบริหารภายใต้กรอบและทิศทางที่มีเอกภาพ นายกฯอาจต้องเข้ามาช่วยเพื่อให้ทิศทางการบริหารเป็นเอกภาพ แต่ไม่ใช่ของง่าย เพราะแรงกดดันในพรรคร่วมรัฐบาล ทีมที่เข้ามาต้องเน้นงานกระจายอำนาจด้วยหรือไม่นั้น เรื่องกระจายอำนาจถือว่าดีแต่ต้องทำอย่างมี ประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ต้องดูยุทธศาสตร์ด้วยทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง