รีเซต

วันนี้วันอะไร 22 มกราคม ประกาศใช้ “สวัสดี” เป็นคำทักทาย

วันนี้วันอะไร 22 มกราคม ประกาศใช้ “สวัสดี” เป็นคำทักทาย
TNN ช่อง16
13 มกราคม 2565 ( 17:05 )
447
วันนี้วันอะไร 22 มกราคม ประกาศใช้ “สวัสดี” เป็นคำทักทาย

รู้หรือไม่ คำว่า “สวัสดี” เป็นคำที่ถูกประกาศให้ใช้เป็นคำทักทายอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2486 ซึ่งประกาศใช้โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยในสมัยนั้นมีความเป็นชาตินิยมมากยิ่งขึ้น


คำว่า “สวัสดี” มีที่มาที่ไปอย่างไร


คำว่า “สวัสดี” มีรากศัพท์มาจากคำว่า “โสตฺถิ” ในภาษาบาลี และ “สวัสติ” ในภาษาสันสกฤต ซึ่งเริ่มใช้เป็นครั้งแรกที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้ริเริ่มใช้คือ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ซึ่งขณะนั้นได้เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัย


พระยาอุปกิตศิลปสาร ได้ปรับเสียงคำว่า "สฺวสฺติ" ที่ท่านได้สร้างสรรค์ขึ้นให้ง่ายต่อการออกเสียงของคนไทย จากคำสระเสียงสั้นซึ่งเป็นคำตาย มาเป็นคำสระเสียงยาวซึ่งเป็นคำเป็น ทำให้ฟังไพเราะ รื่นหูกว่า จึงกลายเป็น "สวัสดี" โดยใช้เป็นคำทักทายที่ไพเราะและสื่อความหมายดี ๆ ต่อกันของคนไทย 


ขณะที่คำว่า "ราตรีสวัสดิ์" ซึ่งเป็นคำแปลจากคำว่า "good night" ได้ถูกสร้างขึ้นในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงครามเช่นกัน โดยกำหนดให้คนไทยทักกันตอนเช้าว่า "อรุณสวัสดิ์" มาจากคำว่า "Good Morning" และให้ทักกันในตอนบ่ายว่า "ทิวาสวัสดิ์" มาจากคำว่า “Good Afternoon" ส่วนตอนเย็นให้ทักกันว่า "สายัณห์สวัสดิ์" มาจากคำว่า "Good Evening" 


อย่างไรก็ตาม ความนิยมในการพูดคำต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา หลายคำจึงไม่เป็นที่นิยม ทำให้คนไทยนิยมใช้คำว่า "สวัสดี" มากกว่า เพราะใช้ได้ตลอดเวลา แต่ยังคงมีคนไทยบางกลุ่ม ยังคงใช้คำว่า “อรุณสวัสดิ์” และ “ราตรีสวัสดิ์” อยู่บ้าง


ท่าทางการ "สวัสดี" ทำอย่างไร


การใช้คำว่า “สวัสดี” มักใช้คู่กับการทักทายและอวยพรไปในคราวเดียวกัน โดยมีท่าทางการใช้คำว่า “สวัสดี” โดยยกมือขึ้นประนมไหว้ตรงอก มือทั้งสองจะประสานกันเป็นรูปดอกบัวตูม คล้ายกับดอกบัวที่ใช้ในการสักการะ บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และไหว้ผู้ใหญ่ ส่วนการวางมือไว้บริเวณหน้าอกสื่อถึงความรู้สึกให้เห็นว่า การทักทายนั้นมาจากใจของผู้ไหว้


ทั้งนี้ นอกจากการใช้คำว่าสวัสดีในการทักทายแล้ว ยังขึ้นอยู่กับสถานะของผู้พูดด้วย หากผู้พูดกับคนที่มีอายุมากกว่าหรือตำแหน่งสูงกว่าผู้ชายจะใช้คำว่าครับตามหลังคำว่าสวัสดี “เป็นสวัสดีครับ” ส่วนผู้หญิงจะใช้คำว่า “สวัสดีค่ะ” แต่หากผู้พูดมีอายุมากกว่าหรือเท่ากับผู้ฟังหรือมีตำแหน่งที่สูงกว่าผู้ฟังก็จะใช้เพียงคำว่า “สวัสดี”


ที่มาข้อมูล : wikipedia

ที่มาภาพ : Freepik

ข่าวที่เกี่ยวข้อง