มะเร็งปากมดลูกไม่มีอาการ รู้ตัวอาจลุกลามรุนแรง ?
TNN ช่อง16
10 ธันวาคม 2567 ( 21:51 )
22
"ฟังแล้วดูน่ากังวลแต่เป็นเรื่องจริง" พญ.ณัฐชา พูลเจริญ กล่าว โดยชี้แจงว่าระยะเริ่มต้นส่วนมากจะไม่มีอาการ ในกรณีที่อยู่ในระยะลุกลาม อาการที่พบบ่อย เช่น เลือดออกทางช่องคลอดโดยเฉพาะหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ในกรณีที่กระจายไปสู่อวัยวะข้างเคียง อาจทำให้มีอาการปวดท้องน้อย ปัสสาวะหรืออุจจาระผิดปกติ ขึ้นอยู่กับว่าตัวก้อนมะเร็งลามไปที่อวัยวะใด
เมื่อไม่มีอาการจะต้องทำอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยง ?
ข้อดีของมะเร็งปากมดลูก คุณหมอบอกว่า จะมีช่วงระยะก่อนเป็นมะเร็ง เริ่มมีรอยโรคหรือเซลล์ที่ผิดปกติ แต่ยังไม่ใช่มะเร็ง หากตรวจเจอตั้งแต่ระยะนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้เกือบ 100% การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยผู้หญิงทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เริ่มตั้งแต่ อายุ 25 ปี
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันมีหลายวิธี
การตรวจแปปเสมียร์ (Pap smear) เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยสูตินรีแพทย์จะใช้เครื่องมือลักษณะคล้ายไม้พาย เก็บเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกก่อนนำส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติหรือเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งได้ เป็นวิธีที่ใช้มาเป็นเวลานาน
การตรวจตินแพร็พ แป๊บ เทสต์ (ThinPrep Pap Test)
พัฒนามาจากการตรวจวิธีแปปเสมียร์ มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น โดยมีข้อมูลการศึกษาวิจัยจากสถาบันทั่วโลกพบว่า จากการตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกโดยวิธี Thin prep จะให้ผลละเอียดกว่าการตรวจแบบเก่าวิธีแปปเสมียร์
การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ด้วยวิธีการตรวจ DNA
ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบเจาะลึกถึงระดับ DNA ด้วย Thin Prep Plus Cervista HPV DNA Testing เป็นการตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูก ร่วมกับตรวจดีเอ็นเอของเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ความสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสามารถตรวจพบความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ดีกว่าการตรวจ Pap smear อย่างเดียว คือสามารถเจาะลึกว่ามีการติดเชื้อ HPV 16 และ HPV 18 หรือไม่ ซึ่งจะช่วยบอกความเสี่ยงต่อการมีรอยโรคแอบแฝงได้เป็นอย่างดี
เขียนข่าว
เรียบเรียงโดย : ธัญรมณ ไพศาลสุนทรกิจ
ผู้สื่อข่าว คอลัมน์ ข่าวนี้จริงไหม ?
ภาพจาก
getty images
ช่างภาพTNN ช่อง16
#มะเร็งปากมดลูก #hpv #โรคสตรี #หมอสูตินรีเวช #หมอจุฬา #สุขภาพดี #ข่าวนี้จริงไหม #tnnthailand #tnnthailand #tnn