รีเซต

ค้นพบบึ้งสกุลใหม่ของโลก ตั้งชื่อ 'บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน' หลังพบบนพื้นที่ภูเขาสูงกว่า พันเมตร

ค้นพบบึ้งสกุลใหม่ของโลก ตั้งชื่อ 'บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน' หลังพบบนพื้นที่ภูเขาสูงกว่า พันเมตร
มติชน
2 กุมภาพันธ์ 2565 ( 13:32 )
72

ข่าววันนี้ เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 2 ก.พ.2565 ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. รศ.ดร.ดรุณี โชดิษฐยางกูล คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มข. พร้อมด้วย ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มข. พร้อมด้วย นายชวลิต ส่งแสงโชติ นักแมงมุมวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือ มก. นายวุฒิไกร ใข่แก้ว นักวิชาการอิสระ และนายทรงธรรม สิปปวัฒน์ หรือ โจโฉ ยูทูปเบอร์ชื่อดัง ร่วมกันแถลงข่าวการค้นพบบึ้งต้นไม้สกุลใหม่ของโลก “Taksinus bambus” หรือ บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน ซึ่งคณะนักวิจัยร่วม มข.และ มก. รวมทั้งนักวิชาการอิสระและคณะทำงานได้ทำการสำรวจและเป็นการค้นพบบึ้งสกุลใหม่ของทวีปเอเชียในรอบ 104 ปี และยังเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการค้นพบบึ้งสกุลใหม่จากประเทศไทยโดยถูกค้นพบ ที่ จ.ตาก

 

 

ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มข. กล่าวว่า การค้นพบบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน เป็นการค้นพบครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่เป็นการค้นพบบึ้งสกุลใหม่ของโลก ที่คณะนักวิจัยและนักวิชาการได้ตั้งชื่อว่า “Taksinus bambus หรือ บึ้งปล้องไม้ไผ่พระเจ้าตากสินเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระเจ้าตากสินมหาราช เนื่องจากเป็นการค้นพบบึ้ง สกุลใหม่ที่ จ.ตาก ที่ถือเป็นความภาคภูมิใจของ ชาว จ.ตาก และคนไทยทุกคน ซึ่งบึ้งชนิดนี้มีลักษณะนิเวศวิทยาด้วยการดำรงชีวิตอยู่ในเฉพาะต้นไผ่ มีลักษณะแตกต่างจากบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่น ๆ คือลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ที่สั้นและความชันของส่วนปลายน้อยกว่าบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่นที่พบมาทั้งหมด รวมทั้งบึ้งสกุลนี้ยังมีขนาดเล็กกว่าบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่น ๆ ด้วย

 

 

“ในประเทศไทยมีบึ้งอยู่หลายชนิดครอบคลุมทุกภูมิภาค ซึ่งจากการศึกษานิเวศวิทยาได้แบ่งบึ้งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามลักษณะการดำรงชีวิตคือ “บึ้งดิน” ซึ่งอาศัยบนพื้นดินโดยการขุดรูลึกลงไปในโพรงดินและ “บึ้งต้นไม้” โดยจะอาศัยภายในรูหรือโพรงของต้นไม้ ซึ่งTaksinus bambus หรือบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน จำแนกในวงศ์ย่อยคือเป็นกลุ่มบึ้งในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีบึ้งต้นไม้อยู่เพียง 4 สกุลคือOmothymus, Lampropelma,Phormingochilus และ Melognathus โดยกระจายตัวอยู่ในแถบมาเลเซีย, สิงคโปร์, สุมาตรา บอเนียว อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เท่านั้น

 

 

“สำหรับบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน ถูกค้นพบห่างไกลออกไปในทางพื้นที่ภูมิศาสตร์ทั้งหมดที่เคยถูกค้นพบมาโดยค้นพบในป่าไผ่บนภูเขาสูงกว่า 1,000 เมตร ใน จ.ตาก อย่างไรก็ตามปัจจุบันพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 31%หากในอนาคตพื้นที่ป่าลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน ก็เป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อันเนื่องมาจากลักษณะการดำรงชีวิตที่ผูกติดกับป่าไผ่ และสามารถพบได้บนพื้นที่บนภูเขาสูงทางภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น ”

 

 

ดร.นรินทร์ กล่าวต่ออีกว่า บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน แม้จะจัดอยู่ในกลุ่มบึ้งต้นไม้ แต่เป็นบึ้งชนิดแรกของโลกที่มีความจำเพาะกับต้นไม้ โดยบึ้งชนิดนี้อาศัยและดำรงชีวิตอยู่ภายในปล้องของต้นไผ่เท่านั้น ขนาดของรูทางเข้าของบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสินมีขนาดตั้งแต่ประมาณ 2 – 3 ซม.ไปจนถึงขนาดใหญ่ และบึ้งเป็นสัตว์ไม่สามารถเจาะรูไม้ไผ่ได้เอง ซึ่งจากการศึกษาสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากสัตว์ที่ใช้ฟันแทะเจาะเข้ามาใช้ประโยชน์ในการหาอาหารจากไผ่เพื่อกินหนอนที่อยู่ภายในรวมถึงอาจเกิดจากสัตว์อื่น ๆ เช่นแมลงที่เจาะเข้าไปหรือเกิดปริแตกตามธรรมชาติของต้นไผ่ รวมทั้ง เกิดจากการกระทำของคนได้ บึ้งชนิดนี้จะอาศัยอยู่ภายในปล้องไผ่โดยสร้างใยปกคลุมล้อมรอบภายในปล้องและมักออกมาหาอาหารเป็นสัตว์ขนาดเล็กหรือแมลงในช่วงกลางคืน

 

 

“จากการสำรวจพื้นที่โดยรอบไม่พบว่าบึ้งชนิดนี้อาศัยบนต้นไม้อื่นยกเว้นต้นไผ่จึงถือได้ว่าเป็นบึ้งที่หายากที่สุดในประเทศไทย และการค้นพบนี้เป็นการค้นพบบึ้งสกุลแรกของเอเชียในรอบ 104 ปี หลังจากการค้นพบครั้งหลังสุดเมื่อปี พ.ศ.2460 และนับได้ว่าเป็นบึ้งสกุลแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ถูกค้นพบและวิจัยโดยคนไทย อีกทั้งยังได้รับเกียรติในการนำรูปของบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสินขึ้นปกวารสารทางวิทยาศาสตร์ Zookeys ฉบับที่ 1080 ในปี 2022 วารสารทางด้านสัตววิทยาที่มีชื่อเสียง

 

 

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบฐานข้อมูลพบว่าบึ้งทั่วโลกยังไม่เคยค้นพบกลุ่มที่อาศัยอยู่ในต้นไผ่มาก่อน ซึ่งการค้นพบครั้งนี้จะเป็นสิ่งที่วงการวิทยาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกให้ความสนใจและติดต่อเข้ามาศึกษาวิจัย และศึกษาเกี่ยวกับชีวะวิทยาของบึ้งในการเพราะเลี้ยงและขยายพันธุ์ เพราะตอนนี้บึ้งชนิดนี้พบที่ จ.ตาก พบบนพื้นที่ภูเขาสูงมากกว่า 1,000 เมตร ถือว่าเป็นบึ้งที่หายากที่สุดในประเทศไทย ที่ทีมนักวิจัยยังไม่เคยพบบึ้งชนิดนี้อยู่บริเวณอื่นในประเทศไทย ซึ่งอนาคตจะมีการศึกษาวิจัยต่อไปว่าพื้นที่การกระจายตัวของบึ้งมีมากน้อยเพียงใด เพราะประเทศไทย เป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางรัพยากรธรรมชาติอยู่มาก และ ล่าสุดเป็นเรื่องที่น่ายินดีได้มีโอกาสพบบึ้งภายใน จ.ขอนแก่น ซึ่งได้ตั้งชื่อเบื้องต้นว่า “บึ้งดำ มข.” ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นบึ้งชนิดใหม่ของโลกเช่นกันซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการศึกษาวิจัยของคณะทำงานร่วมทุกฝ่าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง