โควิด-19 : ผู้ป่วยจะล้นจนหมออาจต้องเลือกรักษาในสหราชอาณาจักร

ในภาวะที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้ผู้ป่วยหลั่งไหลท่วมท้นโรงพยาบาลนั้น เหล่าแพทย์ในสหราชอาณาจักร ได้รับแจ้งว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับ "การตัดสินใจที่น่าเจ็บปวด" ในการเลือกว่าผู้ป่วยคนใดจะได้รับการรักษาเพื่อให้ได้มีชีวิตอยู่รอดต่อไป
สมาคมการแพทย์อังกฤษ (British Medical Association - BMA) ได้ออกคำแนะนำด้านจรรยาบรรณสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ผู้ปฏิบัติงานแถวหน้า โดยชี้ว่าจะต้องมีการเปิดอภิปรายสาธารณะอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับประเด็นนี้ "ในสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นนี้"
BMA ชี้ว่า แม้จะมีความพยายาม "อันหาญกล้า" ในการเพิ่มขีดความสามารถเพื่อให้บริการ แต่สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ก็อาจต้องเผชิญกับคลื่นคนไข้ที่ถาโถมเข้ามาจนเกินกำลังจะรับได้
- รักษาหรือปล่อยตาย เรื่องใหญ่ที่หมออิตาลีต้องเลือกคนไข้ในวิกฤตโควิด-19
- ไวรัสโคโรนา : "ผมเสียคนไข้ไป 5 คนในคืนเดียว" เรื่องเล่าจากหมอในอู่ฮั่น
- นายกฯ ไอร์แลนด์กลับไปเป็นหมอสู้โควิด-19
เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้สั่งซื้อเครื่องช่วยหายใจจำนวนมากเพื่อช่วยบรรเทาแรงกดดันของโรงพยาบาลต่าง ๆ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19
เครื่องช่วยหายใจเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงเครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด ที่เรียกว่า ECMO คือเครื่องมือที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนไข้อาการวิกฤตที่สุดเพื่อช่วยในการหายใจและอาจช่วยรักษาชีวิตพวกเขาเอาไว้ได้
ตัดสินใจว่าใครจะได้รับการรักษาอย่างไร
BMA เตือนว่า ในการปฏิบัติงานประจำวัน แพทย์อาจต้องเผชิญความลำบากในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาคนไข้ แต่การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หมายความว่าพวกเขาจะต้องตัดสินใจเรื่องความเป็นความตายบ่อยขึ้น และบางครั้งอาจต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องขีดความสามารถที่จะรับได้ มากกว่าแค่เรื่องความจำเป็นของคนไข้
คำแนะนำระบุว่า :
- คนไข้ทุกคนควรได้รับการรักษาด้วยความเห็นอกเห็นใจและความทุ่มเท ซึ่งรวมถึงการจัดการอาการ และในกรณีผู้ป่วยที่กำลังจะเสียชีวิต ก็ควรให้การดูแลระยะสุดท้ายที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
- อย่างไรก็ตาม การจัดลำดับความสำคัญในการรักษาคนไข้แต่ละรายก็ถือเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายและถูกหลักจริยธรรม หลักเกณฑ์นี้ใช้กับกรณีที่มีผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษามากกว่าจำนวนทรัพยากรที่แพทย์มีอยู่ในมือ
ในกรณีที่โรงพยาบาลมีทรัพยากรไม่เพียงพอ และจะต้องเลือกว่าผู้ป่วยคนใดจะได้รับการรักษา แพทย์ควรพิจารณาปัจจัยดังต่อไปนี้ :
- ความรุนแรงของโรคเฉียบพลัน
- การปรากฏและความรุนแรงของโรคร่วม (co-morbidity)
- ความเปราะบางของผู้ป่วย หรือ ปัจจัยเกี่ยวเนื่องกับการรักษา เช่น อายุผู้ป่วย
BMA ระบุว่า คณะผู้บริหารและแพทย์อาวุโสจะต้องกำหนด "เกณฑ์" การรับผู้ป่วยเข้ารักษาในหอผู้ป่วยอาการวิกฤต หรือ ไอซียู ซึ่งเป็นหน่วยที่คนไข้ส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คนไข้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการจัดอันดับความสำคัญในการรักษาก่อน
BMA ระบุว่า คนไข้ที่ "มีแนวโน้ม" จะเสียชีวิต หรือมีอาการหนักและต้องได้รับการรักษาอย่างเข้มข้นเป็นเวลานาน หรือมีอาการเกินเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะไม่ได้รับการรักษาในหอไอซียู แต่จะยังคงได้รับการรักษาในรูปแบบอื่นต่อไป
ดร.จอห์น คิสโฮล์ม ประธานคณะกรรมการด้านจริยธรรมของ BMA กล่าวว่า หากสถานการณ์โรคโควิด-19 ในสหราชอาณาจักรรุนแรงขึ้น จนมีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล แพทย์ก็จะต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่น่าเจ็บปวด
"คนไข้ซึ่งในสถานการณ์ปกติจะได้รับการรักษาอย่างเข้มข้น ก็อาจจะได้รับแค่การบรรเทาอาการ เพื่อให้แพทย์สามารถรักษาผู้ที่มีโอกาสจะรอดชีวิตได้มากกว่า ไม่มีใครอยากตัดสินใจแบบนี้ แต่หากมีทรัพยากรไม่เพียงพอ ก็จะต้องมีการตัดสินใจที่น่าปวดใจเช่นนี้"
ยอดนิยมในตอนนี้
