รีเซต

'ดอน' แจงยิบ CPTPP ยันยังไม่อนุมัติเจรจา ยึดหลักไม่ให้ไทยเสียประโยชน์

'ดอน' แจงยิบ CPTPP ยันยังไม่อนุมัติเจรจา ยึดหลักไม่ให้ไทยเสียประโยชน์
มติชน
10 พฤษภาคม 2564 ( 06:59 )
62
'ดอน' แจงยิบ CPTPP ยันยังไม่อนุมัติเจรจา ยึดหลักไม่ให้ไทยเสียประโยชน์

หมายเหตุ “มติชน” – นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ชี้แจงหลังมีการข่าวบนโซเชียลมีเดียว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ได้มีการประชุมลับเกี่ยวกับข้อเสนอของ กนศ. ที่จะให้มีการขยายเวลาศึกษาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP-ซีพีทีพีพี) ออกไปอีก 50 วัน และมีการให้อำนาจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้อนุมัติการเจรจาเพื่อเข้าร่วมกับซีพีทีพีพี ทำให้มีการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง และติดแฮชแท็ก #NoCPTPP และ #YesCPTPP ตามมา

 

 

มติ ครม.เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ถูกนำไปบิดให้เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ในวันดังกล่าวที่ประชุมไม่ได้มีการอภิปรายใดๆ ในเรื่องนี้ เพราะเป็นแค่การยื่นขอขยายเวลาการศึกษา อีกทั้งยังไม่ได้ให้อำนาจท่านนายกรัฐมนตรีไปลงนามเพื่อให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการเจรจาซีพีทีพีพีแต่อย่างใด การให้ข้อมูลที่ออกมาบนโลกโซเชียลลงกันเป็นตุเป็นตะ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและทำให้มีผู้เสียหาย ซึ่งไม่ยุติธรรมเพราะมันไม่เป็นความจริง ประชาชนต้องเข้าใจว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่ปรากฎในโซเชียล

 

 

ซีพีทีพีพี กลายเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจหลังจากที่ก่อนหน้านี้มีกำหนดจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.แต่ถูกถอนออกไปด้วยเหตุผลหลายประการ เราต้องมีความรอบคอบเนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ประชาชนและหลายฝ่ายให้ความสนใจ ท่านนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ ในชั้นต้นได้ส่งเรื่องให้ทางรัฐสภาซึ่งถือเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยพิจารณา ต่อมารัฐสภามีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงซีพีทีพีพี ซึ่งคิดว่าใช้เวลา 30 วันคงพอ ไปๆ มาๆ เมื่อพบว่ารายละเอียดซับซ้อนและมีผลประโยชน์มากมาย ทั้งยังคาบเกี่ยวกับหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วน ทางรัฐสภาจึงได้มีการขอต่อเวลาออกไปอีก 90 วัน รวมเป็น 4 เดือน เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้มาพิจารณาร่วมกัน

 

 

จากนั้นจึงมีการนำข้อเสนอจากรัฐสภาเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ซึ่งได้มอบให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) นำรายงานและข้อสังเกตุของ กมธ.ไปพิจารณา เมื่อกระทรวงรับมาแล้วพิจารณาเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องหาความเห็นความคิดจากภาคส่วนต่างๆ ภายในเวลา 30 วันที่ได้รับมาจาก ครม.อาจทำได้ไม่สมบูรณ์ เพราะต้องมีการพิจารณาข้อเสนอมากกว่า 80 ข้อที่ กมธ.นำเสนอมา ต่อมา กต.จึงขอเวลาคณะรัฐมนตรีเพิ่มอีก 90 วันเพื่อจะได้มีการหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ละเอียดขึ้น

 

 

ในเดือนมกราคมปีนี้ ครม.มีมติมอบให้ กนศ.ติดตามความคืบหน้าของเรื่องดังกล่าว และให้รวมรวมข้อมูลรวมถึงจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความพร้อมหรือความไม่พร้อมของไทย ตลอดจนเงื่อนเวลา โดยให้รายงานกลับไปยังครม.ภายใน 90 วัน กนศ. จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการ 8 ด้านเพื่อนำข้อสังเกตของกมธ. ไปหารือกับทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อนำกลับมารายงานที่ประชุมกนศ. อีกครั้ง ที่ผ่านมามีการประชุม กนศ.ชุดใหญ่ในเรื่องดังกล่าวมาแล้ว 3 ครั้ง โดยในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ประชุมมีมติให้เสนอ ครม.ขอขยายเวลาการศึกษาออกไปอีก 50 วัน กระทั่งได้มีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งจะครบกำหนดที่ได้มีการขอขยายเวลาในวันที่ 24 มิถุนายนนี้

 

 

เหตุที่ กนศ.ได้ขอขยายเวลาในการพิจารณาออกไปอีก 50 วัน เพราะเราทำงานกันละเอียดรอบคอบมาก และเห็นว่ามีอีกหลายมุมมองที่ต้องดูให้ละเอียดในทุกเรื่องที่ได้หารือกันมา เราดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้หน่วยราชการต่างๆ ไปช่วยกันดูเพื่อให้มีคำตอบที่เพียงพอว่าเราควรจะไปต่อหรือไม่

 

 

ถ้าที่สุดแล้วได้รับมอบหมายจากครม.ให้เข้าสู่การเจรจา ก็จะต้องเป็นการเจรจาที่ลดผลกระทบและข้อห่วงกังวลต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งหมด รวมถึงมีการจัดทำข้อสงวนเพื่อให้เกิดมุมลบน้อยที่สุด เราคิดไปถึงมาตรการที่ไม่ใช่แค่การป้องปราม แต่แก้ไขให้มีกลไกเยียวยาที่เพียงพอและยั่งยืน ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ชั่วคราว เราดูทุกอย่างแบบ 360 องศา++ ไม่ได้ดูแค่ปัญหาที่เห็นเฉพาะหน้า หลายปัญหาต้องมองถึงความเชื่อมโยง และมองภาพใหญ่ ไม่ได้มองแค่วันนี้ แต่มองว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต เพื่อทำให้หลายเรื่องที่เรามองเห็นในวันนี้ได้รับการดูแลแก้ไข

 

 

เวลา 50 วันที่ขอเพิ่มไป เรามีภารกิจเร่งด่วนหลายเรื่องที่ต้องทำ ตั้งแต่ให้อนุกมธ. 8 ชุด ซึ่งมีรัฐมนตรีเป็นประธานอนุกมธ. ไปพูดคุยในมิติของตนให้ครบทุกมุมมองทั้งในเรื่องเทคนิค ภาคใหญ่ ภาพไกล ดูว่าปัญหาที่ค้างอยู่ทั้งหมดจะทำอย่างไรต่อไป สามารถลดทอนได้อย่างไร รวมถึงการแก้ไขปัญหา คุยทุกด้าน ทำงานแบบพลิกหินทุกก้อนขึ้นมาดูให้ชัดว่าคืออะไร นับจากวันนี้ไปจนถึงหลังวันที่ 25 มิถุนายน ก็จะนำเสนอเอกสารเพื่อให้ครม. ตัดสินใจว่าไทยจะเข้าสู่การเจรจาซีพีทีพีพีหรือไม่

 

 

จากนี้ไปก็ยังมีขั้นตอนที่ต้องทำต่อไปอีก 4 ขั้นตอน 1.เร่งพิจารณารายละเอียดต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในปลายเดือนมิถุนายน 2.ครม. พิจารณาข้อเสนอและความเห็นของกนศ. ในเรื่องซีพีทีพีพี 3.ถ้าเห็นชอบให้มีการเจรจาก็จะเจรจาภายใต้การรับรู้ว่ามีประเด็นที่เป็นปัญหาที่ใดและมีมาตรการรับมือในการเจรจาอย่างไร และ 4.หากสุดท้ายเจรจาแล้วเสร็จก็ต้องนำผลการเจรจาเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้พิจารณาต่อไป

 

 

เราคำนึงถึงผลกระทบทุกประเด็นที่มีอยู่ ตลอดจนข้อสังเกตุทั้งปวงตั้งแต่การเจรจา ระหว่างเจรจา ไปจนถึงเวลาข้างหน้าอีกหลายสิบปี และไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างต้องจบในการเจรจา เพราะหากคุยแล้วเราเห็นว่ามีเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมในการดูแลผลประโยชน์ของภาคส่วนต่างๆ ได้ ถ้าเจรจาแล้วมันไม่ไหวก็คือไม่ไหว เราก็จะกลับมารายงานครม. ว่ามีอุปสรรคอย่างไร ขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้จะใช้เวลานานเป็นปี ดูอย่างการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) ก็ยังใช้เวลา 8-9 ปี ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เข้าใจว่าขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไร

 

 

สำหรับชาติสมาชิกอาเซียน ปัจจุบันเวียดนาม สิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย เป็นสมาชิกซีพีทีพีพีแล้ว ขณะที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียยังไม่ได้เข้าร่วม แต่กำลังดำเนินการตามขั้นตอนในประเทศเพื่อเตรียมการสำหรับการเข้าร่วมหรือไม่อย่างไรต่อไปเช่นเดียวกับที่ไทยกำลังดำเนินการอยู่

 

 

ในอนาคตซีพีทีพีพีจะเป็นตลาดที่ใหญ่มหาศาล มีคำถามเสมอว่าถ้าไม่เข้าในอนาคตเราจะสู้ประเทศอาเซียนอื่นที่เป็นสมาชิกซีพีทีพีพีได้หรือไม่ เราต้องดูภาพกว้างว่าที่สุดแล้วไทยจะอยู่ตรงไหน

 

 

๐ยืนยันว่าการขยายกรอบเวลาจะไม่กระทบการยื่นเรื่องเพื่อขอเข้าร่วมซีพีทีพีพีในเดือนสิงหาคมนี้ใช่หรือไม่

หาก ครม.ตัดสินใจอย่างช้าต้นเดือนกรกฎาคม ยืนยันว่าทันอย่างแน่นอน ปีนี้ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประธานเขาอยากให้ไทยเข้าซีพีทีพีพี เพราะเขามีการลงทุนในไทยมากกว่า 6,000 โครงการ เขาก็ต้องการให้บริษัทของเขาในไทยมีความสามารถในการแข่งขัน เพื่อไม่ให้เสียเปรียบบริษัทที่ไปลงทุนในประเทศสมาชิกซีพีทีพีพี

 

 

เราพยายามจะไม่ขยายเวลาเพิ่มอีก เชื่อว่าในกรอบเวลาที่มีจะสามารถตอบข้อห่วงกังวลทุกภาคส่วนได้ว่าเราไม่ได้ทำอย่างขอไปที เท่าที่ปรับกันมาก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น หลายหน่วยงานก็ปรับจนมาอยู่ในระดับที่เป็นไปได้ แต่ก็ต้องดูในรายละเอียดว่าจะมีทางออกอย่างไร จัดตั้งข้อสงวนอย่างไร หรือมีกรอบเวลาแค่ไหน

 

 

เราจะถอดใจตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่มีทางไปสู้เขาในเวทีโลกได้ ยืนยันว่าเราจะไม่ทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์อย่างแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง