รีเซต

ศบค.เผย ผลตรวจ ATK ติดโควิดสัปดาห์เดียวทะลุ 2 แสนราย เฉลี่ยป่วยวันละ 2.8 หมื่นราย

ศบค.เผย ผลตรวจ ATK ติดโควิดสัปดาห์เดียวทะลุ 2 แสนราย เฉลี่ยป่วยวันละ 2.8 หมื่นราย
TNN ช่อง16
4 สิงหาคม 2565 ( 14:14 )
96
ศบค.เผย ผลตรวจ ATK ติดโควิดสัปดาห์เดียวทะลุ 2 แสนราย เฉลี่ยป่วยวันละ 2.8 หมื่นราย

โฆษก ศบค. เผย ตัวเลขติดเชื้อ "โควิด-19" วันนี้ 2,166 ราย พบผู้ป่วยที่ลงทะเบียน "เจอ แจก จบ" ซึ่งตรวจ ATK มีผลบวก ในรอบสัปดาห์ทะลุ 2 แสนราย เฉลี่ยวัน 2.8 หมื่นราย ยืนยันมีเตียงเพียงพอ เตือนประชาชนรับยาจากแพทย์เท่านั้น จับตา ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ 19 ส.ค.

วันนี้ (4 ส.ค.65) เวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,166 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,151 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,151 ราย มาจากเรือนจำ 15 ราย เป็นผู้ หายป่วยเพิ่มขึ้น 2,700 ราย อยู่ระหว่างรักษา 21,377 ราย อาการหนัก 905 ราย 

ใส่ท่อช่วยหายใจ 476 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 29 ราย เป็นชาย 18 ราย หญิง 11 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 24 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย ไม่มีโรคเรื้อรัง 1 ราย มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,598,725 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,545,856 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 31,492 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อ 2,166 ราย เป็นตัวเลขของผู้ป่วยที่พักรักษาในโรงพยาบาล ขณะที่ผู้ติดเชื้อที่ลงทะเบียน OPSI เจอ แจก จบ ซึ่งตรวจแบบ ATK ในสัปดาห์ที่ 30 ระหว่างวันที่ 24-30 ก.ค. มีตัวเลขอยู่ที่ 201,554 ราย เฉลี่ยวันละ 28,793 ราย 

ในส่วนสถานการณ์ตัวเลขผู้ป่วยใส่ท่อหายใจถือว่าน่าเป็นห่วง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น และมีโรคประจำตัว แต่โดยรวมอัตราการครองเตียงเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 17.1% ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่ายังมีศักยภาพในการรักษาและยังสามารถขยายเตียงได้ 


อย่างไรก็ตาม จากการประเมินประวัติติดเชื้อใน 1 เดือนที่ผ่านมา จากแบบประเมินพฤติกรรมสุขภาพนักเรียนในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในสถานศึกษา พบว่าเป็นการติดเชื้อในโรงเรียนเพียง 5.66% ไม่ทราบสาเหตุ 8.96% เป็นการติดเชื้อจากบุคคลในบ้าน 14.93% และอื่นๆ มากที่สุด 70.45%

ส่วนเรื่อง "ยาโมลนูพิราเวียร์" กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า มีคุณภาพเพียงพอในการรักษาประชาชน และเน้นย้ำให้ภาครัฐดูแลการให้ยาผ่านการสั่งยาของแพทย์ โดยทางรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ไม่ควรซื้อยานอกจากที่ภาครัฐกำหนดไว้ให้ เพราะไม่แน่ใจเรื่องคุณภาพของยา และยาไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือที่เรียกว่ายาเถื่อน อาจจะมีอันตรายต่อตนเองได้

ทั้งนี้ ในวันที่ 19 ส.ค. จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เพื่อประเมินสถานการณ์และพิจารณามาตรการต่างๆ นำไปสู่การปฏิบัติ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. ฝากขอบคุณประชาชน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือในการป้องกันโควิด-19 เป็นอย่างดี.


ภาพจาก Thaigov , ศูนย์ข้อมูล COVID-19

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง