ผู้นำเทคร่วมยินดีทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนล่าสุด
ผู้นำบริษัทเทคชั้นนำของโลก ต่างแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ คือ โดนัล ทรัมป์ (Donald Trump) โดยข้อความส่วนใหญ่มีแนวทางที่คล้ายคลึงกัน คือ แสดงความหวังว่าทรัมป์จะประสบความสำเร็จกับตำแหน่ง และหวังว่าจะได้ร่วมงานกับทรัมป์
เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอมะซอน (Amazon) โพสต์แสดงความยินดีผ่านแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) โดยเรียกชัยชนะครั้งนี้ว่า “การกลับมาบนเส้นทางสายการเมืองที่ไม่ธรรมดา และเป็นชัยชนะที่เด็ดขาด”
แอนดี้ เจสซี (Andy Jassy) ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งต่อจากเบโซสเมื่อเขาลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของ Amazon ในปี 2021 ยังได้แสดงความยินดีกับทรัมป์ด้วยว่า “ขอแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีคนใหม่ สำหรับชัยชนะที่ต่อสู้มาอย่างยากลำบาก เราหวังว่าจะได้ร่วมงานกับคุณและรัฐบาลของคุณในประเด็นสำคัญต่อลูกค้า พนักงาน ชุมชน และประเทศของเรา”
ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอของแอปเปิล (Apple) แสดงความยินดีผ่านแพลตฟอร์ม X เช่นกัน “เราหวังว่าจะได้ร่วมงานกับคุณและรัฐบาลของคุณเพื่อช่วยให้แน่ใจว่าสหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้นำและขับเคลื่อนด้วยความเฉลียวฉลาด นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์”
แซม อัลท์แมน (Sam Altman) ซีอีโอของโอเพนเอไอ (OpenAI) ว่า “หวังว่าทรัมป์จะประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำงาน …เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่สหรัฐอเมริกาจะต้องรักษาความเป็นผู้นำในการพัฒนา AI ที่มีค่านิยมประชาธิปไตย”
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอของเมตา (Meta) เรียกชัยชนะของทรัมป์ว่า “เป็นชัยชนะที่เด็ดขาด” และหวังว่าจะได้ร่วมงานกับรัฐบาลของทรัมป์ รวมถึงกล่าวว่า “เรามีโอกาสดี ๆ มากมายรออยู่ข้างหน้า”
ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์ และซักเคอร์เบิร์กก่อนหน้านี้นับว่าไม่ค่อยราบรื่นเท่าไหร่นัก เช่น ในปี 2021 เฟซบุ๊กได้แบนทรัมป์เป็นเวลา 2 ปี หลังจากเหตุการณ์จลาจลเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 คือทรัมป์ได้แสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่โจ ไบเดน ชนะ จนอาจกระตุ้นให้ผู้สนับสนุนทรัมป์บุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ จนก่อให้เกิดการเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ในด้านทรัมป์ก็เคยโต้ตอบกับซักเคอร์เบิร์กเช่นกัน เช่น ในเดือนมีนาคม 2021 ทรัมป์เรียกซักเคอร์เบิร์กว่า Zuckerschmuck ซึ่งคำว่า Schmuck เป็นคำดูถูกเหยียดหยาม รวมถึงทรัมป์ได้กล่าวว่า Facebook เป็นศัตรูตัวจริงของประชาชน
คนที่แสดงความยินดีต่อทรัมป์อีก คือ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้บริหารบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา (Tesla) บริษัทอุตสาหกรรมอวกาศสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และบริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีสมองนิวรัลลิงก์ (Neuralink) ทั้งนี้ มัสก์เป็นผู้ประกาศตัวว่าสนับสนุนนทรัมป์ในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยบริจาคเงินเกือบ 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,600 ล้านบาท ให้กับหน่วยงานที่สนับสนุนทรัมป์ ซึ่งเมื่อทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง หุ้นของ Tesla ก็พุ่งขึ้นมากกว่าร้อยละ 13 ในช่วงบ่ายวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2024
ซุนดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ซีอีโอของอัลฟาเบต (Alphabet) บริษัทแม่ของกูเกิล (Google) แสดงความยินดีกับทรัมป์ และกล่าวว่าเขามุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีคนใหม่
สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ซีอีโอของไมโครซอฟต์ (Microsoft) กล่าวว่า “ขอแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีทรัมป์ เรารอคอยที่จะร่วมงานกับคุณและฝ่ายบริหารของคุณเพื่อผลักดันนวัตกรรมให้ก้าวไปข้างหน้า ซึ่งจะสร้างการเติบโตและโอกาสใหม่ ๆ ให้กับสหรัฐอเมริกาและโลก”
รีด ฮอฟแมน (Reid Hoffman) ผู้ร่วมก่อตั้งลิงค์อิน (LinkedIn) และถือเป็นผู้สนับสนุนกมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) กล่าวว่า “ทรัมป์ได้รับชัยชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในประเทศที่เรามีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียง สิทธิ์ที่จะพูด และกำหนดอนาคตของเราอย่างไม่มีข้อจำกัด” และได้เรียกร้องให้ประชาชนชาวอเมริกันสามัคคีกัน “ตอนนี้ เรากำลังลงมือทำงานหนักเพื่อเชื่อมช่องว่าง และเพื่อให้แน่ใจว่าชาวอเมริกันทุกคนจะมีอนาคตที่ปลอดภัย มั่นคง และรุ่งโรจน์”
เพ็ต เกลซิงเกอร์ (Pet Gelsinger) ซีอีโอของอินเทล (Intel) แสดงความยินดีกับทรัมป์ และเสริมว่าบริษัทของเขามุ่งหวังที่จะ "ทำงานร่วมกับฝ่ายบริหารเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและความเป็นผู้นำด้านการผลิตของอเมริกา"
อาร์วินท์ กฤษณะ (Arvind Krishna) ซีอีโอของไอบีเอ็ม (IBM) แสดงความยินดีกับชัยชนะของทรัมป์และกล่าวว่าบริษัทหวังที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลทรัมป์และรัฐสภาเพื่อส่งเสริมความเป็นผู้นำของอเมริกาในด้าน AI และควอนตัม เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของอเมริกา และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจทั่วประเทศ
นับว่าเป็นการแสดงความยินดีและยอมรับผลการเลือกตั้งที่ดีในประเทศแห่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หลังจากนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่านโยบายด้านเทคโนโลยีของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างไร
ที่มาข้อมูล CNBC
ที่มารูปภาพ Reuters