รีเซต

ส่องเทคสุดล้ำและนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ในบอลโลกกาตาร์ 2022 EP. 3 บอลโลกแบบรัก(ษ์)โลกฉบับกาตาร์ 2022

ส่องเทคสุดล้ำและนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ในบอลโลกกาตาร์ 2022 EP. 3 บอลโลกแบบรัก(ษ์)โลกฉบับกาตาร์ 2022
Tech By True Digital
30 พฤศจิกายน 2565 ( 12:37 )
147
ส่องเทคสุดล้ำและนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ในบอลโลกกาตาร์ 2022 EP. 3 บอลโลกแบบรัก(ษ์)โลกฉบับกาตาร์ 2022

Tech By True Digital กับซีรีส์ ส่องเทคสุดล้ำและนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ในบอลโลกกาตาร์ 2022 เดินทางมาถึง EP. สุดท้ายของซีรีส์แล้ว ซึ่งหากได้ติดตามมาโดยตลอดจะได้เห็นถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกที่เกิดขึ้นใน FIFA World Cup Qatar 2022™ ในขณะเดียวกันทั้ง FIFA และเจ้าภาพอย่างกาตาร์ก็ยืนยันว่าในทุก ๆ การจัดการที่เกิดขึ้นนั้นล้วนใส่ใจสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น Tech By True Digital จะพาไปดูว่า กาตาร์ใช้เทคโนโลยีและระบบการจัดการแข่งขันที่รักษ์โลกใบนี้ในแบบฉบับของกาตาร์อย่างไร

 

หลังจากที่ FIFA ออกรายงานในเดือนมิถุนายน 2021 ประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการแข่งขันฟุตบอลโลกกาตาร์ 2022 ว่าจะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 3.6 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณคาร์บอนที่บางประเทศผลิตต่อปี และมากกว่าการจัดฟุตบอลโลกปี 2018 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ โดยแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซนั้น มาจากการเดินทางด้วยเครื่องบิน การสร้างสนามกีฬา โรงแรมและที่พัก จึงทำให้ทั้ง FIFA และกาตาร์ออกมาให้คำมั่นสัญญาว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้จะเป็นทัวร์นาเมนต์ที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก โดยใช้วิธีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ลดคาร์บอนฟุตพรินต์ ไปจนถึงกระบวนการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) หลากหลายวิธีด้วยกันในแบบฉบับของกาตาร์ อาทิ

 

Compact Tournament

ความแตกต่างจากการแข่งขันฟุตบอลโลกในทุกครั้งที่ผ่านมา คือกาตาร์ 2022 เป็นการแข่งขันแบบ Compact Tournament หรือ ‘กระทัดรัด’ และ ‘กระชับ’ มากที่สุดในประวัติศาสตร์การแข่งขันฟุตบอลสมัยใหม่ สืบเนื่องมาจากสนามฟุตบอลทั้ง 8 แห่งนั้นตั้งอยู่ใกล้กัน โดยสนามฟุตบอลที่ห่างกันมากที่สุดมีระยะห่างกันเพียง 75 กม. เท่านั้น คือสนาม Al Bayt กับสนาม Al Janoub ซึ่งนั่นทำให้แฟนบอลและนักบอลจะพักและฝึกซ้อมในบริเวณเดียวกันตลอดการแข่งขัน

 

ที่ตั้งสนามฟุตบอลทั้ง 8 แห่ง แบบ Compact Tournament

ที่มา: https://www.qatar2022.qa/

 

No Internal Flights

และด้วยโลเคชันของสนามฟุตบอลแบบ Compact Tournament นี่เอง ทำให้ทั้งแฟนบอล นักบอล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่จำเป็นต้องเดินทางด้วยเครื่องบินภายในประเทศเมื่อมาถึงที่กาตาร์ เพราะทั้งสนามซ้อม สนามจัดการแข่งขัน และสถานที่ท่องเที่ยวของกาตาร์เองอยู่ไม่ห่างกันมาก ถือเป็นการลดการเดินทางด้วยเครื่องบินที่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการเดินทาง

 

Doha Metro

ระบบขนส่งมวลชนที่เป็นระบบขนส่งหลักและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้คือ Doha Metro ระบบรถไฟฟ้าใหม่ของกาตาร์ที่ใช้ระบบ Regenerative Braking Systems หรือระบบเบรกในรถยนต์ไฟฟ้าแบบคืนพลังงานกลับมาใช้ใหม่ในภายหลัง ซึ่งเป็นการช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ ในขณะเดียวกันสถานีรถไฟฟ้าสถานีต่าง ๆ ยังได้รับการรับรองด้านสิ่งแวดล้อมและดำเนินการภายใต้การรับรองอาคารสีเขียว

 

Doha Metro

ที่มา: https://www.timeoutdoha.com/travel/doha-metro-guide

 

แผนการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกาตาร์ยังขยายไปถึงรถยนต์ไฟฟ้าและรถประจำทางที่จะคอยรับส่งแฟนบอลระหว่างที่พักและสนามการแข่งขัน โดยร่วมมือกับ KAHRAMAA ผู้ดำเนินการระบบส่งและจ่ายไฟฟ้าและน้ำในกาตาร์ ในการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศ รวมไปถึงการให้บริการสกูตเตอร์ไฟฟ้าและจักรยานด้วย

 

Fully Demountable Stadium สนามฟุตบอลแบบถอดประกอบได้

หนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนของการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกกาตาร์ครั้งนี้ ที่เจ้าภาพบอกว่าคือการสร้างประวัติศาสตร์ก่อนที่จะเกิดการแข่งขันเสียอีกคือสนามฟุตบอลแบบถอดประกอบได้ ที่ Ras Abu Aboud Stadium หรือ Stadium 947 ขนาดความจุ 40,000 ที่นั่ง ที่สร้างขึ้นจากตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งแต่เดิมคือตู้ที่ใช้ขนส่งวัสดุก่อสร้างมายังกาตาร์ และโครงสร้างพิเศษด้วยเหล็กแบบโมดูลาร์ และที่นั่งแบบถอดได้ ซึ่งชื่อ Stadium 947 มีที่มาจากรหัสโทรศัพท์ระหว่างประเทศของกาตาร์และเป็นจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกใช้ทั้งหมดในการประกอบสร้างสนามแห่งนี้

 

Stadium 947 สร้างขึ้นจากตู้คอนเทนเนอร์และที่นั่งถอดประกอบได้

ที่มา:https://www.qatar2022.qa/

 

Stadium 947 ถือเป็นสนามฟุตบอลแห่งแรกในประวัติศาสตร์การแข่งขันฟุตบอลและจะเป็นต้นแบบนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนสำหรับการจัดการแข่งขันรายการใหญ่ในอนาคตที่สนามถอดประกอบได้ทั้งหมด นั่นหมายถึงเมื่อการแข่งขันสิ้นสุดลงสนามแห่งนี้จะถูกรื้อถอน และชิ้นส่วนที่ประกอบสร้างเป็นสนามจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ โดยจะถูกนำไปสร้างเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่พัฒนาริมชายฝั่งทะเลสำหรับชุมชนและคนท้องถิ่น รวมถึงในด้านกีฬาทั้งในกาตาร์และในต่างประเทศ ซึ่งเจ้าภาพยืนยันถึงความคิดแบบรอบคอบและคิดแบบคนรักษ์โลกว่าแม้การปราฏตัวของสเตเดียมจะอยู่เพียงชั่วคราวแต่ชิ้นส่วนทั้งหมดจะถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างถาวรต่อไป 

 

อีกทั้ง Stadium 947 ยังเป็นสนามฟุตบอลแห่งเดียวที่ไม่ได้มีการติดตั้ง Advanced Stadium Cooling Tech หรือเทคโนโลยีปรับอากาศขั้นสูงในสนาม โดยใช้การระบายอากาศตามธรรมชาติ ด้วยทำเลที่ตั้งของสนามที่ใกล้ชายฝั่งทะเล ที่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ถึงลมเย็นที่พัดเข้ามาจากอ่าวอาหรับได้

 

Stadium 947 ใช้การระบายอากาศตามธรรมชาติ ด้วยทำเลที่ตั้งของสนามที่ใกล้อ่าวอาหรับ

ที่มา:https://www.qatar2022.qa/

 

ฟุตบอลโลกสีเขียว

กาตาร์วางแผนให้ทัวร์นาเมนต์นี้เป็นฟุตบอลโลกสีเขียว ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ การซื้อ Carbon Offset หรือการชดเชยคาร์บอนจำนวน 1.8 ล้าน Carbon Offset จาก Global Carbon Council ซึ่งเป็นองค์กรจดทะเบียนคาร์บอนเครดิตในโดฮา ซึ่งเงินจะถูกนำไปใช้ในโครงการพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้พันธุ์พื้นเมืองในสวนสาธารณะและบริเวณโดยรอบสนามฟุตบอลเพื่อชดเชยคาร์บอน การจัดการขยะและของเสียตั้งแต่การก่อสร้างจนถึงการแข่งขัน การติดตั้งระบบรีไซเคิลในสนาม การใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้เทคโนโลยีเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการกำหนด Sustainable Sourcing Code หรือ กำหนดเกณฑ์มาตรฐานสำหรับซัพพลายเออร์และสปอนเซอร์ของการแข่งขันที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด เหล่านี้ไม่เพียงเป็นการกระทำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นโอกาสในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น แต่ยังเป็นการทิ้งมรดกสีเขียวจากทัวร์นาเมนต์นี้ไว้ให้ลูกหลานในอนาคตอีกด้วย

 

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Al Kharsa'ah 

 

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Al Kharsa'ah

ที่มา: https://www.solarbeglobal.com/

 

กาตาร์ยืนยันกับคำมั่นสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยรวมของประเทศด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Al Kharsa'ah ขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดสาธารณูปโภคแห่งแรกของกาตาร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ตั้งอยู่ห่างจากกรุงโดฮาไปทางทิศตะวันตกประมาณ 80 กม. ที่จะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ อาทิ ระบบ Advanced Stadium Cooling Tech ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในสนามฟุตบอล 7 แห่ง ก็ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นี้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกันก็ลดการพึ่งพาการใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้าของกาตาร์อีกด้วย โดย Al Kharsa'ah แห่งนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1,800 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 900,000 ตันต่อปี

 

Bonocle ให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นดูบอลโลกได้ 

 

อุปกรณ์ Bonocle แปลง Digital Content เป็นอักษรเบรลล์ ขนาดพกพาสะดวก

ที่มา: https://bonocle.co/en/

 

ความรักษ์โลกของกาตาร์ 2022 ยังคำนึงถึงเพื่อนร่วมโลกที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ด้วยการให้ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถเข้าถึงเกมการแข่งขันฟุตบอลได้ ผ่านนวัตกรรมที่มีชื่อว่า Bonocle ที่จะแปลงเนื้อหาดิจิทัลเกี่ยวกับเกมการแข่งขันฟุตบอลโลกแต่ละนัดให้เป็นอักษรเบรลล์ ทำให้แฟนบอลสามารถเข้าถึงเนื้อหาและเพลิดเพลินกับเกมการแข่งขันได้

 

Bonocle ไม่เพียงแค่แปลงเนื้อหาเกี่ยวกับฟุตบอลโลกเท่านั้น แต่ใน Application ที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ Bonocle ยังมีเนื้อหาอื่น ๆ ให้ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นได้เข้าไปรับชม ทั้งการเรียนรู้ใหม่ ๆ  และเพลิดเพลินกับเกม เช่น หมากรุก หรือแข่งบอล อีกด้วย

 

เกมใน Bonocle ให้ผู้ใช้งานเล่นเป็นผู้รักษาประตูรับบอลตามทิศทางบอลในเกม

ดูตัวอย่างการทำงานของ Bonocle ได้ใน https://youtu.be/9AHTtVn8bw8

 

Bonocle  เป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ที่ชนะรางวัลจากโครงการ 'Challenge 22' โครงการประกวดนวัตกรรมของ Supreme Committee for Delivery and Legacy (SC) ผู้นำทางเทคโนโลยีในตะวันออกกลาง ที่เปิดโอกาสให้นักนวัตกร สตาร์ทอัป และผู้ประกอบการภายในภูมิภาค เข้ามาเสนอผลงานที่ท้าทายความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี โดยมีโจทย์คือให้ทุกคนในสังคมได้มีส่วนร่วมกับปรากฏการณ์ฟุตบอลโลกที่กาตาร์ในครั้งนี้ ซึ่งผู้ชนะรางวัลจะได้รับการสนับสนุนเงินทุนเพื่อนำไปต่อยอดและทำให้สิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้นมานั้นได้ออกสู่ตลาดในที่สุด 

 

และนี่คือตัวอย่างการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่เจ้าภาพตระหนักและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้ว่าฟุตบอลโลกกาตาร์จะถูกจัดขึ้นในระยะเวลาเพียง 5 สัปดาห์ก็จริงแต่การเตรียมการเพื่อการจัดการแข่งขันนั้นมีมายาวนานกว่านั้น การระดมสรรพกำลังและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้การจัดการแข่งขันเกิดขึ้นได้โดยตั้งอยู่บนความพยายามให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอนของกาตาร์จึงถือเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจที่ดีแต่ก็เป็นเรื่องท้าทาย และต้องใช้ระยะเวลาต่อเนื่องหลังจบการแข่งขันเพื่อที่จะบอกได้ว่าการจัดการแข่งขันโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของโลกอย่างที่กาตาร์ให้คำมั่นสัญญานั้นบรรลุเป้าหมายมากน้อยเพียงใด เพราะที่สุดแล้วการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ล้วนใช้ระยะเวลามากกว่าทัวร์นาเมนต์นี้ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง วัดผลได้จริง และโปร่งใส ไม่เช่นนั้นการรักษ์โลกในฟุตบอลโลกครั้งนี้ก็จะเป็นเพียงการรักษ์โลกในแบบฉบับของกาตาร์ 2022 เท่านั้น

 

อ่านทุก EP. ของซีรีส์ส่องเทคสุดล้ำและนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ในบอลโลกกาตาร์ 2022 

EP.1 A World Cup of Innovation ได้ที่นี่ 

EP.2 เทคโนโลยีปรับอากาศขั้นสูงเพื่อบอลโลกในดินแดนทะเลทราย ได้ที่นี่

 

----------------------------------------

อ้างอิง:

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง