“LUCY” ภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจัน จุดเครื่องยนต์บนอวกาศครั้งแรก
ในที่สุดภารกิจ ลูซี่ (LUCY) หรือภารกิจการส่งยานไปสำรวจกลุ่มดาวเคราะห์น้อยโทรจันที่ห่างไกล ในจุดที่ไม่เคยมียานลำไหนได้ไปสำรวจมาก่อน ก็ได้ฤกษ์จุดเครื่องยนต์บนอวกาศเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การปล่อยตัวจากโลก เพื่อเร่งเครื่องเดินทางไปถึงจุดหมายให้ได้ตามแผนการ
เมื่อวันพุธที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ยานอวกาศลูซี่ได้จุดเครื่องยนต์หลักนอกโลกเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การปล่อยตัวในเดือนสิงหาคมปี 2021 ซึ่งการจุดเครื่องยนต์หลักนี้ จะทำให้ยานลูซี่เผาไหม้เชื้อเพลิงไปประมาณครึ่งหนึ่ง และจะมีการจุดเครื่องยนต์อีกครั้งในวันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ตามกำหนด การจุดเครื่องยนต์ทั้งสองครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มความเร็วของยานลูซี่ให้ถึงประมาณ 2,000 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือราว 3,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงความเร็วครั้งใหญ่ที่สุด ที่เคยเกิดขึ้นกับยานอวกาศลำนี้ และเป็นก้าวสำคัญเพื่อช่วยให้ยานลูซี่ เดินทางไปยังจุดหมายได้สำเร็จ
ส่วนเหตุการณ์สำคัญถัดไปของยานลูซี่ จะเป็นการบินผ่านโลกภายในเดือนธันวาคมปี 2024 โดยจะบินเข้าใกล้โลกถึงระยะ 230 ไมล์ หรือราว 370 กิโลเมตร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หวังว่าแรงโน้มถ่วงของโลกจะช่วยส่งให้ยานลูซี่ เดินทางเข้าสู่วิถีโคจรใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้ เส้นทางโคจรหลักของยานลูซี่ ทำให้มันได้เดินทางเฉียดเข้ากับดาวเคราะห์น้อย ดิงคิเนช (Dinkinesh) จนทำให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบข้อมูลใหม่ นั่นคือดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ มีบริวารของมันเองด้วย
ส่วนเส้นทางใหม่ของลูซี่ จะพามันไปไกลกว่าแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผน ยานลูซี่จะเดินทางไปพบกับดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กอีกดวงหนึ่งในเดือนเมษายนปี 2025 และนี่จะเป็นจุดแวะพักสุดท้ายของลูซี่ ก่อนที่จะถึงจุดหมายปลายทางหลัก นั่นคือกลุ่มดาวเคราะห์น้อยโทรจัน ซึ่งเป็น กลุ่มของดาวเคราะห์น้อย ที่มีวงโคจรทับซ้อนกับวงโคจรของดาวพฤหัสบดี โดยภารกิจของลูซี่จะสิ้นสุดในปี 2033 ซึ่งการเดินทางของลูซี่อาจจะเผยให้เห็นข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ เกี่ยวกับต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของระบบสุริยะ ที่เรายังไม่เคยรู้มาก่อนก็เป็นได้
ข้อมูลจาก space, interestingengineering, thaiastro, narit