รีเซต

มั่นใจไทยไม่ขาดแคลนอาหาร พร้อมส่งออกช่วยโลกในภาวะฉุกเฉิน

มั่นใจไทยไม่ขาดแคลนอาหาร พร้อมส่งออกช่วยโลกในภาวะฉุกเฉิน
TNN ช่อง16
12 กรกฎาคม 2565 ( 16:31 )
63
มั่นใจไทยไม่ขาดแคลนอาหาร พร้อมส่งออกช่วยโลกในภาวะฉุกเฉิน

คนไทยอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่าเนื้อไก่และไข่ไก่ ที่บริโภคกันอย่างไรไม่เคยขาดแคลนและราคาที่ต่ำว่าหลายประเทศทุกวันนี้ ได้มาจากความยากลำบากของเกษตรกรผู้เลี้ยงทั้งสิ้น  เพราะต้องดูแลสัตว์ด้วยกำลังกายและความทั้งหมดที่มี และต้องรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดจาก ปัจจัยการผลิต ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ โรคอุบัติใหม่ แม้กระทั่งสงคราม โดยเฉพาะ 2 ปีมานี้ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ลากยาวจะเข้าเดือนที่ 5 เกษตรกรมีความยากลำบากเพิ่มขึ้นแต่ยังคงทำหน้าที่ผลิตอาหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างเพียงพอของคนไทยทุกคน 


มองประเทศไทย เราแทบไม่เคยเดือดร้อนกับเรื่องอาหารการกินเลย สมญานาม “เมืองอู่ข้าวอู่น้ำ” ยังคงเรียกขานกันให้ติดปากจนถึงปัจจุบัน สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ทางอาหาร “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” ที่ได้มาจากธรรมชาติ หากปัจจุบันไม่ใช่การผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเท่านั้น แต่เราใช้ศักยภาพ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญการผลิตสร้างโอกาศ “ส่งออก” ไปสนับสนุนการบริโภคของประชากรโลก ซึ่งเป็นช่องทางระบาย “ผลผลิตส่วนเกิน” ไม่ให้ล้นตลาดและป้องกันราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเนื้อไก่และไข่ไก่ เป็นอาหารที่ใกล้ตัวเรามาก แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง จากการติดตามต้นทุนการผลิตไก่เนื้อของหลายสมาคม เช่น สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย พบว่าต้นทุนเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2560-2564 อยู่ที่กิโลกรัมละ 33.86-37.30 บาท ขณะที่ราคาหน้าฟาร์มเฉลี่ยในช่วงเดียวกันอยู่ที่ 29.51-37.00 บาท โดยต้นทุนช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2565 เพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 43.62 บาท และราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 40.98 บาท เห็นได้ว่าขาดทุนยาวไป


ที่สำคัญปริมาณการผลิตเนื้อไก่ไทยเฉลี่ยปีละ 2.8-2.9 ล้านตัน บริโภคในประเทศประมาณ 1.88-1.9 ล้านตัน และส่วนที่เหลือบริโภคส่งออกปีละ 800,000 – 900,000 ตัน ซึ่งมาตรฐานเนื้อไก่ไทยเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมหรือแม้แต่ฮาลาล ไทยสามารถทำได้ตามมาตรฐานสากลไม่ขาดตกบกพร่อง โดยกรมปศุสัตว์ พิจารณาอุปสงค์ (Demand) และ อุปทาน (Supply) ของประเทศแล้ว มั่นใจว่าการส่งออกเนื้อไก่ปีนี้มีประมาณ 920,000 ตัน สร้างมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยกับซาอุดิอาระเบีย และการส่งออกจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศไม่ให้ตกต่ำ ทำให้เกษตรกรไทยเห็นแสงสว่างหลุดพ้นจากปัญหาขาดทุนสะสมได้บ้าง ที่สำคัญการนำผลผลิตส่วนเกินไปส่งออกดีกว่าปล่อยให้เน่าเสียไปแบบสูญเปล่า หรือเพิ่มต้นทุนในการเก็บรักษา

ส่วนไข่ไก่ที่ขาดไม่ได้สำหรับอาหารประจำวันของไทย ย้อนหลังไปปี 2545 ราคาไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ประมาณฟองละ 2.20 บาท ขณะที่ราคาปัจจุบันฟองละ 3.30 บาท แสดงให้เห็นว่า 20 ปี ที่ผ่านมา ราคาไข่ไก่ปรับขึ้นเพียง 1 บาทต่อฟองเท่านั้น เทียบกับราคาน้ำมันเบนซินในช่วงเวลาเดียวกันราคาอยู่ที่ลิตรละ 15 บาท ปัจจุบันราคาสูงกว่า 40 บาทต่อลิตร และคาดการณ์ว่าหากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นไป 180 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลจะขึ้นไปแตะ 60 บาทต่อลิตร จากราคาปัจจุบัน 35 บาทต่อลิตร หรือแม้แต่น้ำมันพืชสำหรับปรุงอาหารขวดลิตรปรับราคาจาก 25 บาท เป็น 70 บาท ส่วนต่างการปรับราคาทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่น


ความจริงของไข่ไก่ที่สำคัญ คือ ผลผลิตประมาณวันละ 42.92 ล้านฟอง ผลผลิตล้นตลาดวันละ 1 ล้านฟอง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 ทำให้ราคาอ่อนลงต่อเนื่อง เกษตรกรอยู่ในภาวะขาดทุนเมื่อเปรียบต้นทุนการผลิตโดยคณะอนุกรรมการต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.02 บาทต่อฟอง ขณะที่ข้อมูลกรมการค้าภายในราคาไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 3.10 บาทต่อฟอง กรมปศุสัตว์ พิจารณาอุปสงค์-อุปทานแล้ว จึงสั่งให้ปลดแม่ไก่ยืนกรงที่อายุเกิน 80 สัปดาห์ ตลอดจนขอความร่วมมือผู้ผลิตไก่ไข่พันธุ์ 16 ราย ช่วยผลักดันการส่งออกไข่ไก่รวมกันประมาณ 32 ล้านฟอง เพื่อพยุงราคาในประเทศให้เกษตรกรอยู่รอด


เห็นได้ว่าทั้งเนื้อไก่และไข่ไก่ มีแนวทางการแก้ปัญหาที่เหมือนกัน คือ “ส่งออก” ซึ่งเป็นกลไกที่ช่วยดูดซับผลผลิตส่วนเกิน ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศไม่ให้ตกต่ำ ที่สำคัญเนื้อไก่และไข่ไก่ไม่ได้เพิ่งมาเริ่มส่งออกปีนี้เป็นปีแรก แต่ส่งออกมาแล้วมากกว่า 20 ปี และปริมาณเพิ่มขึ้นโดยตลอดโดยเฉพาะเนื้อไก่ไทย เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้   ส่วนไข่ไก่แม้ส่งออกตามหลังเนื้อไก่ แต่ก็สามารถส่งออกไปในตลาดที่มีศักยภาพทั้งสิ้น เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทย ที่สำคัญการส่งออกไม่ทำให้คนไทยขาดแคลนอาหารหรือทำให้สินค้านั้นๆ มีราคาสูงจนจับต้องไม่ได้ แต่ที่เห็นราคาสินค้าสูงขึ้นขณะนี้เป็นการปรับตามต้นทุนวัตถุดิบและปัจจัยการผลิต ซึ่งเกษตรกรทุกประเทศไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในขณะนี้  เชื่อเถอะ..ไม่มีทางที่ไทยเราจะส่งออกจนคนไทยต้องประสบกับความอดอยากและราคาที่ไม่เหมาะสม เพียงแต่เรากินของราคาถูกจนเคยชิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง