รีเซต

สำรวจอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ ในวาระครบขวบปีรัฐบาลพลเรือน พปชร. ชงใช้ “เปรมโมเดล” ปรับ ครม. “ประยุทธ์ 2/2”

สำรวจอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ ในวาระครบขวบปีรัฐบาลพลเรือน พปชร. ชงใช้ “เปรมโมเดล” ปรับ ครม. “ประยุทธ์ 2/2”
บีบีซี ไทย
10 กรกฎาคม 2563 ( 12:26 )
91
สำรวจอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ ในวาระครบขวบปีรัฐบาลพลเรือน พปชร. ชงใช้ “เปรมโมเดล” ปรับ ครม. “ประยุทธ์ 2/2”

รัฐบาลผสมภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เข้าบริหารประเทศครบขวบปีในเดือน ก.ค. นี้ แม้มีสารพัดปัญหาการเมืองรบกวนจิตใจชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุครัฐบาลหลังรัฐประหารปี 2557 แต่ผู้นำคนที่ 29 ก็ใช้ "คุณสมบัติพิเศษ" และ "ลีลาเฉพาะตัว" ประคับประคองตัวมาได้จนถึงปัจจุบัน

10 ก.ค. 2562 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) "ประยุทธ์ 2/1" จำนวน 36 คน

หนึ่งปีผ่านไป มีรัฐมนตรี (รมต.) 4 คนที่เคยเป็นแกนนำพรรคได้บอกลาต้นสังกัดและนับถอยหลังรอวันลุกจากเก้าอี้ รมต. โดย 1 คนต้องจบด้วยชีวิตทางการเมืองด้วยข้อครหา "ไม่ผ่านโปรฯ" ส่วนอีก 3 คนถูก "ยึดอำนาจ" ภายในพรรคที่ร่วมสร้างมากับมือ

เก้าอี้ ครม. = "สมบัติของพรรค"?

ความชุลมุนในการบริหารจัดการคนของ พล.อ.ประยุทธ์ เกิดขึ้นทันทีที่เขาไร้ "อำนาจพิเศษ" สะท้อนผ่านการจัดโผ ครม. ภายหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ซึ่งนายกฯ ไม่มี "อำนาจเต็ม" ในการเฟ้นผู้ร่วมวงฝ่ายบริหาร แต่เป็นสิทธิขาดของพรรคร่วมรัฐบาลในการจัดคนลงตำแหน่ง

รัฐบาล "ประยุทธ์ 2" เกิดขึ้นได้ด้วยการดึงเอาพรรคการเมืองถึง 19 พรรคมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลขั้นต้น 254 เสียง ทว่ามีเพียง 6 พรรคที่ได้รับการจัดสรรโควต้า รมต. ให้ ด้วยสัดส่วน 3-7 ส.ส. ต่อ 1 เก้าอี้ รมต.

ขณะที่พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มี รมต. 17 คน 18 ตำแหน่ง (รวมนายกฯ ควบ รมว.กลาโหม) ในจำนวนนี้มีอยู่ 6 คนที่หอบหิ้วกันมาตั้งแต่รัฐบาล "ประยุทธ์ 1" ไม่ได้สังกัด พปชร. แต่กินโควต้า พปชร. อยู่ ประกอบด้วย พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ (ขณะนั้นยังไม่เป็นสมาชิกพรรค), นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, นายวิษณุ เครืองาม, พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา นายดอน ปรมัตถ์วินัย และ พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล จึงเหลือเก้าอี้เสนาบดีเพียง 11 ตัวสำหรับเกลี่ย-เฉลี่ยให้บรรดา "นักเลือกตั้งอาชีพ" ด้วยสัดส่วน 11 ส.ส. ต่อ 1 เก้าอี้ รมต. ซึ่งไม่เพียงพอต่อคนใน พปชร.

BBC

1 ใน 3 แกนนำกลุ่ม "สามมิตร" อย่างนายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท ต้อง "อกหัก" กับโผ ครม. "ประยุทธ์ 2/1" จึงนัด ส.ส. ร่วมก๊วนกว่า 30 ชีวิตมาแสดงพลัง ทว่าไม่อาจกดดันผู้นำสูงสุของรัฐบาลได้

"การบริหารบุคลากรเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทุกคนพึงพอใจ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรประชาชนจะมีความเชื่อมั่นในรัฐบาล..." พล.อ.ประยุทธ์ร่อนสารนายกรัฐมนตรีเมื่อ 1 ก.ค. 2562 เพื่อหย่า "ศึกใน" พรรคที่นำเสนอชื่อของเขาเป็นนายกฯ ในบัญชี

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ได้เกิดภาพคนการเมืองขั้วรัฐบาลรวมกลุ่มกันต่อรอง-จองเก้าอี้รัฐมนตรีเป็นระยะ ๆ ทว่าความเคลื่อนไหวที่คึกโครมที่สุด หนีไม่พ้น ปฏิบัติการ "ยึดพรรค ก่อนยึดเก้าอี้ รมต." เมื่อ กก.บห.พปชร. จำนวน 18 จากทั้งหมด 34 คนพร้อมใจกันลาออกจากตำแหน่งเมื่อ 1 มิ.ย. 2563 ส่งผลให้นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และหัวหน้า พปชร. จากกลุ่ม "สี่กุมาร" ต้องพ้นจากสถานะฝ่ายบริหารของพรรคโดยปริยาย

2 สัปดาห์หลัง พล.อ.ประวิตร ผงาดขึ้นเป็น "ศูนย์กลางอำนาจใหม่" ภายใน พปชร. นักการเมืองกลุ่มสี่กุมารก็ประกาศยุติบทบาททางการเมืองในฐานะสมาชิกพรรคเมื่อ 9 ก.ค. 2563 แต่ยังไม่ลาออกจาก ครม. เป็นผลให้เพื่อนร่วมพรรคออกมาทวงคืนเก้าอี้ รมต. ที่พวกเขายึดครองอยู่ทันควัน โดยให้เหตุผลว่าเป็น "สมบัติของพรรค"

"ทั้ง 3 ท่าน วันนี้ยังนั่งเก้าอี้ รมต. ในโควตาของ พปชร. เมื่อลาออกจากพรรคแล้วก็ควรคืนตำแหน่งนี้กลับมาให้เป็นสมบัติของพรรค ไม่ใช่ยังกั๊กตำแหน่งอยู่เช่นนี้ เพราะถือว่าพวกท่านไม่มีสิทธิแล้ว" นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. กลุ่มสามมิตร กล่าว

โยนหินถามทางใช้ "เปรมโมเดล" ตัดโควตา ครม. เศรษฐกิจให้นายกฯ

ไม่ใช่เพียงกลุ่มสี่กุมารที่ยากจะมีที่ยืนต่อในรัฐบาล เพราะแม้แต่ รมต. ที่อยู่ในโควต้า "ลุงตู่ขอมา" ก็อยู่ในภาวะ "ถูกทบทวน" สถานภาพทางการเมือง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่าเป็นไปตาม "กลไกทางการเมือง"

"สัดส่วน รมต. ก็ต้องฟังจากพรรคเป็นหลัก การจะนำคนนอกเข้ามาก็เป็นโควต้าของเขา ซึ่งผมก็ขอเขามา และเขาก็ให้ผมเข้ามาตรงนี้... เมื่อเอาเขาเข้ามาแล้ว จำเป็นจะต้องคืนเขาหรือเปล่า ต้องคืนเขาบ้างไหม จะมีคนนอกเข้ามาได้ตรงไหน ก็ต้องไปคุยกันอีก เพราะผ่านมา 1 ปีแล้วก็ต้องคุยกันใหม่" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ในการปรับ ครม. "ประยุทธ์ 2/2" ผู้นำรัฐบาลระบุว่าจะ "ปรับเท่าที่จำเป็น" และขู่ว่า "คนวิ่งมาก ๆ อาจจะไม่ได้เป็น"

ล่าสุด นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้า พปชร. ผู้เป็นหัวหอกใน "ปฏิบัติการพลิกขั้วอำนาจภายใน พปชร." ได้ออกมาเผย "สูตรใหม่" ในการจัดโผ ครม. โดยใช้รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกฯ คนที่ 16 เป็นต้นแบบ

"ในการปรับ ครม. นายกฯ ต้องแสดงความสามารถอีกครั้งในการตั้ง ครม. โดยใช้เรื่องโควิด-19 จัดให้มีโควต้ากลางลุยเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนที่เหลือค่อยแบ่งให้พรรคร่วมรัฐบาลไปจัดสรรกัน ถ้านายกฯ จัดอย่างนี้ มันก็จะไปได้ ท่านก็จะสามารถตั้งคนได้เต็มที่ โดยไม่ถูกกดดันจากพรรคต้นสังกัดที่ไปเอาโควตาของเขามา นี่คือโมเดลของป๋าเปรม" นายไพบูลย์กล่าวกับบีบีซีไทย

ส.ส.รายนี้ตั้งคำถามด้วยว่า ในเมื่อโควิด-19 ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แล้วทำไม พปชร. ต้องแบกอยู่พรรคเดียว เพราะ รมต. ที่นายกฯ เลือกอาจไม่ได้ตั้งจากคนของ พปชร. ด้วยซ้ำ นี่เป็นเรื่องของประเทศชาติแท้ ๆ จึงเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะเข้าใจ

ปัจจุบัน 2 พรรคขนาดกลางได้ร่วมคุมกระทรวงสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ดูแลกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ดูแลกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

อย่างไรก็ตามเสียงของ ภท. ได้เพิ่มจาก "พรรคครี่งร้อย" สู่การเป็น "พรรค 61 เสียง" แต่ถึงกระนั้นนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้า ภท. ระบุว่า "ยังไม่ได้รับสัญญาณใด ๆ จากนายกฯ" หลังถูกถามถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มโควต้า รมต. ในส่วนของพรรค

"กำนันยังสนับสนุนผมอยู่ไหม"

ส่วนอีกพรรคร่วมรัฐบาลที่มีส่วนเร่งเกมปรับ ครม. หนีไม่พ้น พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เมื่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ยื่นใบลาออกจากการเป็นหัวหน้าและสมาชิกพรรคเมื่อ 16 มิ.ย. 2563 หลังเกิดข้อขัดแย้งทางความคิดและการบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนมี "มือที่มองไม่เห็น" ชิงปล่อยข่าวผ่านสื่อว่า กก.บห.รปช. ประเมินผลการทำงานของ รมว.แรงงาน แล้ว "ไม่ผ่านโปรฯ"

"ผมเพิ่งทำงานมา 1 ปี จะบอกว่าผมไม่ผ่านโปรได้อย่างไร" ม.ร.ว.จัตุมงคลตั้งข้อสังเกตผ่านกับสื่อมวลชน

ว่ากันว่าก่อนนาทีตัดสินใจตัดขาด "พรรคพสกนิกร" จะมาถึง หม่อมเต่าได้จับเข่าคุยกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้ง รปช. และผู้ชักชวนให้ราชสกุลผู้นี้เข้ามาทำงานการเมือง ก่อนรู้ตัวว่าถูกลอยแพแน่แล้ว

  • ม.ร.ว.จัตุมงคล : กำนันยังสนับสนุนผมอยู่ไหม
  • นายสุเทพ : ผมยังสนับสนุนให้ท่านเป็น รมต. จนกว่าจะมีการปรับ ครม. แต่ในส่วนของพรรค คงต้องปรับเปลี่ยนให้คนอื่นเข้ามาดูแลแทน

ผลจากการทิ้งเก้าอี้หัวหน้าพรรคของ ม.ร.ว.จัตุมงคล ทำให้ รปช. รีบทำหนังสือถึงนายกฯ ส่งชื่อนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เข้าไปเป็น "รมต. ลอย" เพื่อ "ตีตราจองเก้าอี้" เอาไว้ก่อน ป้องกันไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ กับโควต้าพรรค

แม้สัดส่วนเสียงในสภาของพรรคร่วมรัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงไป แต่นายสุเทพ "ไม่คิดว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง" กับเก้าอี้ รมต. ของ "พรรค 5 เสียง"

อย่างไรก็ตามยังมีพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ ต่อคิวรอสัมผัสเก้าอี้ รมต. อยู่ ไม่ว่าจะเป็น พรรคพลังท้องถิ่นไทยซึ่งทำตัวเป็น "พรรคเด็กดี" และมีที่นั่งในสภา 5 เสียงเช่นกัน นอกจากนี้ยังมี "พรรคจิ๋ว" หรือพรรคที่หิ้ว ส.ส. เข้าสภาได้ 1 คนจากการปัดเศษทศนิยมที่ไปเกาะกลุ่มกัน ก่อนกล่าวอ้างว่ามี 7 เสียงสนับสนุนให้นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ขยับชั้นเป็น รมต.

ขณะนี้บทหนักจึงตกอยู่กับ "พรรค 4 เสียง" อย่างพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ว่าจะสามารถรักษาเก้าอี้ รมต. เอาไว้ได้หรือไม่

จบปัญหา "รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ" แต่ยังเกิดเหตุ "สภาล่ม"

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคะแนนเสียงในสภามีความสำคัญต่ออนาคตของ "รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ" เนื่องจาก พปชร. ซึ่งเป็น "พรรคอันดับ 2" ในสภาได้สร้าง "ธรรมเนียมใหม่ทางการเมือง" โดยอ้างคะแนนเสียงมหาชนสูงสุด 8.4 ล้านเสียง จัดรัฐบาลแข่งกับ "พรรคอันดับ 1" อย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) จนสามารถตั้งรัฐบาล 254 เสียงได้สำเร็จ มีคะแนนเสียงทิ้งห่างจากฝ่ายค้านเพียง 8 เสียง

ปรากฏการณ์ต่อเนื่องหลังการตั้งรัฐบาลคือ การเดินสาย "แจกกล้วย" ให้ "พรรคจิ๋ว" การเกิดขิ้นของ "ส.ส. งูเห่า/ส.ส.ฝากเลี้ยง" ในพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงเกิดเหตุ "แตกภายใน" ของแต่ละพรรคการเมือง โดยเฉพาะ ปชป. ที่ ส.ส. บางส่วนเล่นบท "แนวร่วมมุมกลับของฝ่ายค้าน" จนถูกจับตาว่าอาจมีรายการ "เช็กบิลย้อนหลัง" ในการปรับ ครม. รอบนี้

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป จากปัจจัย 3 ประการ

  • หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พร้อมเพิกถอนสิทธิการเมือง กก.บห. ชุดนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผลให้ฝ่ายค้านเสียที่นั่งในสภาไป 11 เสียง ขณะที่รัฐบาลได้เสียงจากขั้วตรงข้ามมาเติมเต็ม 12 เสียง เมื่ออดีต ส.ส.อนค. พลิกขั้วมาสังกัดพรรครัฐบาล โดยกระจายอยู่ใน ภท. 9 คน และ ชทพ. และ ชพน. พรรคละ 1 คน
  • สอง การ "ย้ายข้าง" ของพรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) 5 เสียง
  • สาม การไล่เก็บชัยชนะในสนามเลือกตั้งซ่อม 4 เขตของพรรครัฐบาล โดยมีอยู่ 3 เขตที่เป็นพื้นที่เดิมของฝ่ายค้าน ประกอบด้วย นครปฐม เขต 5, ขอนแก่น เขต 7 และลำปาง เขต 4 รวมถึงการที่นั่งใน จ.กำแพงเพชร เขต 2 ของ พปชร. เอาไว้ได้

นั่นทำให้ส่วนเสียงในสภาระหว่างรัฐบาล 20 พรรค กับฝ่ายค้าน 6 พรรค+มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.ศม. ขยับเป็น 275 ต่อ 212 เสียง หรือห่างกัน 63 เสียง (ไม่รวมเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง ซึ่ง กกต. ยังไม่รับรองผล) จบปัญหา "รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ" และทำให้ฝ่ายค้านไม่อาจล้มรัฐบาลกลางสภาได้

แต่ถึงกระนั้นได้เกิดเหตุ "สภาล่ม" ครั้งแรกของสมัยประชุมนี้เมื่อ 8 ก.ค. 2563 และถือเป็นเหตุ "สภาล่ม" ครั้งที่ 3 ในรอบ 8 เดือนของสภาล่างชุดที่ 25 หลังเคยเกิดเหตุองค์ประชุมไม่ครบมาแล้วเมื่อ 27-28 พ.ย.2562

ใช้ "อาวุธทางกฎหมาย" กดพลังนอกสภา

ความมั่นคงทางการเมืองของรัฐบาลได้รับการการันตีโดย "คนการเมือง" และ "ขุนทหาร" ซึ่งเปิดหน้าเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงขนาดฟันธงว่าจะอยู่ครบเทอม 4 ปี

นักการเมืองสังกัดพรรครัฐบาลประเมินว่ารัฐบาลหลังเลือกตั้ง 2562 "นิ่งกว่า" รัฐบาลหลังเลือกตั้งปี 2550 เนื่องจากมี "อาวุธทางกฎหมาย" อย่างน้อย 3 ฉบับคอยกำกับพลังความเคลื่อนไหวนอกสภา และทำให้การชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้มีระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปี, พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่กำหนดโทษยุบพรรค หากมีการก่อความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

นอกจากนี้วิกฤตไวรัสมรณะยังปิดประตูความเคลื่อนไหวของ "แฟลชม็อบ" นักศึกษาที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งนายไพบูลย์ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภา เห็นว่าข้อเรียกร้องให้รื้อรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติทั้งฉบับ เป็นการ "ลุแก่อำนาจ" เพราะมาจากนักศึกษาไม่กี่คน และ "ไม่สามารถระคายเคืองรัฐบาลได้ พอเจอโควิดก็ยิ่งไปกันใหญ่"

"พล.อ.ประยุทธ์มีบุคลิกที่เหมาะกับสถานการณ์ เข้มแข็ง ถ้าไม่เหมาะกับสถานการณ์คงเป็นมาไม่ได้ถึงขนาดนี้ แต่ไม่ใช่เป็นเพราะอยากนะ แต่จำเป็นต้องเป็นเพื่อประเทศชาติและสถาบัน" นายไพบูลย์กล่าว

เช่นเดียวกับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ระบุว่า นายกฯ บริหารด้วยความโปร่งใส ให้ความเป็นธรรม ที่สำคัญคือมีความเด็ดขาด โดยเฉพาะช่วงโควิด พวกเราควรชื่นชม

"อย่าลืมว่านายกฯ ปัจจุบันบริหารราชการบ้านเมือง และมาจากการเลือกตั้งที่มาโดยรัฐธรรมนูญ" ผบ.ทบ. กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง