รีเซต

แห่เทียนพรรษา 10 พระอารามหลวง เนื่องในวันอาสาฬหบูชา - เข้าพรรษา 68

แห่เทียนพรรษา 10 พระอารามหลวง เนื่องในวันอาสาฬหบูชา - เข้าพรรษา 68
TNN ช่อง16
9 กรกฎาคม 2568 ( 17:49 )
14

กรมการศาสนาจัดขบวนแห่เทียนพรรษา 10 พระอารามหลวง เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา 2568

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เตรียม จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และพิธีปล่อยขบวนรถแห่เทียนพรรษา งานส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา พุทธศักราช 2568 โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนหน่วยงาน องค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนา เจ้าหน้าที่กรมการศาสนา และพุทธศาสนิกชน เข้าร่วม ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

พิธีเจริญพระพุทธมนต์และปล่อยขบวนแห่เทียนพรรษาวันที่ 9 กรกฎาคม 2568

ในวันพุธที่ 9 กรกฎาคม 2568 ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย ริ้วขบวนรถแห่เทียนพรรษา พิธีปล่อยขบวนรถแห่เทียนพรรษาของหน่วยงานภายในกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานเครือข่าย เพื่อนำไปถวายพระอารามหลวงในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 10 วัด

ขบวนเทียนพรรษานำถวายพระอารามหลวงในกรุงเทพฯ จำนวน 10 วัด ได้แก่

- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

- วัดไตรมิตรวิทยาราม

- วัดปทุมวนาราม

- วัดประยุรวงศาวาส

- วัดสระเกศ

- วัดสุทัศนเทพวราราม

- วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

- วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

- วัดอรุณราชวราราม

- วัดเทวราชกุญชร

กิจกรรมในภูมิภาคและจังหวัดสำคัญ

76 จังหวัดทั่วประเทศร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา ตามบริบทพื้นที่ เช่น

ขอนแก่น: สักการะหลวงพ่อพระลับ วัดธาตุ

นครศรีธรรมราช: สักการะพระบรมสารีริกธาตุ วัดพระมหาธาตุ

ยโสธร: สักการะพระพุทธปฏิมาบุษยรัตน์ วัดมหาธาตุ

อ่างทอง: ห่มผ้าองค์พระพุทธไสยาสน์ วัดขุนอินทประมูล

กิจกรรมแห่เทียนพรรษาและประเพณีใน 10 จังหวัดสำคัญ เช่น

นครพนม, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, อยุธยา, พะเยา, สระบุรี, สิงห์บุรี, สุพรรณบุรี, สุรินทร์ และอุบลราชธานี

จังหวัดระนองร่วมจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์อาเซียน 19-20 กรกฎาคม 2568

ความสำคัญของเทียนพรรษาและวันเข้าพรรษา

“เทียนพรรษา” เป็นเทียนที่พุทธศาสนิกชนจัดทำขึ้นเพื่อน้อมถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ในช่วงเข้าพรรษา เพื่อใช้เป็นแสงสว่างในการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่พระสงฆ์จะอยู่จำพรรษาในวัดโดยไม่ออกเดินทาง เทียนพรรษาจึงไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของความศรัทธา หากยังเป็นเครื่องมือแห่งปัญญาและความเพียรของทั้งพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชน ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้น้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ด้วยการร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา บำเพ็ญศาสนกิจ รักษาศีล ลด ละ เลิกอบายมุข สืบทอดพระพุทธศาสนา สืบสานวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทย

ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา

"วันอาสาฬหบูชา" วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ซึ่งปีนี้ ตรงกับวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 เป็นวันที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ในสมัยพุทธกาลมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 4 ประการ คือ 

1. เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 รูป ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมสำคัญ ๒ ประการ คือ มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง และอริยสัจ

 2. เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงได้พระสาวกองค์แรก คือ ท่านโกญฑัญญะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันองค์แรก 

3. เป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นรูปแรก คือ พระอัญญาโกญฑัญญะ 

4. เป็นวันเกิดขึ้นของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบเป็นครั้งแรก และในวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์จะอธิษฐานว่าจะพำนักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น ที่เรียกว่า “จำพรรษา”

กรมการศาสนาขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมพิธีหล่อและถวายเทียนพรรษา พร้อมร่วมกิจกรรมบำเพ็ญบุญ ลด ละ เลิกอบายมุข เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและสร้างสิริมงคลในช่วงเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง