รีเซต

อุทาหรณ์ คนชอบ“จัดกระดูก” เผยเคสคนไข้ทำแล้วอ่อนแรงเสี่ยงอัมพาตทั้งตัว

อุทาหรณ์ คนชอบ“จัดกระดูก” เผยเคสคนไข้ทำแล้วอ่อนแรงเสี่ยงอัมพาตทั้งตัว
TNN ช่อง16
5 ธันวาคม 2565 ( 13:09 )
84

วันนี้ ( 5 ธ.ค. 65 ) เพจ PT NOTE - บันทึกกายภาพบำบัด ได้เผยเคสคนไข้เป็นอุทาหรณ์สำหรับคนที่ชื่นชอบในการจัดกระดูก โดยระบุว่า  “อันตรายร้ายแรง...จากการจัดกระดูกคอ”

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่รายงานเคสผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแรงร่างกายทั่วตัว และมีอาการปวดอย่างเฉียบพลันหลังรับการรักษาด้วยการจัดกระดูกคอ...

Case report นี้ได้ถูกรายงานในวารสารทางประสาทวิทยา Neurology วารสารระดับ Q1 impact factor 12.258 ซึ่งถือเป็นวารสารที่มีความน่าเชื่อถือสูงมาก 

เคสนี้เป็นผู้หญิงอายุ 48 ปีที่มีอาการปวดคอเรื้อรัง มาพบแพทย์ด้วยอาการอ่อนแรงและปวดคออย่างเฉียบพลัน หลังรับการจัดกระดูก (chiropractic manipulation) ผลการตรวจ x-ray และ MRI พบว่า 

 - กระดูกคอส่วน C5-C6 หัก (cervical fracture)

- มีการบาดเจ็บของเส้นประสาทไขสันหลัง (spinal cord injury) ทำให้เกิดการอ่อนแรงแบบอัมพาตทั้งตัว (tetraplegia)

- พบการตีบของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองทั้งสองข้าง (cerebellar infarction and  bilateral cerebral occlusion)

-  พบการปลิ้นของหมอนรองกระดูก (disc herniation)

 - พบการฉีกขาดและเลือดออกของเยื่อหุ้มประสาท (epidural hematoma) (ภาพประกอบที่ 1)

ผู้วิจัยได้อภิปรายว่า ผลการตรวจ CT บริเวณกระดูกสันหลังของผู้ป่วยรายนี้ พบว่ามีภาวะ Ankylosing spondylitis ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระดูกสันหลังแตกหักได้ง่าย และแน่นอนว่าก่อนทำการจัดกระดูก ไม่มีการตรวจพบภาวะนี้ของผู้ป่วย 

Ankylosing spondylitis 

คือโรคที่เกิดการอักเสบซ้ำๆของกระดูกสันหลัง และกระดูกเชิงกราน รวมถึงข้อต่อก้นกบ (sacroiliac joint) หากแต่ในผู้ป่วยโรคนี้ การอักเสบจะไม่ได้มีผลถึงเพียงเส้นเอ็น (ligament or tendon) แต่จะเกิดการอักเสบไปถึงบริเวณที่เป็นจุดเชื่อมของเส้นเอ็นกับกระดูก (entheses) และเมื่อกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นกับกระดูกสันหลัง ทำให้มีแคลเซียมสะสมบริเวณเอ็นรอบกระดูกสันหลัง และสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนไปถึงขอบกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก จนทำให้กระดูกสันหลังแต่ละท่อนเชื่อมติดกัน และเสียแนวการวางตัวที่ปกติ (spine alignment) รวมถึงช่วงการเคลื่อนไหวของผิวข้อด้วย (arthrokinematics movement) ดังนั้นจึงทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะมีการแตกหักของกระดูกสันหลังได้ง่าย (ภาพประกอบที่ 2)

หลายครั้งคำถามที่ว่า การจัดกระดูก ควรทำหรือไม่?  เป็นสิ่งที่ตอบได้ยาก เนื่องจากผลการรักษานั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อย่างไรก็ตามรายงานเคสของผู้ป่วยรายนี้ อาจบ่งชี้ถึงผลข้างเคียงรุนแรง ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จากการจัดกระดูก

หากท่านจะเชื่อถืองานวิจัย และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ในหลายไกด์ไลน์ที่แนะนำเรื่องการรักษาแบบอนุรักษ์ (conservative treatment) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดทางระบบกระดูกกล้ามเนื้อเรื้อรัง ท่านเชื่อหรือไม่ ว่าการออกกำลังกายหรือการบริหารต่างๆนั้น ให้ผลลดอาการปวดได้ดีและคงอยู่ยาวนานกว่าหลายการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการจัดกระดูก หรือเครื่องมือทางกายภาพบำบัด 

เพราะบางครั้ง การรักษาที่ง่ายและปลอดภัยก็เริ่มได้จากตัวเราเอง



ข้อมูลจาก :  เพจ PT NOTE - บันทึกกายภาพบำบัด

ภาพจาก  :  เพจ PT NOTE - บันทึกกายภาพบำบัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง