อิสราเอลพบ 'หุบผาชันใต้ทะเล' อายุ 6 ล้านปีในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก
(แฟ้มภาพซินหัว : ชายฝั่งริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่เมืองเฮอร์เซอลียา ใกล้กับเมืองเทลอาวีฟของอิสราเอล วันที่ 20 ก.ค. 2022)
เยรูซาเล็ม, 5 ก.พ. (ซินหัว) -- เมื่อวันอาทิตย์ (4 ก.พ.) แถลงการณ์จากองค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาอิสราเอล (GSI) ระบุว่านักธรณีวิทยาชาวอิสราเอลค้นพบหุบผาชันใต้ทะเลขนาดใหญ่ที่ก่อตัวเมื่อราว 6 ล้านปีก่อนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกหุบผาชันใต้ทะเลดังกล่าวถูกพบบริเวณลุ่มน้ำเลอแวนต์ตอนลึก ใกล้กับภูเขาใต้ทะเลเอราทอสเทนีส ซึ่งห่างจากไซปรัสไปทางใต้ราว 120 กิโลเมตร และห่างจากชายฝั่งทะเลตะวันตกของอิสราเอลไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 250 กิโลเมตรข้อมูลขององค์กรฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงพลังงานอิสราเอล ระบุว่าหุบผาแห่งนี้มีความกว้าง 10 กิโลเมตร และลึก 0.5 กิโลเมตร โดยมีต้นกำเนิดใต้น้ำในยุคเมสซีเนียน (Messinian) ซึ่งเป็นช่วงเวลาทางธรณีวิทยาหุบผาชันใต้ทะเลแห่งนี้ก่อตัวขึ้นในช่วงเริ่มต้นของวิกฤตความเค็มยุคเมสซีเนียน (Messinian Salinity Crisis) โดยการก่อตัวเกี่ยวข้องกับกระแสแรงโน้มถ่วงหนาแน่นที่คอยชะล้างและกัดเซาะพื้นทะเล ณ ระดับความลึกที่มีนัยสำคัญองค์กรฯ เผยว่าการวิจัยได้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับสภาวะสิ่งแวดล้อมที่มีความเค็มมากขึ้นในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนที่อยู่ลึกลงไป ก่อนถึงจุดสูงสุดของวิกฤตการณ์ความเค็มอนึ่ง วิกฤตความเค็มยุคเมสซีเนียน เป็นเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาที่ไม่ปกติซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราว 5.6 ล้านปีก่อน โดยทะเลเมดิเตอร์เรเนียนประสบภาวะแห้งแล้งและขาดการเชื่อมต่อจากมหาสมุทรทั่วโลก และทิ้งชั้นเกลือลึกหลายกิโลเมตรเอาไว้เนื่องจากการระเหยของน้ำทะเล