รีเซต

‘เขมทัตต์’ ฝากซีอีโอใหม่ อสมท สานต่องาน ย้ำค่าคลื่น 2600 ต้องถึงศาล วอนอย่าเอาหนังสือฉบับเดียวมาตัดสิน

‘เขมทัตต์’ ฝากซีอีโอใหม่ อสมท สานต่องาน ย้ำค่าคลื่น 2600 ต้องถึงศาล วอนอย่าเอาหนังสือฉบับเดียวมาตัดสิน
มติชน
11 สิงหาคม 2563 ( 14:15 )
110

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการหมดวาระในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 นี้ว่า เข้ารับตำแหน่งหลังการประมูลทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงและองค์กรกำลังเข้าสู่การขาดทุน อสมท ในเวลานั้นเป็นผู้ให้บริการทีวีดิจิทัล และผู้ให้บริการโครงข่ายการออกอากาศทีวีภาคพื้นดิน (มักซ์) ขณะเดียวกัน มีแพลตฟอร์มใหม่เกิดขึ้น

 

เนื่องจาก อสมท เป็นองค์กรที่มีทั้งสื่อวิทยุ และโทรทัศน์ จึงต้องมาจัดระบบกันใหม่ ด้วยการเสนอปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อรองรับด้วยการปรับองค์กร ซึ่ง อสมท ตระหนักว่าขณะนี้เม็ดเงินจากสัมปทานกำลังจะหมดไป ขณะที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมสื่อมีการแข่งขันสูงมากขึ้น ต่อมามีมีเดียเกิดใหม่ทั้งโซเชียลมีเดีย และการมาของสื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์เริ่มเข้าสู่สื่อออนไลน์มากขึ้น อสมท พยายามปรับโครงสร้างองค์กรรองรับ โดยหาบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาดูแล เปิดโอกาสคนในและคนนอกเข้ามาบริหารงาน เกิดเป็นสำนักธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มและสำนักบริหารดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่พัฒนาเนื้อหาใหม่ หาพันธมิตรเพิ่มในการทำสื่อดิจิทัล และฝ่ายหนึ่งนำเนื้อหาเดิมที่มีอยู่มาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่ม

 

“การบริหารที่ผ่านมาขับเคลื่อนได้ค่อนช้าเพราะองค์กรเราใหญ่ ติดขัดองคาพยพหลายอย่าง เงินทุนเราไม่เพียงพอที่จะทำงานได้อย่างคล่องตัว แต่ อสมท ได้เตรียมปรับตัวให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยกำลังจะเปิดตัวดิจิทัลแพลตฟอร์ใหม่ ซึ่งคิดว่ายังทำงานไม่ครบตามที่ตั้งใจ เวลาน้อยมาก ต้องแก้ปัญหาทั้งโครงสร้างภายใน การเปลี่ยนแปลงแนวคิด การหาพันธมิตร ช่วงที่เข้ามาพันธมิตรที่เคยทำรายการให้เราหายไปหมด เอเจนซี่ก็ตามพันธมิตรไป ทำให้เราต้องควักเงินทำรายการ ทำคอนเทนต์ใหม่ ที่ผ่านมาเราไม่ได้ใช้งบประมาณทำคอนเทนต์มากนัก หลังการเกิดทีวีดิจิทัลเราต้องควักเงินทำคอนเทนต์เอง ค่าคอนเทนต์คือ 1 ใน 3 ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิทัล และเราไม่ได้ลงทุนแค่คอนเทนต์ เราต้องลงทุนโครงข่าย แต่ผลของการมีทีวีดิจิทัลจำนวนมาก ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมาตรการช่วยเหลือ เราเป็นหน่วยงานรัฐ ไม่มีธุรกิจอื่น เรามีเงินมาจากธุรกิจของเราเองทั้งนั้น จึงทำให้เราต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น” นายเขมทัตต์กล่าว

 

นายเขมทัตต์กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาคิดว่าได้วางพื้นฐานไว้แล้วระดับหนึ่ง ทั้งการแก้ปัญหาการรั่วไหล การเพิ่มแพลตฟอร์มบันเทิง และการพัฒนาช่องทางสำหรับการเสนอข่าวออนไลน์ ซึ่ง อสมท มีจุดแข็งในการทำข่าวที่มีความเชื่อถือ สิ่งที่ต้องทำคือทำอย่างไรให้การรับรู้ทั่วถึง ข้อมูลข่าวสารไปถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น ทันสมัยมากขึ้น เร็วขึ้น ทันกับความต้องการมากขึ้น ธุรกิจจะเติบโตหรือไม่เติบโตอย่างไรขึ้นอยู่กับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ที่จะเข้ามาขับเคลื่อน และพนักงานจะนำพาองค์กรไปได้หรือไม่

 

“คนรุ่นใหม่ได้ดูทีวีแล้ว คนรุ่นใหม่ดูตามความชอบของตัวเอง ดูตามกระแส ดูตามโซเชียล เราตั้งวิสัยทัศน์ในการเป็นองค์กรที่รักษาความเชื่อมั่น เป็นองค์กรสร้างเนื้อหาที่เชื่อถือได้ ตรวจสอบได้ อสมท ควรเป็นองค์กรระดับชาติที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความเชื่อมั่นของข่าวได้” นายเขมทัตต์ กล่าว

 

นายเขมทัตต์กล่าวว่า ส่วนที่ยังไม่ได้ทำ คือ การพัฒนาหลักสูตรใหม่ให้ตอบสนองคนรุ่นใหม่และวิธีการเรียนออนลไน์มากขึ้น การพัฒนาที่ดินด้านหลังสำนักงานใหญ่ อสมท ธุรกิจกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้ไม่ใช่ธุรกิจหลักของเราแต่เราต้องทำ จะพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยจะตั้งคณะกรรมการมาบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อวางรูปแบบในการร่างทีโออาร์ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2563 จากนั้นจึงจะเปิดให้นักลงทุนเข้ามา โดยล่าสุดมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ข้อกฎหมายให้ทำธุรกิจนี้ได้คล่องตัวมากขึ้น ปีหน้า อสมท คงจะพัฒนาเนื้อหาที่เน้นทั้งสาระและความบันเทิงมากขึ้น ทั้งความร่วมมือแพลตฟอร์มเพลงกับแวมมิวสิก

 

“ฝากถึงซีอีโอคนใหม่ ขอให้ช่วยดูว่าองค์กรเราจะไปในทิศทางไหน โครงการที่เป็นประโยชน์ที่ได้วางไว้โครงการได้จะสามารถสานต่อก็สานต่อได้ ถ้ามีอะไรใหม่ๆ และเป็นประโยชน์กับพนักงานก็ขอให้ทำ นอกจากนี้ ขอให้สนใจเรื่องกฎหมายมากๆ ปีหน้ากฎหมาย กสทช. ฉบับแก้ไขน่าจะเสร็จสมบรูณ์ และกำลังจะมีบอร์ดใหม่เข้ามา ยังมีกฎหมายที่ต้องให้ความสำคัญ อาทิ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, การเกิดขึ้นของสภาสื่อมวลชน, กฎหมายเกี่ยวกับโซเชียล และต้องมีความรู้ทางด้านการเงิน ปัจจุบันเราประคององค์กรไม่ให้ขาดทุนไปมากกว่านี้ ถ้าย้อนไปตั้งแต่การทำธุรกิจทีวีดิจิทัล อสมท ควรจะเก็บเงินสดไว้มากๆ เวลานั้นธนาคารพาณิชย์ยังให้เงินกู้เพื่อประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ถ้าเรากู้เงินมาส่วนหนึ่งเพื่อทำธุรกิจและหมุนเงินไปเก็บเงินสดไว้ การมีเงินเก็บไว้มากๆ จะช่วยรักษาทุนไว้ได้ สามารถบริหารธุรกิจได้ เรามีรายจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและต้องผลิตรายการใหม่ๆ” นายเขมทัตต์ กล่าว

 

นายเขมทัตต์กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าค่าชดเชยจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ปัจจุบันเป็นขั้นตอนของการฟ้องร้อง เมื่อกฎหมายเขียนไว้ว่า หากไม่พอใจให้ทำการฟ้องร้องได้ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย เชื่อว่ายังมีคนที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้อย่างแท้จริง อย่าไปเอาเรื่องจดหมายแค่ฉบับเดียว แต่ต้องย้อนกลับไปดูเรื่องกฎหมายและบันทึกที่ อสมท ทำถึง กสทช. มาโดยตลอด ตอนนี้ผู้ตรวจสอบบัญชีของเราเข้าใจ แต่คนนอกยังไม่เข้าใจ ถ้าอ่านประกาศของ กสทช. แล้วทำความเข้าใจจะทราบว่าสิ่งที่เขียนความหมายอย่างไร การเขียนกฎระเบียบของ กสทช. มีความหมายลึกมาก ซึ่งต้องทำความเข้าใจ การบอกว่าผู้บริหารไปเอื้อให้คนนั้นคนนี้ อยากถามว่าเอื้อยังไงในเมื่อทุกอย่างมันยังไม่จบเรื่องเลย

 

ทั้งนี้ ถามว่าตอนนี้สัญญาร่วมงานกับเอกชนคู่สัญญายังอยู่ ถ้าเราทำตามสัญญาเราเสียเปรียบ ถ้าเราไม่ทำตามสัญญาเราก็เสียเปรียบ ความเห็นและข้อมูลของอนุกรรมการเยียวยาการเรียกคืนคลื่นความถี่เป็นสิ่งที่เป็นหลักฐานได้ก็ต้องยึดเอาความเห็นนั้น ยังไม่ขอให้ความเห็นอะไรขอให้ไปว่ากันที่ศาล ไม่มีอำนาจในการไปบอกว่าแบ่งค่าเยียวยาเท่าไร มีหน้าที่ในการให้ข้อมูลเพื่อให้ กสทช. พิจารณาว่าจะแบ่งค่าเยียวยาอย่างไร ไม่ขอว่าใครผิดทั้งนั้น

 

“เมื่อเกษียณแล้วคงไปทำบุญ ไม่ขอต่ออายุหรือทำอะไรแล้ว อยากไปทำบุญและทำภาระกิจส่วนตัวที่ยังไม่ได้ทำ ที่เหลือให้ซีอีโอใหม่ขับเคลื่อนองค์กรต่อไป” นายเขมทัตต์กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง