โควิด-19 : แพทย์ให้คนไข้นอนคว่ำมากขึ้น ช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนเข้าปอด
เว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ปัจจุบันแพทย์ในสหรัฐฯและในบางประเทศ เริ่มหันมาใช้วิธีจัดท่าให้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 นอนคว่ำหน้ากันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนไข้ที่เกิดกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (ARDS) และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนที่เข้าสู่ปอดให้สูงขึ้น
วิธีการดังกล่าวได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยอย่างได้ผล โดยงานวิจัยของแพทย์ฝรั่งเศสที่ตีพิมพ์ในวารสาร NEJM เมื่อปี 2013 ชี้ว่า คนไข้ที่มีกลุ่มอาการ ARDS ไม่ว่าจะเกิดจากโรคปอดอักเสบหรือไข้หวัดใหญ่ จนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจนั้น มีความเสี่ยงเสียชีวิตลดลงอย่างมาก หากถูกจัดให้อยู่ในท่านอนคว่ำ (prone position)
- ไม่ใช่แค่ปอด แต่เข้าถึงหัวใจ โควิด-19 ทำลายอวัยวะอื่น ๆ ในบางกรณีได้อย่างไร
- ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สร้างความเสียหายต่อร่างกายเราได้อย่างไร
- เตือนคนอ้วนระวังไขมันอุดตันในปอด ก่อโรคหอบหืด-หายใจลำบาก
ส่วนงานวิจัยล่าสุดของแพทย์จีน ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อเมริกันว่าด้วยระบบทางเดินหายใจและการดูแลผู้ป่วยวิกฤต (AJRCCM) ยืนยันเช่นเดียวกันว่า ผู้ป่วยหนักโรคโควิด-19 บางรายในโรงพยาบาลเมืองอู่ฮั่น ตอบสนองต่อท่านอนคว่ำและมีอาการดีขึ้นกว่าการรับความดันบวกเข้าปอดผ่านเครื่องช่วยหายใจเพียงอย่างเดียว
แพทย์หญิงแคทริน ฮิบเบิร์ต ผู้อำนวยการแผนกดูแลผู้ป่วยหนักหรือไอซียูของโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ (MGH) บอกว่า "เราพบว่าวิธีนี้ทำให้คนไข้ในภาวะวิกฤตมีอาการดีขึ้นในทันที การนอนคว่ำจะช่วยเปิดให้บางส่วนของปอดขยายตัวขึ้น ในขณะที่คนไข้ซึ่งนอนหงายเป็นส่วนใหญ่ในแต่ละวัน จะถูกน้ำหนักตัวกดทับปอดส่วนที่ว่าเอาไว้"
มีรายงานด้วยว่าผู้ป่วยหนักโรคโควิด-19 ที่ศูนย์การแพทย์ยิวลองไอแลนด์ (LIJMC) ในรัฐนิวยอร์ก มีระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในกระแสเลือดสูงขึ้นอย่างมากจาก 85% เป็น 98% หลังถูกจัดให้อยู่ในท่านอนคว่ำ
แต่ข้อเสียของการให้ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่แล้วนอนคว่ำหน้าเป็นเวลาถึง 16 ชั่วโมงในแต่ละวัน คือแพทย์จะต้องให้ยาสงบประสาทและระงับความรู้สึก (sedatives) มากกว่าปกติ ซึ่งจะส่งผลให้คนไข้ต้องอยู่ในห้องไอซียูนานขึ้นไปอีก ขณะนี้แพทย์ส่วนใหญ่จึงเลือกใช้วิธีดังกล่าวกับคนไข้ที่มีอาการขั้นวิกฤตจริง ๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม มีแพทย์บางกลุ่มเริ่มแนะนำให้คนไข้โรคโควิด-19 ที่ไม่ได้มีอาการหนักและยังไม่ได้ใส่เครื่องช่วยหายใจ ลองนอนคว่ำดูบ้างโดยแบ่งทำเป็นช่วงสั้น ๆ ครั้งละ 4 ชั่วโมง 2 รอบต่อวัน
แม้จะยังไม่มีผลวิจัยรับรองว่า การนอนคว่ำจะมีผลดีต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยและปานกลางหรือไม่ แต่ขณะนี้เริ่มมีการศึกษาทดลองทางคลินิกในประเด็นดังกล่าวที่สถาบันบางแห่งแล้ว เช่นที่มหาวิทยาลัยรัช (Rush University) ของสหรัฐฯ ซึ่งนักวิจัยกำลังติดตามดูว่า การนอนคว่ำหน้าส่งผลดีต่อคนไข้กลุ่มใดบ้าง และควรจะต้องอยู่ในท่าดังกล่าวเป็นเวลานานเท่าใดกันแน่