3 สมาคมโรงงานน้ำตาล ยื่นหนังสือถึง ‘วิษณุ’ ปลดชนวนแก้กฎหมาย เพิ่มนิยาม ‘กากอ้อย’ เป็นผลพลอยได้
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้ยื่นหนังสือถึง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อคัดค้านการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและน้ำตาลทราย ที่อยู่ระหว่างพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ
หลังผ่านความเห็นชอบเพิ่มเติมมาตรา 4 ในส่วนคำนิยาม ‘ผลพลอยได้’ ให้หมายรวมถึง ‘กากอ้อย’ เป็นการเพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์ที่ต้องนำมาใช้คำนวณรายได้ในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70 ต่อ 30 ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งในปัจจุบันและอนาคต
เนื่องจากการพิจารณาเพิ่มเติมในคำนิยามกากอ้อยในมาตรการดังกล่าว ไม่ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนฝ่ายโรงงานซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงแม้แต่คนเดียว ฝ่ายโรงงานจึงเห็นว่าร่างแก้ไขดังกล่าวไม่เป็นธรรมและไม่สามารถยอมรับกับข้อบังคับนี้ได้
โดยมองว่าการเพิ่มเติม ‘กากอ้อย’ เป็นคำนิยามในผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทราย ขัดต่อหลักการของข้อตกลงเดิมที่กำหนดให้โรงงานเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการกากอ้อยเป็นของเสียในกระบวนการผลิต
“เมื่อโรงงานได้นำกากอ้อยไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ โดยเป็นการลงทุนของโรงงานเองทั้งหมดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท แต่กลับเพิ่ม ‘กากอ้อย’ อยู่ในนิยามผลพลอยได้ โดยไม่มีตัวแทนโรงงานน้ำตาลเข้าร่วมแม้แต่คนเดียว และยังกลับถูกบังคับให้ต้องนำเงินเข้าสู่ระบบแบ่งปัน จึงไม่เป็นธรรมต่อโรงงาน เราไม่อาจยอมรับได้ สมาคมฯ จึงขอคัดค้านมติของกรรมาธิการวิสามัญฯ ดังกล่าว และสนับสนุนให้ใช้ร่างกระทรวงอุตสาหกรรม มาเป็นแนวทางปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527”
นายสิริวุทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นนี้ยังก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในอนาคต เป็นการทำลายเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ฉบับเดิม ที่เน้นหลักจริยธรรมแห่งการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวไร่และโรงงาน สร้างความร่วมมือ ความยั่งยืนและความเป็นธรรมระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาล
นอกจากนี้ ยังขัดต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ของภาครัฐที่จัดทำโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นร่างหลักที่ผ่านการทำประชาพิจารณ์เห็นชอบทุกฝ่ายทั้งชาวไร่อ้อย โรงงานและหน่วยงานภาครัฐ แต่กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นร่างหลักเพื่อเป็นหลักในการพิจารณาปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย