อดีตแบงก์ชาติ ห่วง “ค่าแรงขั้นต่ำที่แท้จริง” ไม่ปรับขึ้น
อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือนายอนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ โดยปรับขึ้นอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท เป็นการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.02 ส่วนเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมยังทรงตัวในระดับสูง เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.61 แม้จะชะลอตัวลงจากเดือนก่อน ซึ่งการปรับค่าแรงนี้ถือเป็นการปรับขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าเงินเฟ้อ หมายความว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น
ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด ขอให้ดูการตัดสินใจของธนาคารกลางจีนและธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องกังวลแรงกดดันเงินเฟ้อ
เพราะเศรษฐกิจไทยช่องว่างระหว่างระดับของผลผลิตที่เกิดขึ้นจริง (Actual GDP) กับระดับผลผลิตที่ระดับศักยภาพเรียกว่า ช่องว่างการผลิต (Output Gap) ยังติดลบมาก อุปสงค์ของประเทศแม้จะกระเตื้องขึ้นแต่ขยายตัวไม่สูงมากนัก ผลผลิตที่เกิดขึ้นจริงและระดับอุปสงค์ยังต่ำกว่าระดับความสามารถการผลิตของประเทศ (Excess Supply) หรือการใช้ ศักยภาพในการผลิตไม่เต็มที่ ส่งผลให้ Output Gap เป็นลบ
ดังนั้นการเปิดกว้างของเศรษฐกิจไทยหากเกิดเงินเฟ้อจากแรงดึงอุปสงค์ขึ้น ความต้องการส่วนเกินสามารถถูกทดแทนได้ด้วยการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดลดการเกินดุลหรือขาดดุล ฉะนั้นปัญหาเสถียรภาพราคาจากแรงดึงอุปสงค์จึงไม่ใช่ปัญหาของเศรษฐกิจไทยเวลานี้
สำหรับทางด้านส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยและเงินไหลออก ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกกังวลเกินไป ส่วนใหญ่เป็นเงินทุนระยะสั้นไหลออกจากภาคการเงิน เพราะดอกเบี้ยเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนเท่านั้น
ข้อมูลจาก TNN ONLINE
ภาพจาก : TNN