รีเซต

รู้จัก! EF ทักษะสมอง เพื่อสร้างตัวตนในวัยเด็ก

รู้จัก! EF ทักษะสมอง เพื่อสร้างตัวตนในวัยเด็ก
TNN Health
23 พฤศจิกายน 2564 ( 19:37 )
310
รู้จัก! EF ทักษะสมอง เพื่อสร้างตัวตนในวัยเด็ก

ข่าววันนี้ เด็กสมัยใหม่เกิดและเติบโตขึ้นมาท่ามกลางเทคโนโลยีรายล้อม ทุกอย่างรอบตัวมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความทันสมัยเข้ามาประชิดตัวและอยู่กับการเติบโตของเด็กในทุกด้าน เด็กโตมากับสมาร์ทโฟน แท็ปเล็ตอย่างใกล้ชิด ยิ่งการปรับตัวสู่รูปแบบการเรียนออนไลน์ ทั้งในเด็กเล็กไปจนถึงเด็กโต เด็กๆก็จะมีความคุ้นชินในการใช้เครื่องมือเหล่านั้นง่ายขึ้น 


การคิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น และปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข อยู่กับคนอื่นเป็น มีความสุขเป็น คือการฝึกทักษะสมองสำคัญที่เรียกว่า Executive Functions หรือ EF ซึ่งช่วยให้เด็กเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาทางด้านสมาธิ หากไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้องอาจทำให้มีปัญหาด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิต การเรียน และการเข้าสังคมในอนาคต การฝึกทักษะสมองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย

 

รู้จัก Executive Functions (EF)

ทักษะ EF หรือ Executive Functions ทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง เป็นกระบวนการทางความคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้าที่มีความเกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำ เป็นทักษะที่ทุกคนต้องใช้และมีอิทธิพลต่อความสำเร็จในชีวิต ซึ่งมนุษย์ไม่ได้เกิดมาพร้อมทักษะ EF แต่สามารถพัฒนาได้ด้วยการฝึกฝนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF คืออายุ 4 – 6 ขวบ เพราะสมองส่วนหน้าพัฒนาได้มากที่สุด


ฝึกทักษะ Executive Functions (EF)


ทักษะ EF หรือ Executive Functions มีทั้งหมด 9 ด้าน โดยแบ่งออกเป็นทักษะพื้นฐาน (Basic) 3 ด้าน และทักษะสูง (Advance) 6 ด้าน ได้แก่


ทักษะพื้นฐาน (Basic) ประกอบไปด้วย


1) Working Memory (ความจำเพื่อใช้งาน) คือ ความสามารถในการเก็บข้อมูลเพื่อประมวลผลและดึงข้อมูลที่เก็บในคลังสมองออกมาใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการ


2) Inhibitory Control (ยั้งคิด ไตร่ตรอง) คือ ความสามารถในการยั้งคิดไตร่ตรอง สามารถควบคุมความต้องการ หยุดคิดก่อนที่จะทำหรือพูดได้ 


3) Shifting หรือ Cognitive Flexibility (ยืดหยุ่นความคิด) คือ ความสามารถในการยืดหยุ่นทางความคิด ร่วมแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน รู้จักพลิกแพลงและปรับตัว เป็นจุดเริ่มต้นของการมีความคิดสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบ 


ทักษะสูง (Advance)  ประกอบไปด้วย


4) Focus หรือ Attention (จดจ่อ ใส่ใจ) คือ ความสามารถในการใส่ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ โดยไม่วอกแวก รู้จักการทำงานให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ ไป


5) Emotional Control (ควบคุมอารมณ์) คือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จัดการกับอารมณ์ตนเองไม่ให้รบกวนผู้อื่น ไม่โกรธเกรี้ยว ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่ายเกินไป รู้จักแสดงอารมณ์อย่างถูกวิธี


6) Self – Monitoring (ติดตาม ประเมินตนเอง) คือ การประเมินตนเองเพื่อหาจุดบกพร่องแล้วนำมาแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้น รู้จักไตร่ตรองว่าตัวเองทำอะไร รู้ว่าตัวเองทำอะไร และรู้ว่าใกล้จะเสร็จหรือเรียบร้อยแล้ว


7) Initiating (ริเริ่มและลงมือทำ) คือ ความสามารถในการริเริ่มและลงมือทำ กล้าคิดกล้าทำ ลงมือทำทันที ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง


Planning and Organizing (วางแผน จัดระบบ ดำเนินการ) คือ การวางแผนจัดการตนเองอย่างเป็นขั้นตอน ดำเนินการตั้งแต่วางเป้าหมาย มองเห็นภาพรวม รู้จักจัดลำดับความสำคัญ จัดระบบ ดำเนินการ และประเมินผล


9) Goal – Directed Persistence (มุ่งเป้าหมาย) คือ การวางเป้าหมายที่ชัดเจน มีความพากเพียรและความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมาย รู้จักฝ่าฟันอุปสรรค หากล้มต้องรู้จักลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย 


ทักษะ EF นี้ สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วในช่วงที่เด็กอายุ 3 – 6 ปี และต่อเนื่องไปได้จนถึงช่วงวัยรุ่นตอนต้นคือช่วงอายุราวๆ 10 ปี ซึ่งหากเลยผ่านช่วงวัยนี้ไปก็อาจจะทำให้การพัฒนาทักษะ EF ลดน้อยลง โดยหากเด็กคนใดไม่ค่อยมีทักษะ EF ก็จะส่งผลต่อการกระบวนการคิด การเรียนรู้ การเข้าสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น 


พ่อแม่หลายคนอาจจะกังวล ว่า ลูกของเราบกพร่องในการมีทักษะ EFหรือไม่ สามารถสังเกตได้จากการใช้ชีวิตประจำวันของลูก อาทิ ลูกใช้เวลาทำเรื่องง่ายๆนานกว่าปกติไหมหรือกว่าจะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างหนึ่งก็เกือบจะหมดเวลาแล้วหรือไม่ เช่น กว่าจะเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ แต่งตัว ใช้เวลานานมากจนผิดสังเกตหรือเวลาผ่านไปนานแล้วก็ยังไม่เริ่มจัดการเสียที หรือเวลาทำอะไรสักอย่างหนึ่งก็จะทำแล้วทำอีก แก้แล้วแก้อีก อยู่อย่างนั้นจนงานไม่เสร็จไม่สิ้น

 

อย่างไรก็ดี พ่อแม่ จะมีส่วนสำคัญในการช่วยฝึกทักษะ EF ให้กับลูกได้ ตัวอย่างเช่น 

  • การจัดเตรียมอาหารที่มีประโยชน์ บำรุงสมอง ร่างกาย ให้กับลูก
  • ส่งเสริมกิจกรรมการออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ให้อารมณ์สัมพันธ์กับความคิด
  • ฝึกให้ลูกได้ทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง เช่น แปรงฟัน การอาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร
  • ฝึกใช้ช่วยงานบ้าน เล็กๆ น้อยๆ ตามวัย เช่น กวาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ ล้างจาน จัดเก็บของ เป็นต้น
  • ฝึกนิสัยการวางแผน เช่น จัดเสื้อผ้าเมื่อต้องเดินทางไปเที่ยว จัดเตรียมสิ่งของเพื่อไปโรงเรียน
  • ให้ลูกได้มีกิจกรรมร่วมสังคมกับเพื่อน เช่น ออกกำลังกาย เล่นดนตรี เข้าค่าย 

 

ปรับตัวพร้อมเสริมทักษะศตวรรษที่ 21” 

จริงอยู่ที่ว่าการเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ทุกคนย่อมใส่ใจและทุ่มเทให้กับลูกมาทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว เพื่อให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ความคิด ความรู้สึก สติปัญญาและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่เพียงเฉพาะ EF เมื่อปัจจุบัน เด็กไทยของเราเติบโตในโลกยุคใหม่ ย่อมต้องมีคุณลักษณะแบบใหม่ไปด้วย นักคิดและนักการศึกษาทั่วโลกได้กำหนดไว้ว่า “คนรุ่นใหม่จะอยู่รอดปลอดภัย มั่นคง และทำให้โลกน่าอยู่ต่อไปได้ จะต้องมีทักษะที่เรียกกันว่า “ทักษะศตวรรษที่ 21” ร่วมด้วย ได้แก่

ทักษะการอ่านออกเขียนได้ คำนวณเป็น เป็นทักษะพื้นฐานขั้นต่ำที่มนุษย์ทุกคนในโลกต้องทำได้ เพราะจำเป็นต้องใช้

 

ทักษะคิดวิเคราะห์​ (Critical Thinking) 

คือ คิดเป็นเหตุเป็นผลแยกแยะข้อมูล ย้อนมองความเป็นไปเป็นมา และประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งคาดการณ์ไปในอนาคตข้างหน้าได้ 

 

ทักษะคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creative Thinking) 

เป็นทักษะการคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ คอดนอกกรอบ สร้างทางเลือกในการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ๆ หรือสร้างนวัตกรรมใหม่

 

ทักษะในการสื่อสาร (Communication) 

มีความสามารถในการสื่อสาร ความคิด ความรู้สึก สถานการณ์ หรือการงานของตนเองให้ผู้อื่นเข้าใจด้วยรูปแบบต่างๆได้ 

 

ทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่น (Collabolation)

สามารถเข้าใจ ร่วมมือกันทำงานเป็นทีมได้ ผลัดกันเป็นผู้นำ ผู้ตาม รับฟังและยอมรับความแตกต่างของกันและกันได้ 

 

ทักษะทางด้านเทคโนโลยียุคใหม่ 

เมื่ออยู่กับเทคโนโลยียุคใหม่ ต้องมี 3 ทักษะความรู้ในการใช้สื่อ ประกอบด้วย 

  • ทักษะและความรู้ในการใช้สื่อ (Media Literacy) รู้เท่าทันสื่อที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
  • ทักษะและความรู้ในการใช้เทคโนโลยี (ICT Literacy) ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างคล่องแคล่ว
  • ทักษะและความรู้ในด้านสารสนเทศ (Information Literacy) วิเคราะห์แยกแยะ นำข้อมูลข่าวสารมาใช้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์


ทักษะชีวิต

เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ได้แก่ 

  • การยืดหยุ่นปรับตัวได้กับทุกสถานการณ์​
  • กล้าคิด กล้าทำ มีภาวะผู้นำ กำหนดชีวิตตัวเองได้ 
  • ยอมรับผู้อื่นอยู่กับความแตกต่าง หลากหลายทางวัฒนธรรมได้ 
  • ทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ 

 


ดังนั้น ทักษะการฝึก EF ใก้กับลูก การเข้าใจโลกในอนาคตของพ่อแม่ จึงเป็นเรื่องที่ทั้งครอบครัวต้องร่วมกันเตรียมความพร้อม สร้างการเติบโตไปร่วมกัน ความเข้มแข็งที่เริ่มต้นจากครอบครัว เปรียบเสมือนเป็น “วัคซีนชีวิต” ที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้เด็กได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้นในทุกวัน.


ที่มา : 
สสส. : เติมวัคซีนชีวิตให้ลูกน้อย ด้วย EF 
สสส., สถาบันRLG, : คู่มือพัฒนาทักษะสมอง EF สำหรับครูปฐมวัย 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

กดเลย >> community แห่งความบันเทิง

ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง