มีคำตอบ กฏหมายความเร็ว 120 เริ่มใช้เมื่อไร? เริ่มใช้ที่ไหนก่อน?
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (1) แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 โดยมีรายละเอียดดังนี้
ข้อ ๓ อัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทตามข้อ ๒ มีดังต่อไปนี้
(๑) รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถเกินสองพันสองร้อยกิโลกรัม หรือรถบรรทุกคนโดยสารที่มีที่นั่ง คนโดยสารเกินสิบห้าคน ให้ใช้ความเร็วไม่เกินเก้าสิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง
(๒) รถขณะที่ลากจูงรถอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน หกสิบห้ากิโลเมตรต่อชั่วโมง
(๓) รถจักรยานยนต์ ให้ใช้ความเร็วไม่เกินแปดสิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง เว้นแต่รถจักรยานยนต์ ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่สามสิบห้ากิโลวัตต์ขึ้นไปหรือมีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่สี่ร้อยลูกบาศก์เชนติเมตรขึ้นไป ให้ใช้ความเร็วไม่เกินหนึ่งร้อยสิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง
(๔) รถโรงเรียน หรือรถรับส่งนักเรียน ให้ใช้ความเร็วไม่เกินแปดสิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง
(๕) รถบรรทุกคนโดยสารที่มีที่นั่งคนโดยสาร เกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน ให้ใช้ความเร็ว ไม่เกินหนึ่งร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง
(๖) รถแทรกเตอร์ รถบดถนน หรือรถใช้งานเกษตรกรรม ให้ใช้ความเร็วไม่เกินสี่สิบห้ากิโลเมตร
ต่อชั่วโมง
(๗) รถอื่นนอกจำกัด (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) และ (๖) ให้ใช้ความเร็วไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบกิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ หากรถดังกล่าวอยู่ในช่องเดินรถช่องขวาสุด ต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่ำหนึ่งร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง เว้นแต่ในกรณีที่ช่องเดินรถนั้นมีข้อจำกัดด้านการจราจรหรือทัศนวิสัย มีสิ่งกีดขวาง หรือมีเหตุขัดข้องอื่น
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ส่วนรถอื่นๆ หากรถอยู่ในช่องเดินรถขวาสุด ต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. เว้นแต่ในกรณีที่ช่องเดินรถนั้น มีข้อจำกัดด้านการจราจรหรือทัศนวิสัย มีสิ่งกีดขวาง หรือมีเหตุขัดข้องอื่น ทั้งนี้ หากในทางเดินรถมีเครื่องหมายจราจร แสดงว่าเป็นเขตอันตราย หรือเขตให้ขับรถช้าๆ ให้ลดความเร็วลง และเพิ่มความระมัดระวังขึ้นตามสมควร และในกรณีที่ทางเดินรถ หรือช่องเดินรถใด มีเครื่องหมายจราจรกำหนดอัตราความเร็วต่ำกว่าอัตราที่กำหนด ให้ใช้ความเร็วไม่เกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า แม้กฎกระทรวงประกาศออกมาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะมีผลเลยทันที จะต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการก่อน ซึ่งตามหลักการต้องสะดวก รวดเร็ว และต้องปลอดภัย ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้บูรณาการร่วมกับกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โดยกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ เมื่อผู้อำนวยการทางหลวงประกาศว่า ถนนเส้นใดสามารถใช้ความเร็วได้ ซึ่งจะมีการประกาศแจ้งบนถนน ว่าจะเริ่มดำเนินการให้ใช้ความเร็วได้ตามกฎกระทรวง เบื้องต้น จะคิกออฟในเส้นทางแรกคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ช่วงบริเวณหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง กม. ที่ 4+100-50+000 ระยะทางประมาณ 50 กม. คาดว่าจะเริ่มได้ภายในเดือนมีนาคมนี้
“ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสำรวจเส้นทาง ถนนทั่วประเทศ เพื่อดูว่าแต่ละเส้นมีเส้นใดทางใดประกาศให้ใช้ได้ และส่งข้อมูลมาให้กระทรวงฯ ภายในวันที่ 12 มีนาคม ก่อนมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ในวันที่ 15 มีนาคมนี้ เพื่อกำหนดพื้นที่ว่าจะมีถนนช่วงใดบ้างที่ให้ใช้ความเร็วได้ พร้อมทั้งได้สั่งการให้ทำป้ายกำหนดอัตราความเร็วแต่ละช่องจราจรเพื่อให้ประชาชนรับทราบ
ส่วนงบประมาณที่จะใช้ให้หน่วยงานประสานมายังกรมการขนส่งทางบก โดยจะขอใช้เงินจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ซึ่งยืนยันว่ามีเพียงพอ และให้ดำเนินการครบทั่วทั้งประเทศภายในปี 2564 นี้” นายศักดิ์สยามกล่าว
ข้อมูลข่าว >>> มติชน
ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay
++++++++++
ห้ามพลาด! ทุกวัน ... เวลา 10.30 น. – 11.30 น. ชมสด “ข่าวปะทะ Social”
รายการเล่าข่าวน้องใหม่จาก TrueID ที่เจาะประเด็นร้อนประจำวัน