รีเซต

ยาน ​​Starliner กลับถึงโลกโดยไม่มีนักบินอวกาศ 2 คน ภายในยาน

ยาน ​​Starliner กลับถึงโลกโดยไม่มีนักบินอวกาศ 2 คน ภายในยาน
TNN ช่อง16
7 กันยายน 2567 ( 14:40 )
22

ยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) ของบริษัท โบอิ้ง (Boeing) เดินทางกลับถึงพื้นโลกอย่างปลอดภัย บริเวณทะเลทราย รัฐนิวเม็กซิโก เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันที่ 7 กันยายน ตามเวลาในประเทศไทย หรือตรงกับเวลา 23:01 น. ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยไม่มีนักบินอวกาศทั้ง 2 คน คือ บุตช์ วิลมอร์ (Butch Wilmore) และ ซูนี วิลเลียมส์ (Suni Williams) ภายในยานอวกาศ ถือเป็นการปิดฉากภารกิจทดสอบ Boeing Crew Flight Test ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้


ภารกิจทดสอบ Boeing Crew Flight Test


การเดินทางกลับโลกในครั้งของยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจทดสอบ Boeing Crew Flight Test ในโครงการลูกเรือเชิงพาณิชย์ (Commercial Crew Program) โครงการความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างนาซาและบริษัทอีก 2 แห่ง คือ บริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และบริษัท โบอิ้ง (Boeing) ในปี 2014 เพื่อพัฒนายานอวกาศสำหรับใช้ขนส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS และเดินทางกลับโลกอย่างปลอดภัย


ปัจจุบันบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ได้ทำภารกิจขนส่งนักบินอวกาศโดยใช้ยานอวกาศครูว์ดรากอน (Crew Dragon) สำเร็จไปแล้ว 9 ภารกิจ (รวมภารกิจทดสอบ) ส่วนยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) บริษัท โบอิ้ง (Boeing) ประสบปัญหาในการทำภารกิจทดสอบ Boeing Crew Flight Test ซึ่งเป็นภารกิจแรกที่บริษัททดสอบนำนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS


ปัญหาต่าง ๆ ของยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) 


ก่อนหน้านี้ในปี 2023 ยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) ประสบปัญหาการเลื่อนภารกิจ เนื่องจากความไม่พร้อมของตัวยานอวกาศ ระบบร่วมชูชีพไม่ทำงาน ระบบสายไฟฟ้าภายในยานที่มากจนเกินไปจนอาจมีความเสี่ยงในการทำภารกิจ รวมไปถึงปัญหาบริเวณฐานปล่อยจรวดขนส่งอวกาศ อย่างไรก็ตาม 


ในปี 2024 ยานสตาร์ไลเนอร์ก็ได้รับการอนุญาติให้บินขึ้นสู่อวกาศพร้อมนักบินอวกาศในวันที่ 25 พฤษภาคม แต่ก่อนปล่อยยานอวกาศทีมงานตรวจพบการรั่วไหลของฮีเลียมในบริเวรโมดูลบริการของยานจนภารกิจการปล่อยตัวยานถูกยกเลิกชั่วคราว หลังจากนั้นยานสตาร์ไลเนอร์ได้รับการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าวจนเสร็จสิ้น และพร้อมส่งยานขึ้นสู่อวกาศโดยมีนักบินอวกาศภายในยานได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2024 โดยใช้จรวดขนส่งอวกาศแอตลาส ไฟว์ (Atlas V) ของบริษัท ยูไนเต็ด ลอนช์ อัลไลแอนซ์ (United Launch Alliance)


การตัดสินใจที่ยากลำบากของนาซา


วันที่ 6 มิถุนายน 2024 ในระหว่างการนำยานอวกาศพยายามเข้าเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ทีมงานนาซาและบริษัทโบอิ้งตรวจพบระบบขับเคลื่อนของระบบควบคุมปฏิกิริยา (RCS) จำนวน 5 ตัวจากทั้งหมด 28 ตัวหยุดทำงาน และการรั่วไหลของฮีเลียม ภายหลังการตรวจสอบและประเมินแนวทางเลือกต่าง ๆ นาซาได้เลือกวิธีการนำยานอวกาศสตาร์ไลเนอร์กลับโลก โดยไม่มีนักบินอวกาศภายในยาน และให้นักบินอวกาศทั้ง 2 คน เดินทางกลับโลกในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 หรือเป็นเวลากว่า 8 เดือน จากกำหนดการเดิม 8 วัน โดยยานอวกาศครูว์ดรากอน (Crew Dragon) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) 


สำหรับยานอวกาศครูว์ดรากอน (Crew Dragon) จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานชาติ ISS ในเดือนกันยายนนี้ โดยมีการเว้นที่ว่างของนักบินอวกาศไว้ 2 ที่นั่ง เพื่อให้นักบินอวกาศบุตช์ วิลมอร์ (Butch Wilmore) และ ซูนี วิลเลียมส์ (Suni Williams) เดินทางกลับโลก โดยนักบินอวกาศทั้ง 2 คน จะต้องสวมใส่ชุดอวกาศของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เนื่องจากทีมงานวิศวกรผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าชุดอวกาศของยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) ไม่สามารถใช้งานบนยานอวกาศครูว์ดรากอน (Crew Dragon)  


“การตัดสินใจที่จะให้นักบินอวกาศบุตช์ วิลมอร์ (Butch Wilmore) และ ซูนี วิลเลียมส์ (Suni Williams) อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS และนำยานสตาร์ไลเนอร์ (Starliner) ของบริษัท Boeing กลับโลกโดยไม่มีนักบินอวกาศ เป็นผลมาจากความมุ่งมั่นของเราที่มีต่อความปลอดภัยของนักบินอวกาศ ซึ่งเป็นคุณค่าหลักของนาซา” บิล เนลสัน (Bill Nelson) ผู้บริหารนาซา (NASA) กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา


ที่มาของข้อมูล Space.com

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง