รีเซต

โควิด-19: ปัจจัยอะไรทำให้ทารกบราซิลจำนวนมากตายด้วยโรคนี้

โควิด-19: ปัจจัยอะไรทำให้ทารกบราซิลจำนวนมากตายด้วยโรคนี้
ข่าวสด
16 เมษายน 2564 ( 10:57 )
43
โควิด-19: ปัจจัยอะไรทำให้ทารกบราซิลจำนวนมากตายด้วยโรคนี้

กว่าหนึ่งปีหลังเผชิญกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยอดผู้เสียชีวิตในบราซิลกำลังพุ่งแตะจุดสูงสุด และแม้จะมีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่า โรคนี้มักไม่ค่อยคร่าชีวิตเด็กเล็ก ทว่าในบราซิลกลับมีทารกกว่า 1,300 คน ที่เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

 

หนึ่งในนั้นคือลูกชายวัย 1 ขวบของเจสซิกา ริคาร์เต ซึ่งหมอปฏิเสธที่จะตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ให้ โดยอ้างว่าอาการของเขาไม่เข้าเกณฑ์ของผู้ป่วยจากไวรัสชนิดนี้ ส่งผลให้ 2 เดือนต่อมา หนูน้อยต้องเสียชีวิตลงจากอาการแทรกซ้อนของโรคโควิด-19

 

สองปีของความพยายามทุกทางเพื่อให้มีลูก ซึ่งรวมถึงการเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก เจสซิกา ซึ่งมีอาชีพครู ก็ล้มเลิกความหวัง แต่จู่ ๆ เธอก็ตั้งท้องลูคัส

 

"ชื่อของเขามาจากแสงสว่างโชติช่วง เขาคือแสงสว่างในชีวิตของพวกเรา เขาทำให้เรามีความสุขมากกว่าที่เราเคยจินตนาการไว้" เจสซิกา เล่าให้ทีมข่าวบีบีซีฟัง

 

Jessika Ricarte
ภาพลูคัสฉลองวันเกิดขวบปีแรกกับพ่อแม่

 

เธอเริ่มสังเกตถึงความผิดปกติของลูคัสซึ่งเริ่มมีอาการไม่อยากอาหาร ทั้งที่ปกติเป็นเด็กกินเก่ง

 

ตอนแรกเจสซิกาคิดว่าลูกอาจกำลังฟันขึ้น แต่แม่ทูนหัวของลูคัส ซึ่งเป็นนางพยาบาลบอกว่าเขาอาจเจ็บคอ โดยหลังจากหนูน้อยเริ่มมีไข้สูง แล้วแสดงอาการอ่อนเพลีย ร่วมกับหายใจลำบากเล็กน้อย เจสซิกาจึงพาลูกไปรับการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ที่โรงพยาบาล

 

"หมอใช้เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และระดับของลูคัสอยู่ที่ 86% ซึ่งตอนนี้ฉันรู้แล้วว่ามันผิดปกติ" เจสซิกาบอก

 

แต่ลูกไม่มีไข้สูงมาก หมอจึงบอกว่า "คุณไม่ต้องกังวล ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจโควิด มันอาจเป็นแค่อาการเจ็บคอเล็กน้อยเท่านั้น"

 

หมอบอกเจสซิกาว่าพบโควิด-19 ในเด็กยากมาก พร้อมกับสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะแล้วให้เธอกับลูกกลับบ้าน แม้ยังไม่ค่อยเชื่อคำของหมอ แต่ตอนนั้นเจสซิกาก็ไม่มีทางเลือกอื่นที่จะให้ลูคัสไปรับการตรวจจากสถานบริการเอกชน

 

เจสซิกาเล่าว่าอาการป่วยบางอย่างของลูคัสเริ่มทุเลาลงหลังจากได้รับยาปฏิชีวนะครบ 10 วัน แต่อาการอ่อนเพลียของลูกยังคงอยู่ เช่นเดียวกับความกังวลของเธอว่าลูกอาจป่วยเป็นโควิด

 

"ฉันส่งคลิปไปให้พ่อแม่ฉันและพ่อแม่สามีดู แต่ทุกคนบอกว่าฉันพูดเกินจริง และควรเลิกดูข่าวเพราะมันทำให้ฉันกลัวเกินกว่าเหตุ แต่ฉันรู้ดีว่าลูกชายของฉันไม่เป็นตัวของตัวเอง และเขาหายใจผิดปกติ"

 

Jessika Ricarte
เจสซิกาส่งคลิปตอนที่ลูคัสป่วยไปให้ครอบครัวดูด้วยความกังวล


เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงเดือน พ.ค. 2020 ตอนที่ไวรัสโคโรนากำลังระบาด และมีคนเสียชีวิตจากโควิด-19 ไปแล้ว 2 คนในเมืองตัมโบริล ที่เจสซิกาอาศัยอยู่ในรัฐเซอารา ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล

 

อิสราเอล สามีของเจสซิกาเป็นห่วงว่าการไปโรงพยาบาลอีกครั้งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่เธอและลูคัสจะติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

 

แต่หลังจากผ่านไปหลายสัปดาห์ ลูคัสก็ยิ่งมีอาการง่วงซึมมากขึ้น จนวันที่ 3 มิ.ย. ลูคัสอาเจียนอย่างต่อเนื่องหลังจากทานอาหารเที่ยง และเจสซิการู้ดีว่าเธอต้องทำอะไรสักอย่าง

 

พวกเขากลับไปที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งหมอได้จับลูคัสตรวจโควิด

 

แม่ทูนหัวของลูคัสซึ่งทำงานอยู่ที่นั่นเป็นผู้แจ้งผลการตรวจลูกชายของเธอว่าเป็นบวก

 

ลูกคัสถูกย้ายไปรักษาที่หอผู้ป่วยเด็กอาการวิกฤตที่อีกโรงพยาบาล ซึ่งห่างออกไปราว 2 ชั่วโมง และเขาได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นกลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ (multi-system inflammatory syndrome หรือ MIS)

 

มันคืออาการที่เกิดจากการตอบสนองต่อเชื้อไวรัสอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะที่สำคัญต่าง ๆ

 

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า นี่เป็นอาการที่พบได้ยาก โดยส่งผลต่อเด็กหลังจากได้รับเชื้อไปแล้วถึง 6 สัปดาห์ แต่ พญ.ฟาติมา มารินยู นักระบาดวิทยาชั้นแนวหน้าของบราซิลจากมหาวิทยาลัยเซาเปาโล บอกว่าช่วงที่โควิด-19 ระบาดใหญ่ เธอได้เห็นผู้ป่วยเด็กที่มีอาการ MIS มากเป็นประวัติการณ์ แม้มันจะไม่ใช่ต้นเหตุหลักของเด็กที่เสียชีวิตทุกรายก็ตาม

 

อาการของลูคัสรุนแรงจนแพทย์ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ตอนนั้นเจสซิกาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปอยู่กับลูก

 

Jessika Ricarte
แม่ของหนูน้อยลูคัสเชื่อว่า การวินิจฉัยโรคและการรักษาที่ล่าช้าทำให้หนูน้อยคนนี้ต้องเสียชีวิตจากโควิด-19


เวลาต่อมา หมอบอกเธอว่าลูคัสมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน แต่พวกเขาสามารถกู้ชีพขึ้นมาได้

 

พญ.มานูเอลลา มอนเต กุมารแพทย์ที่รักษาลูคัสในห้องไอซียูนานกว่า 1 เดือน เล่าให้บีบีซีฟังว่า เธอประหลาดใจที่อาการของลูคัสหนักมากทั้งที่เขาไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ เช่นโรคประจำตัว อย่างเบาหวาน และโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด

 

Jessika Ricarte

ในช่วงที่อยู่ในห้องไอซียู 33 วัน เจสซิกาได้รับอนุญาตให้เข้าไปดูลูกเพียง 3 ครั้ง ในระหว่างนี้แพทย์รักษาลูคัสด้วยการให้ยาอิมมูโนโกลบูลิน (immunoglobulin) 2 โดส อาการของหนูน้อยเริ่มดีขึ้น และแพทย์ตัดสินใจเอาท่อออกซิเจนออก และเมื่อเขาฟื้นขึ้น หมอได้โทรวิดีโอคอลหาเจสซิกาและอิสราเอลเพื่อไม่ให้ลูคัสรู้สึกเหงา

 

"ตอนลูกได้ยินเสียงพวกเรา เขาก็เริ่มร้อง" เจสซิกาเล่า

 

นั่นคือครั้งสุดท้ายที่เจสซิกากับสามีได้เห็นลูกมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ในการโทรครั้งต่อมาหนูน้อย "ดูเหมือนเป็นอัมพาต" โรงพยาบาลนำลูคัสเข้าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ ซีที สแกน และพบว่าเขามีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง

 

แต่ถึงอย่างนั้น แพทย์ยังบอกเจสซิกากับสามีว่าลูคัสจะหายดีด้วยการดูแลที่ถูกต้อง และจะถูกย้ายออกจากห้องไอซียูไปอยู่ห้องผู้ป่วยทั่วไปในอีกไม่นาน

 

ตอนที่เจสซิกาไปเยี่ยมลูก หมอก็มีความหวังพอ ๆ กับเธอและสามี

 

"คืนนั้น ฉันปิดเสียงเรียกเข้าโทรศัพท์ ฉันฝันว่าลูคัสมาหาแล้วจูบที่จมูกของฉัน ความฝันนั้นเต็มไปด้วยความรู้สึกถึงความรัก ความซาบซึ้งใจ และฉันตื่นขึ้นมาด้วยความสุข แต่หลังจากนั้นฉันเห็นว่าโทรศัพท์มีสายจากหมอโทรมาเป็นสิบสาย"

 

หมอแจ้งเจสซิกาว่าอัตราการเต้นของหัวใจและระดับออกซิเจนของลูคัสตกลงกะทันหัน และเขาก็เสียชีวิตในช่วงเช้าตรู่วันนั้นเอง

 

BBC

 

เจสซิกามั่นใจว่าถ้าลูคัสได้รับการตรวจโควิดตอนที่เธอพาเขาไปหาหมอครั้งแรกในเดือน พ.ค. เขาก็คงจะยังมีชีวิตรอด

 

เธอบอกว่า "สำคัญมากที่หมอทำการตรวจให้แน่ชัด แม้พวกเขาจะเชื่อว่ามันไม่ใช่โควิดก็ตาม"

 

"เด็กเล็กไม่สามารถบอกได้ว่าเขารู้สึกอย่างไร ดังนั้นเราจึงต้องพึ่งพาการตรวจวินิจฉัยโรค"

 

เจสซิกาเชื่อว่าการรักษาที่ล่าช้าทำให้อาการของลูกรุนแรงขึ้น "ลูคัสมีอาการอักเสบหลายจุด ปอดของเขาได้รับความเสียหายไป 70%...มันเป็นสถานการณ์ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้"

 

พญ. มอนเต แพทย์เจ้าของไข้เห็นด้วยกับเจสซิกา เธอบอกว่าแม้อาการ MIS จะไม่สามารถป้องกันได้ แต่การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น หากมีการวินิจฉัยโรคและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ

 

เจสซิกาอยากแบ่งปันเรื่องราวของลูคัส เพื่อเตือนใจพ่อแม่คนอื่นที่อาจมองข้ามอาการป่วยที่สำคัญของลูกน้อย เธอเล่าว่าแม่หลายคนเห็นโพสต์เกี่ยวกับลูคัสแล้วพาลูกไปโรงพยาบาลได้ทันท่วงทีจนเด็กปลอดภัย

 

เกิดอะไรขึ้นในบราซิล

ประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร ของบราซิล ยังคงยืนกรานคัดค้านการใช้มาตรการล็อกดาวน์ แม้อัตราการติดเชื้อในประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเชื้อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ที่เรียกว่า P.1 ซึ่งพบครั้งแรกในเมืองมาเนาส์ ทางภาคเหนือของบราซิลเมื่อปีที่แล้ว

 

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ทำให้คนติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และอัตราผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่องก็เป็นอันตรายคุกคามเด็กบราซิล

 

นอกจากนี้การที่มียอดผู้ป่วยโควิดเด็กเพิ่มขึ้นก็มาจากปัญหาการไม่ตรวจคัดกรองโรคอย่างเพียงพอ

 

BBC

 

พญ.ฟาติมา มารินยู นักระบาดวิทยา บอกว่า เด็กมักได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโควิด-19 ล่าช้าเกินไป และเมื่อมีอาการหนักแล้ว "...เราไม่มีชุดตรวจเชื้อเพียงพอสำหรับคนทั่วไป และยิ่งน้อยลงอีกสำหรับเด็ก เพราะมีการวินิจฉัยล่าช้าจึงทำให้การรักษาผู้ป่วยเด็กล่าช้าไปด้วย"

 

นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาขาดแคลนเครื่องมือในการตรวจ แต่การตรวจคัดกรองโรคในเด็กยังมักเกิดความผิดพลาดได้ง่าย เพราะเด็กมักแสดงอาการของโควิด-19 ต่างจากผู้ใหญ่

 

เธอบอกว่า "เด็กมักมีอาการท้องร่วง ปวดท้อง และเจ็บหน้าอกมากกว่าอาการของผู้ป่วยโควิดตามปกติ เพราะมีการวินิจฉัยโรคที่ล่าช้า ทำให้เมื่อเด็กมาถึงโรงพยาบาลพวกเขามักมีอาการหนักและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในที่สุด"

 

นอกจากนี้ ปัญหาความยากจนและการเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพก็ทำให้มีเด็กเสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้น

 

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขบราซิล ระบุว่า ระหว่าง ก.พ. 2020 ถึง 15 มี.ค. 2021 โควิด-19 ได้คร่าชีวิตเด็กบราซิลอายุต่ำกว่า 9 ขวบไปแล้วอย่างน้อย 852 คน ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงทารกอายุไม่ถึง 1 ขวบ 518 คน

 

แต่ พญ. มารินยู ประเมินว่าตัวเลขแท้จริงของเด็กที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ในบราซิลน่าจะสูงกว่านี้กว่าสองเท่า โดยเธอได้คำนวณยอดผู้เสียชีวิตเกินคาดการณ์จากภาวะทางเดินหายใจเฉียบพลันที่ไม่มีการระบุโรคชัดเจนในช่วงโควิด-19 ระบาด และพบว่าตัวเลขนี้สูงกว่าเมื่อปีก่อน ๆ ถึง 10 เท่า ทำให้เธอประเมินว่า ตัวเลขจริงของเด็กอายุต่ำกว่า 9 ขวบ ที่เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่น่าจะอยู่ที่ 2,060 คน ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงทารก 1,302 คน

 

เมื่อไหร่ต้องพาลูกไปพบแพทย์

 

แม้เด็กจะติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ แต่แนวโน้มที่จะล้มป่วยด้วยอาการรุนแรงมีค่อนข้างน้อย หากบุตรหลานของคุณไม่สบายก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นการเจ็บป่วยอย่างอื่นที่ไม่ใช่อาการป่วยจากโควิด-19

 

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งอังกฤษ แนะนำให้ผู้ปกครองรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์หากมีอาการดังต่อไปนี้

  • ตัวซีด ตัวและผิวลาย (mottled skin) และตัวเย็นผิดปกติ
  • มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ หายใจไม่สม่ำเสมอ หรือส่งเสียงร้องครางขณะหายใจออก
  • หายใจลำบากมาก มีอาการกระสับกระส่าย หรือไม่ตอบสนอง
  • รอบริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน
  • มีอาการชัก
  • ร้องไห้ไม่หยุดแม้จะพยายามปลอบโยนหรือดึงความสนใจแล้วก็ตาม มีอาการสับสน ตื่นยาก หรือไม่ตอบสนอง
  • มีผื่นแดงขึ้น และไม่จางหายไปด้วยแรงกด
  • มีอาการปวดลูกอัณฑะ โดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่นชาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง