รีเซต

ทรัมป์เตรียมสานต่อโครงการอาร์เทมิสส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์

ทรัมป์เตรียมสานต่อโครงการอาร์เทมิสส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์
TNN ช่อง16
6 พฤศจิกายน 2567 ( 17:21 )
10

โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะคว้าชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 แม้ยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ นโยบายด้านอวกาศเป็นประเด็นสำคัญในแคมเปญหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสานต่อความสำเร็จด้านเทคโนโลยีอวกาศตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี นับจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในสมัยแรก

ความสำเร็จด้านอวกาศของทรัมป์ในทำเนียบขาวระหว่างปี 2017-2021

โดนัลด์ ทรัมป์ เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในระหว่างปี 2017-2021 โดยเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 และมีผลงานเด่นในการจัดตั้งโครงการอาร์เทมิส (Artemis) และการรวบรวมแผนการของอเมริกาในการส่งมนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นพื้นฐานของการไปสำรวจดาวอังคารในอนาคต โครงการอาร์เทมิสได้รับการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงปี 2017 ผ่านนโยบาย Space Policy Directive โดยให้องค์การนาซาจะเป็นผู้นำโครงการสำรวจ และส่งเสริมความร่วมกับชาติพันธมิตรในเชิงพาณิชย์ 

ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยแรกของโดนัลด์ ทรัมป์ ข้อตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords) ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงและโดดเด่น เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสหรัฐอเมริกา และวงการอวกาศนานาชาติ โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกากำหนดให้นาซา กระทรวงการต่างประเทศ และประเทศผู้ลงนามเริ่มแรกอีก 7 ประเทศ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น ลักเซมเบิร์ก อิตาลี และสหราชอาณาจักร ร่วมกันจัดทำข้อตกลงอาร์เทมิสขึ้นในปี 2020 

ข้อตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords) มีประเทศและบริษัทเอกชนหลายแห่งที่ดำเนินภารกิจและปฏิบัติการรอบดวงจันทร์ ข้อตกลงอาร์เทมิสสร้างหลักการร่วมกันเพื่อยกระดับการกำกับดูแลการสำรวจอวกาศ และการใช้ทรัพยากรอวกาศของพลเรือน โดยข้อตกลงอาร์เทมิสจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับประเทศที่ลงนามต่อสนธิสัญญาอวกาศ อนุสัญญาการลงทะเบียนและข้อตกลงการช่วยเหลือ รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและบรรทัดฐานของพฤติกรรมที่รับผิดชอบสำหรับการสำรวจอวกาศ

ภารกิจอาร์เทมิสการส่งมนุษย์อวกาศกลับไปดวงจันทร์

ภารกิจอาร์เทมิส (Artemis) เป็นโครงการขององค์การนาซา (NASA) ที่ต้องการส่งมนุษย์อวกาศกลับไปยังดวงจันทร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่โครงการอะพอลโล (Apollo) ในทศวรรษที่ 1970 โครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างสถานีอวกาศถาวรบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์เพื่อการสำรวจระยะยาว เช่น การเตรียมความพร้อมส่งมนุษย์ไปดาวอังคารในอนาคต

สถานะปัจจุบันของภารกิจอาร์เทมิสกำลังอยู่ในช่วงสานต่อความสำเร็จของภารกิจอาร์เทมิส 1 ซึ่งเป็นการทดสอบส่งยานอวกาศแบบไร้มนุษย์ไปโคจรรอบดวงจันทร์โดยใช้จรวดขนส่งอวกาศ SLS และยานอวกาศ Orion ในการทำภารกิจ

นาซากำลังอยู่ในช่วงเตรียมการภารกิจอาร์เทมิส 2 เพื่อส่งยานอวกาศพร้อมนักบินอวกาศเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ แต่ในภารกิจนี้ยังไม่นำยานลงจอดบนดวงจันทร์ คาดว่าภารกิจจะเกิดขึ้นในปี 2025 โดยจะทดสอบระบบที่จำเป็นสำหรับการส่งมนุษย์อวกาศสู่ดวงจันทร์เพื่อให้พร้อมสำหรับการลงจอดครั้งแรกในภารกิจถัดไป

สำหรับภารกิจอาร์เทมิส 3 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบ และการเตรียมยาน Starship HLS ที่พัฒนาโดยบริษัท SpaceX ของอีลอน มัสก์ สำหรับลงจอดบนดวงจันทร์ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์นับจากโครงการอะพอลโล (Apollo) โดยนาซามีเป้าหมายที่จะส่งมนุษย์ลงจอดภายในปี 2026 อย่างไรก็ตามกำหนดการจะต้องขึ้นอยู่กับการพัฒนาจรวดและยานอวกาศที่ต้องเป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้

การพัฒนาสถานีอวกาศเกตเวย์ (Gateway) เป็นความร่วมมือระหว่างนาซา ประเทศสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร ในการพัฒนาสถานีอวกาศเกตเวย์สำหรับโคจรรอบดวงจันทร์ และทำหน้าที่เป็นสถานีจอดยานอวกาศชั่วคราวเพื่อการลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ รวมไปถึงภารกิจเดินทางไปสำรวจดาวอังคารในอนาคต

 

ที่มาของข้อมูล

https://en.wikipedia.org/wiki/Artemis_program

https://payloadspace.com/space-policy-in-a-second-trump-term/

https://www.nasa.gov/reference/gateway-about/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง